หอม เป็นพืชสมุนไพรเครื่องเทศที่คู่กับครัวไทยมาช้านาน จัดเป็นกลุ่มเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและป้องกันโรคต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะโรคหัวใจ หอม ไม่ว่าจะเป็นหอมแดง หอมหัวใหญ่ หรือต้นหอม ต่างมีกลิ่นฉุนของกำมะถัน ที่เป็นส่วนให้คนที่ไม่ชอบกลิ่นผักรู้สึกเหม็นเขียว จนไม่อยากรับประทานหอม บ้างก็อาจเอาหอมหัวใหญ่ชุบแป้งทอด หอมแดงเจียวให้กรอบใช้ช่วยในการปรุงแต่งอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะรับประทานหอมให้ได้ประโยชน์จริงๆ ต้องใช้หอมสดดีกว่า
ต้นหอม หรือ หอม แบ่งหรือ green shallot มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alliumcepa var. aggregatum สรรพคุณ ใบเขียวๆ ของต้นหอมมีรสเผ็ดหวานเค็มและกลิ่นฉุน ใช้แก้ไข้หวัด คัดจมูก แก้โรคตา แก้ไข้กำเดา สำหรับหัวหอม หรือหอมแดง หรือ shallot มีชื่อวิทยาศาสตร์ Allium ascalonicum Linn. สรรพคุณ มีรสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะอันครืดคราดในทรวงอก บำรุงผมให้งอกงาม หรือช่วยให้หัวล้านมีผมได้ ทาเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ไข้ที่ทำให้ร้อนใน ปวดกระบอกตา แสบร้อนตา น้ำตาไหล แก้โรคในปากคอ บำรุงธาตุ ตำผสมพิมเสนและเปราะหอมพอกกระหม่อมแก้หวัดคัดจมูก ลดไขมันในเลือด
หอมหัวใหญ่ หรือ Onion มีชื่อวิทยาศาสตร์ Alium cepa Linn. สรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร แก้หวัด คัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ธาตุไม่ปกติ ช่วยขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ ขับพยาธิ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด แก้ภูมิแพ้ หอบหืด เบาหวาน ฆ่าเชื้อโรค ช่วยขจัดสารตะกั่วและโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหารแล้วสะสมอยู่ในร่างกาย
หอมทั้ง 2 ประเภทต่างมีบทบาทในอาหารไทยมาช้านาน หัวหอมแดง มีกลิ่นฉุนและรสซ่ากว่าหอมหัวใหญ่ นิยมใช้ในเครื่องแกง น้ำพริก ยำ ส่วนใบหอมใช้ในอาหารพวกยำ ลาบ ก้อย และใช้แต่งกลิ่น ที่สำคัญคือได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสารฟลาโนอยด์ ราคาเยา แต่คุณสมบัติเทียบเท่าฟลาโวนอยด์ในเมล็ดองุ่นแดง ที่นิยมนำไปทำไวน์ ที่มีประโยชน์ป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งจะทำหน้าที่ขัดขวางไม่ให้ไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ ลดไขมันในเลือด
น้ำมันหอมระเหยของหอม ยังสามารถใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางประเภทได้อีกด้วย ตำราฝรั่งเขาใช้หอมหัวใหญ่ดองกับไวน์แช่ทิ้งไว้สักเดือนใช้น้ำแช่นั้นทารักษาฝ้าได้ผล บ้านเราก็ลองใช้หอมแดงแทนก็ได้เพราะมีสรรพคุณใกล้เคียงกันอยู่แล้ว และใช้น้ำมันหอมระเหยจากหัวหอมทาหัวสิวที่อักเสบจะช่วยลดการอักเสบได้
ได้“หอม”วันละนิดพิชิตหัวใจ
นอกจากนี้ ในตำรับยาไทยยังมีการนำหัวหอมแดงมาใช้ในการรักษาโรคไขหวัด ลดอาการคัดจมูก โดยการนำหอมแดงสัก 5-6 หัวทุบพอแตก ใช้ผ้าขาวบางห่อวางไว้หัวนอนของเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ เมื่อมีอาการจะช่วยลดอาการคัดจมูกและช่วยให้นอนหลับสบาย เพราะหอมมีคุณสมบัติช่วยให้เกิดความผ่อนคลายรู้สึกง่วงและนอนหลับด้วยนั่นเอง และถ้าใช้หัวหอมตำให้แหลกผสมกับเหล้าโรงใช้พอกหรือทาบริเวณที่เกิดโดนแมลงกัดต่อยช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ผลดี
ปัจจุบันมีรายงานผลการวิจัยของ “หอม” บ่งบอกว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด พบว่าช่วยลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด และช่วยขยายหลอดเลือด สารเคอร์ซีทินในหอมนั้นเมื่อทานเข้าไปแล้วสามารถปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระได้ และช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดได้ และยังทำหน้าที่ลดไขมันเลวเพิ่มไขมันดี ช่วยทำให้เลือดไม่แข็งตัวไปอุดหลอดเลือดง่ายๆ ดังนั้นจึงช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและอัมพาต รวมถึงรายงานอื่นๆ ที่ยังระบุว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ด้วย
ปัจจุบัน สถิติคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจมีสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กัน เช่น โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวพันธ์กับการบริโภคอาหาร ที่หันไปรับรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตกในวิถีการดำเนินชีวิตนั่นเอง เรื่องนี้แม้จะพูดกันป่าวๆ บอกกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็หาได้สามารถโน้มน้าวใจประชาชนคนไทยให้ลดละเลิกพฤติกรรมการบริโภคเลียนแบบนี้ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ร้านอาหารแนวตะวันตกกลับมีอยู่เกลื้อนเมือง แม้แต่ตามต่างจังหวัดและแหล่งชุมทางร้านรวงอาหารต่างประเทศก็เข้าไปถึงหมดแล้ว ในอนาคตฟันธงได้เลยว่าประชากรไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาภาวะโภชนาการเป็นพิษแน่นอน เพราะวัยรุ่นวัยเยาวชนทั้งหลายได้รับการปลูกฝังกับวัฒนธรรมการบริโภคแบบใหม่ๆ นี้อยู่ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของพวกเขาไปแล้ว
ฉะนั้นถ้าคนไทยไม่อยากถูกโรคหัวใจเล่นงานไปมากกว่านี้ ก็ต้องลดพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบตะวันตก และหันมาบริโภคอาหารไทยๆ ที่มีเครื่องเทศ ผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะต้นหอม หอมแดง หรือหอมหัวใหญ่ ให้แทรกอยู่ในอาหารประจำวัน บ้างอาจนำมาทานสดๆ แกล้มกับน้ำพริกหรือลาบ ไม่ต้องมากแต่ให้มีสม่ำเสมออย่าได้ขาด เรียกว่า ได้ “หอม” วันละนิดพิชิตโรคหัวใจคนไทยได้แน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส.และวิชาการดอทคอม
ที่มา thaihealth