1 ม.ค. 49
ศุภกร ชินวรรโณ ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน "ภาวะโลกร้อน" นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจของโลกก็ว่าได้ เพราะปัญหาของอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น มิได้เป็นเรื่องไกลตัวและส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่กลับส่งผลบกระทบโดยตรง มายังมนุษย์หรือตัวเราเอง ซึ่ง อาจารย์ศุภกร ชินวรรโณ นักวิชาการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก จุฬาฯ จะกล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงกับเมืองไทยของเรา
ที่มาของภาวะโลกร้อน: ภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติ
ภาวะโลกร้อนเกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จัดได้ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด และเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้มีคุณสมบัติยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ในช่วงคลื่นสั้นหรือในรูปของแสงสว่างทะลุผ่านได้ แต่เมื่อรังสีคลื่นสั้นเหล่านี้กระทบกับผิวโลกและสูญเสียพลังงานไปบางส่วนและกลายเป็นรังสีคลื่นยาวหรือคลื่นความร้อนซึ่งจะไม่สามารถทะลวงผ่านชั้นก๊าซเรือนกระจกออกไปได้
ดังนั้นความร้อนจึงถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศและส่งผลให้ระบบลมและวัฏจักรของน้ำของโลกเปลี่ยนไป กล่าวคือ การที่พื้นทวีปกับพื้นผิวมหาสมุทรร้อนเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน เนื่องจากความจุความร้อนจำเพาะที่แตกต่างกันนั้น ทำให้ลมที่พัดจากมหาสมุทรเข้าสู่พื้นทวีปมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับสภาวะที่มหาสมุทรร้อนขึ้นจึงเกิดการระเหยของน้ำมากขึ้น
ฉะนั้นปรากฏการณ์ที่ตามมาก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดฝนตกมากขึ้นในบริเวณใกล้ฝั่งทะเล (เช่น ระยะ 200-300 กิโลเมตรจากทะเล) แต่ในบริเวณตอนกลางทวีปมักจะยิ่งมีความแห้งแล้งมากขึ้น สภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าอดีตมาก และการเปลี่ยนแปลงนั้นผิดแผกแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาค
อนาคตภูมิอากาศของประเทศไทย : แนวโน้มร้อนแต่ไม่แล้ง ไม่ร้อนขึ้นมากแต่จะมีฤดูร้อนที่ยาวนาน
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และยังมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในแต่ละปีที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นๆ ได้ไม่ชัดเจน การมองอนาคตให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่าจะเป็นไปในทิศทางใดจึงต้องอาศัยการจำลองสถานการณ์ในอนาคตในระยะยาว ตัวอย่างของการศึกษาหนึ่งที่ได้ทำขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ชี้ให้เห็นแนวโน้มของสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในระยะเวลาประมาณ 40 ปี และ 70 ปีข้างหน้าว่า จะเป็นไปในทิศทางที่มีฝนมากขึ้นในเกือบทุกภาคของประเทศไทย ส่วนอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดในประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก อาจเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส แต่จำนวนวันที่อากาศเย็นจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และในทางกลับกันจำนวนวันที่อากาศร้อนก็จะเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งหากจะกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้วจะไม่ร้อนขึ้นมากนัก แต่ฤดูหนาวในประเทศไทยจะหดสั้นลง ในขณะที่ฤดูร้อนจะยาวขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดในเกือบทุกภาค อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมานี้เป็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ในช่วงเวลาปีต่อปีจะยังคงมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอยู่ เช่น บางปีฝนชุก บางปีแล้งจัด หรือบางปีร้อนมาก เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เช่น ปีที่น้ำท่วมอาจเกิดบ่อยหรือรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น
ผลกระทบที่ตามมา : หลากประเด็นและแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีความแตกต่างกันไปไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลสืบเนื่องถึงการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละกลุ่มสังคมไม่เท่ากัน เช่น ชาวสวน ชาวนา พ่อค้า จะได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว ประเด็นที่สำคัญที่ควรจับตาและทำความเข้าใจให้มากขึ้นก็คือ
- ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศน์ต่างๆ รวมทั้งการผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาของอากาศร้อนและเย็นหรือฝนที่เปลี่ยนไปในอนาคตจะส่งผลให้พืชหลายอย่างให้ผลผลิตที่ต่างไปจากเดิมได้ รวมทั้งการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เป็นต้น
- ผลกระทบในเชิงสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ อาจมีการแพร่ระบาดมากขึ้น เนื่องจากวงจรชีวิตของแมลงที่เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศ
- ผลกระทบทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะความแปรปรวนของฤดูกาล และอุทกภัยตลอดจนดินถล่ม เนื่องจากปริมาณฝนในรอบปีที่อาจเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ฤดูฝนยังยาวเท่าเดิม
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของประเด็นที่สำคัญเพียงบางประเด็นเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญ คือ ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และผลกระทบหลายสิ่งก็ไม่ได้เกิดกับคนโดยตรง แต่จะมีผลเชื่อมโยงต่อการดำเนินชีวิตของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วน
การเตรียมการรับมือกับอนาคต : แผนการปรับตัวในทุกภาคส่วน
ปัญหาภาวะโลกร้อนนี้เป็นปัญหาของโลก การแก้ไขโดยดำเนินการลดภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะต้องพร้อมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงหรือหาทางดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น แต่ปัญหาในระดับโลกนี้ก่อให้เกิดผลในระดับภูมิภาค โดยที่แต่ละประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยเอกเทศ เช่น หากประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงโดยที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ลดลงด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดพ้นหรือได้ผลกระทบที่น้อยลงจากภาวะโลกร้อน เพราะระบบบรรยากาศของโลกนั้นเป็นระบบเดียวกัน
แล้วเราคนไทยจะทำอย่างไร?
ในระหว่างที่การเจรจาระหว่างประเทศในการพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังดำเนินไป เราอาจช่วยกันระมัดระวังการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน ซึ่งการทำเช่นนี้เกิดประโยชน์หลายด้าน แต่ประเด็นที่สำคัญกว่า คือ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไหนจะเป็นอย่างไรและจะก่อให้เกิดผลเช่นไรตามมา เพื่อการเตรียมแผนรับมือ โดยเป็นการหาทางปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในอนาคตให้เหมาะสม ทั้งนี้ความรู้ที่ประเทศไทยเรามีอยู่ในปัจจุบันจัดว่าน้อยมาก
ในการวางแผนการปรับตัวต่อสถานการณ์ในอนาคตนี้ ภาครัฐควรจะต้องมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตและผลกระทบต่างๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการวางแผนพัฒนาประเทศหรือแผนพัฒนาชุมชนในระยะยาวควบคู่ไปกับแผนการจัดการสภาพแวดล้อม เช่น การวางแผนการเกษตรกรรม การหาพันธุ์พืชทดแทน การขยายขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิอากาศ การปรับแผนการตั้งถิ่นฐานและการวางแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยมีเป้าหมายระยะสั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในทุกภาคส่วนในการรับมือกับความแปรปรวนของภูมิอากาศ และในระยะยาวเพื่อปรับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพื่อให้ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงให้เหลือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ภาคประชาชนต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมในการวางแผนต่างๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งประชาชนมีวิถีชีวิตและโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันไป แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่สามารถจัดทำขึ้นในลักษณะของนโยบายมาตรฐานที่นำไปใช้ดำเนินการในทุกพื้นที่ได้ แต่ควรจะจัดทำตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชนโดยที่อาจจะต้องอิงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
สนับสนุนเนื้อหาโดย...
หนังสือพิมพ์ ข่าวสด