ใช้ยูวีรักษามะเร็งให้ผลดีกว่า แถมไม่ทำลายเซลล์ปกติ
เอเยนซี/บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยผู้ดีพัฒนาวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ ใช้แสงยูวีเป็นตัวช่วย ให้ยาออกฤทธิ์ตรงจุด การทดลองให้ผลดีกว่าวิธีรักษาแบบเดิม เตรียมต่อยอดทดสอบในคน หวังปูทางสู่การรักษามะเร็งในอนาคตที่อาจต้องใช้เวลาวิจัยนานนับ 10 ปี
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ประเทศอังกฤษ ทดลองใช้แสงยูวี (ultraviolet light) กระตุ้นยารักษามะเร็งในหนู พบว่าให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยที่เซลล์ปกติไม่ถูกทำลาย เดินหน้าทดสอบต่อในคน หวังช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่แม้รักษาหายด้วยยาแต่เนื้อเยื่ออื่นก็พลอยบอบช้ำไปด้วย
โคลิน เซลฟ์ (Colin Self) หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ยาที่ผลิตจากโมโนโคลนอลแอนติบอตี (monoclonal antibody) เป็นอาวุธสำคัญที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง แต่อาวุธนี้ไม่ได้ร้ายกาจกับเซลล์มะเร็งเท่านั้น
แม้เนื้อร้ายจะหายไป ขณะเดียวกันเซลล์ปกติก็ถูกทำลายไปไม่น้อย ดังกรณีของผู้ป่วยมะเร็ง 6 ราย ที่เป็นชายล้วนมีอาการร่อแร่หลังจากทดลองรักษาด้วยยาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2549
"มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะทำให้ยาไปออกฤทธิ์เฉพาะตรงบริเวณที่เป็นมะเร็ง เมื่อกินยาเข้าไป ระหว่างทางมันยังไปออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ต่างๆไปมากมายกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่มันควรจะออกฤทธิ์จริงๆ" เซลฟ์ กล่าว
ดังนั้น เขาและทีมงานจึงศึกษากระบวนการนำส่งยาให้ไปออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์มะเร็งเป้าหมายเท่านั้น โดยการห่อหุ้มโมโนโคลนอลแอนติบอตีด้วยสารชีวภาพที่ไวต่อแสงยูวี เพื่อป้องกันไม่ให้โมโนโคลนอลแอนติบอตีทำลายเซลล์อื่นๆ ก่อนเดินทางถึงเซลล์เป้าหมาย
เมื่อยาถึงที่หมายจึงค่อยฉายแสงยูวีให้ชั้นเคลือบชีวภาพหลุดออก แอนติบอดีก็เริ่มทำงานตามปกติและทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการทำงานของแอนติบอดีให้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น จากการทดลองในหนู 6 ตัวที่เป็นมะเร็งรังไข่ พบว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายและหนูหายเป็นปกติถึง 5 ตัว
อย่างไรก็ดี การทดลองนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาวิธีรักษาโรคแต่ละชนิดอาจต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ถึงจะมั่นใจได้ว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้จริงกับผู้ป่วย แต่เซลฟ์และทีมงานรวมทั้งนักวิจัยคนอื่นๆก็หวังว่าวิธีนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าวิธีที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยทีมวิจัยเตรียมการทดสอบขั้นต่อไปกับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังในช่วงต้นปีหน้า