ชะตา 'เฟซบุ๊กโฟน' อยู่ในตลาดหุ้น
ถ้าคุณได้ติดตามสถานการณ์ในตลาดหุ้นนิวยอร์กตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นเฟซบุ๊ก ที่บรรดาเซียนตลาดหุ้นและไอทีทั้งหลายต่างฟันธง (ก่อนจะนำเข้าขายในตลาดหุ้น) ว่าจะเป็นหุ้นดาวรุ่งพุ่งแรง สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่เพิ่งแต่งงานกับหวานใจ พริสซิลลา จาง หลังจากวันประกาศตัวนำหุ้นไอพีโอเข้าขายในตลาดที่นิวยอร์กได้เพียง 1 วัน
แต่ดูเหมือนว่ากราฟราคาหุ้นของเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลก (ณ เวลานี้) จะอ่อนแรง มีแต่ดิ่งหัวลง หรือจะเชิดหัวขึ้นก็เพียงช่วงสั้นๆ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า อาจมีกระบวนการ "ลับ ลวง พราง" กดราคาหุ้นของเฟซบุ๊ก เพื่อที่จะช้อนซื้อในช่วงที่หุ้นมีราคาตกต่ำสุดๆ แล้วเข้าครอบครองสิทธิการบริหารงานแทนนายซัคเคอร์เบิร์กอย่างนิ่มๆ ซึ่งกรณีเช่นนี้ฝรั่งมังค่าเขาเรียกว่า "Hostile Takeover" หรือ การเข้าครอบครองกิจการโดยไม่เป็นมิตร
ใช่ว่าเรื่องเช่นนี้นายซัคเคอร์เบิร์กจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเทรนเนอร์ อย่างบริษัท เมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจที่เคยเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วง 30 ปีที่แล้ว ก็ได้เตือนหนุ่มน้อยวัย 28 ปี ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มมหาเศรษฐีโลก (แม้จะหล่นจากท็อป 40 เศรษฐีอันดับต้นของโลกจากการจัดอันดับของบลูมเบิร์กเมื่อวันอังคารนี้เอง) จากการครอบครองสินทรัพย์ประมาณ 14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็ตาม แต่ก็เชื่อว่านายซัคเคอร์เบิร์กต้องมี "ไม้เด็ด" ที่ยังซ่อนไว้รับมือกับนักลงทุนเจ้าเล่ห์พวกนี้อยู่เช่นเดียวกัน
มิเช่นนั้นมหาเศรษฐีหนุ่มรายนี้คงไม่แพลมเรื่อง "สมาร์ทโฟน" ภายใต้แบรนด์ "เฟซบุ๊ก" ที่มีข่าวว่าจะออกตัวแรงล้อฟรีในปีหน้าให้สาวกเฟซบุ๊กกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกได้จับจองเป็นเจ้าของกันอย่างแน่นอน
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า เฟซบุ๊ก ได้ว่าจ้างวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของบริษัทแอปเปิลไว้มากกว่า 5 คนแล้ว โดยคนเหล่านี้เคยมีส่วนร่วมผลิตไอโฟน และยังจ้างวิศวกรอีกคนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาไอแพดด้วย และเตรียมปล่อยสมาร์ทโฟนที่ผลิตขึ้นเองออกสู่ตลาดในปีหน้า
ทั้งยังมีรายงานออกมาว่า เฟซบุ๊กได้จูบปากกับ เอชทีซี ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติไต้หวัน ในการพัฒนาสมาร์ทโฟนที่ใช้ชื่อในการพัฒนาว่า "บัฟฟี่" ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเฟซบุ๊ก "เอาจริง" กับการทำตลาดสมาร์ทโฟนอย่างแน่นอน และยิ่งวิศวกรรายหนึ่งของบริษัทแอปเปิล เคยคุยกับนายซัคเคอร์เบิร์ก และได้ยินจากปากของมหาเศรษฐีหนุ่มรายนี้ว่า หากเฟซบุ๊กไม่ผลิตสมาร์ทโฟนของตัวเองในอนาคตอันใกล้ เฟซบุ๊กจะกลายเป็นเพียงแอพพลิเคชั่นหนึ่งในสมาร์ทโฟนของผู้ผลิตอื่นๆ
