หัวใจนักวิทยาศาสตร์
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อกับต้นเดือนกันยายน 2547 ที่ผ่านมา หลายคนคงจะงุนงง สงสัย ระคนกับตื่นเต้น ตกอกตกใจไปตามๆ กันกับข่าวคราวอย่างต่อเนื่องของ GMOs ซึ่งเริ่มจากการที่องค์กรเอกชนรายหนึ่งบุกรุกเข้าไปในแปลงทดลองมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมของสถานีวิจัยพืชสวน จังหวัดขอนแก่น
โดยที่ใส่ชุดปกปิดรัดกุม ราวกับกำลังเผชิญกับโรคร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ (แต่ในอีกหลายครั้ง องค์กรเดียวกันก็นำชาวบ้านที่ไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ เอามะละกอที่อ้างว่าดัดแปลงพันธุกรรมมาทิ้งโชว์ตามที่ต่างๆ ... ซึ่งก็ดูสับสนดีว่า อันตรายหรือไม่อันตรายกันแน่!) ตามมาด้วยจังหวะที่เหมาะเหม็ง (ราวกับคำนวณไว้) ของข่าวนายกรัฐมนตรีเปิดไฟเขียว GMOs ... ที่สับสนเป็นที่สุดว่า ไฟเขียวให้ทำอะไรกันแน่? ไฟเขียวให้ทดลอง หรือให้ขาย หรือให้ทำอะไรอื่นใดกันแน่?
เนื่องจากเชื่อแน่ว่า คนไทยส่วนใหญ่คงจะยังสับสนเกี่ยวกับ GMOs อยู่มาก ...
อย่ากระนั้นเลย ... พวกเรา พี่น้องชาว พสวท. มาทำความเข้าใจกันกับเรื่องนี้กันสักนิด เผื่อว่าใครสนใจจะไปอ่านต่อ หรือเผื่อว่าเมื่อมีข่าวคราวเรื่องนี้อีกครั้ง จะได้ไม่สับสน ตื่นตระหนก จนกระทั่งเสียฟอร์มของผู้มี “หัวใจนักวิทยาศาสตร์” เพราะ เชื่อตามข้อมูลผิดๆ ไปเสียก่อน
GMOs: ความจริง ความลวง และความสับสนในสังคมไทย
• GMOs คืออะไร?
คำว่า GMOs เป็นอักษรย่อ ซึ่งมาจากคำเต็มๆ ว่า Genetically Modified Organisms แปลให้ตรงๆ ตัวก็คือ “สิ่งมีชีวิตซึ่งมีการดัดแปลงพันธุกรรม” คำนี้เป็นศัพท์ที่ใช้กันมากในหมู่สื่อมวลชน แต่ถ้าเป็นนักวิชาการตัวจริง (เสียงจริง) เค้าจะไม่ใช้กันนะครับ ... แต่จะใช้อีกคำหนึ่งคือ คำว่า transgenic organisms ครับ
ข้อน่าสังเกตตรงนี้ก็คือ จากนิยามจะเห็นได้ว่า GMOs คือ “สิ่งมีชีวิต” ซึ่งอาจจะเป็นจุลินทรีย์ต่างๆ พืช หรือสัตว์ ก็ได้ทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ “เทคโนโลยี” ... ซึ่งถ้าไปอ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า เขียนกันจนสับสนไปหมด กระทั่งความหมายของคำนี้ คืออะไรก็ไม่รู้ หรือไม่ชัดเจน
คำว่า transgenic organisms แปลตรงตัวว่า “สิ่งมีชีวิตเคลื่อนย้ายยีน”
(ลองเปรียบเทียบความหมายของคำว่า trans- กับคำว่า transistor, transition (state) หรือ transit ดูนะครับ) ซึ่งก็มีความหมายตรงไปตรงมาดีว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีการเคลื่อนย้ายยีน (หรือดีเอ็นเอ) เกิดขึ้น” สำหรับการเคลื่อนย้ายยีนที่ว่านี้ ก็มีทั้งแบบ “ย้ายเข้า” คือ นำยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่นมา “เติมเข้าไป” กับ “ย้ายออก” คือ “นำยีนที่มีอยู่ออกทิ้งหรือทำให้ยีนนั้นใช้งานไม่ได้” ซึ่งแบบหลังนี่ บางทีก็เรียกด้วยอารมณ์ขันว่าเป็นการ “น็อกเอาท์ยีน (gene knockout)” … แบบเดียวกับที่นักมวย “น็อก” คู่ต่อสู้บนเวทีนั่นแหละครับ
• สร้าง GMOs ขึ้นมาได้อย่างไร?
อ่านถึงตรงนี้ บางคนก็อาจจะเริ่มสงสัยว่า ... GMOs นี่เค้าสร้างกันยังไงล่ะเนี่ย?
อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เค้าใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “พันธุวิศวกรรม (genetic engineering)” เป็นตัวสร้างครับ โดยหลักการใหญ่ๆ ก็คือ ต้องเป็นการ “ตัด” และ “ต่อ” ดีเอ็นเอหรือยีนที่เราต้องการ เข้ากับดีเอ็นเออีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวกลาง ทำให้เราสามารถควบคุมดูแลความเรียบร้อยของดีเอ็นเอชนิดแรกได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือ กระบวนการขั้นตอนที่ว่านี้ เกิดขึ้น “ในหลอดทดลอง” และ “นอกร่างกายสิ่งมีชีวิต”
การที่จะนำดีเอ็นเอที่เป็นผลิตผลสุดท้ายที่ได้ (คือ รวมเอาดีเอ็นเอทั้งสองแบบที่เอ่ยมาก่อนหน้านี้เข้าด้วยกันแล้ว) ใส่เข้าไปในในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งก็มีวิธีการอยู่มากมายหลายวิธี เช่น ถ้าเป็นพืชก็อาจจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า ปืนยีน หรือ gene gun ที่มีแรงดันส่งให้ชิ้นดีเอ็นเอทะลุผ่านผนังเซลล์หนาๆ ของเซลล์พืชเข้าไปได้ ส่วนถ้าเป็นแบคทีเรียอาจจะใช้ “สารเคมี” หรือ “กระแสไฟฟ้า” ช่วยขยายช่องที่ผิวเซลล์ให้กว้างขึ้น จนสามารถรับ DNA เข้าไปได้ เป็นต้น
เมื่อเอายีนที่ไม่เคยมีใส่เข้าไป ถ้าเราจัดการควบคุมให้ดี สิ่งมีชีวิตนั้นๆ ก็จะสร้างโปรตีนชนิดใหม่เช่น สร้างโปรตีนจากแบคทีเรียที่แมลงบางอย่างกินแล้วชักตาย (แหง็กๆๆ) ในบริเวณเฉพาะ เช่นที่ “ใบพืช” เป็นต้น