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางคนบอกว่า การผลิตแท็บเล็ตน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าสำหรับเฟซบุ๊ก เพราะตลาดยังไม่มีการแข่งขันสูงมากเหมือนสมาร์ทโฟน แต่ก็มีปัญหาว่า วัยรุ่นยังไม่นิยมใช้แท็บเล็ตเท่ากับสมาร์ทโฟน
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อได้ในระดับหนึ่งว่า เฟซบุ๊กต้องการสร้างสมาร์ทโฟนของตนเองขึ้นมา และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการ (โอเอส) ของตนเอง แม้จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดสมาร์ทโฟน ทั้ง แอปเปิล อิงค์ เจ้าของ ไอโฟน และ กูเกิล ที่ส่งโอเอส แอนดรอยด์ ไปสู่ความสำเร็จด้วยการเปิดให้นักพัฒนานำโอเอสแอนดรอยด์ไปต่อยอดพัฒนากันอย่างเปิดเผย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแทบทุกค่ายในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ เว้นแต่ แอปเปิล อิงค์ กับ โนเกีย ที่แม้จะผิดหวังกับโอเอสซิมเบียนของตนเอง แต่ก็ไม่สนใจแอนดรอยด์ กลับไปจับมือเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์ เจ้าของโอเอส วินโดว์ส ผลิตวินโดว์สโฟนขึ้นมาแทน
เชื่อได้ว่าสาวกเฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยยินดีที่จะเปลี่ยนใจไปใช้สมาร์ทโฟนของเฟซบุ๊ก เฉพาะที่ประเทศอังกฤษก็มีผลสำรวจออกมาแล้วว่า บรรดาผู้ใช้สมาร์ทโฟน 1 ใน 3 ของประเทศยินดีจะเปลี่ยนค่ายเทใจให้เจ้าโทรศัพท์ที่มีชื่อเล่นว่า "บัฟฟี่" จากเฟซบุ๊ก
นักวิเคราะห์ชี้ว่า จุดเป็นจุดตายของสมาร์ทโฟนของเฟซบุ๊กอยู่ที่การผลิตแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานขอสาวกเฟซบุ๊กได้อย่างตรงใจ และสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งเฟซบุ๊กก็เริ่มชิมลางกับการส่งแอพพลิเคชั่นที่แยกการทำงานของกล้อง และการสนทนา (แชท) ออกจากกันให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้ดาวน์โหลดกันได้ที่แอพสโตร์ของเฟซบุ๊กกันแล้ว
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ "ราคา" ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจในอังกฤษ 57% ระบุว่าหากเฟซบุ๊กโฟนมีราคาถูกกว่าไอโฟนก็จะทำให้เปลี่ยนใจไปคบหาได้ง่ายยิ่งขึ้น
ตรงจุดนี้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่เฟซบุ๊กจะทำราคาสมาร์ทโฟนของบริษัทออกมาในราคาถูกกว่าคู่แข่ง เพราะเฟซบุ๊กมีจุดแข็งอยู่ที่การ "แฝง" โฆษณาในแอพพลิเคชั่นต่างๆอยู่แล้วและเป็นตัวสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่เฟซบุ๊กมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของธุรกิจเฟซบุ๊กจะมีหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่การนำนาวาเฟซบุ๊กฝ่าดงนักลงทุนที่ทำตัวเป็นจระเข้ ฝูงปลาปิรันย่า ที่คอยทึ้งเนื้อเถือหนังกดต่ำราคาหุ้นเฟซบุ๊กลงต่ำสุดๆ เพื่อ "ฮุบ" กิจการเฟซบุ๊กเข้าปากได้อย่างง่ายดาย ให้ได้เสียก่อน