ดวงจันทร์ของโลกเป็นสิ่งหายากในจักรวาล
คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา เผยในวารสารฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ว่า ดวงจันทร์ของโลกเกิดขึ้นเมื่อเทหวัตถุขนาดใหญ่เท่าดาวอังคาร
พุ่งชนโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน เศษฝุ่นจากการชนถูกดึงเข้าสู่วงโคจรของโลกจนกระทั่งรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ ระบบดาวเคราะห์ในจักรวาล มีดวงจันทร์ที่กำเนิดแบบนี้เพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น เพราะปกติแล้ว เมื่อเกิดการชนอย่างรุนแรง เศษฝุ่นจะกระจายไปทั่ว หากฝุ่นเหล่านี้รวมตัวกันแบบเดียวกับดวงจันทร์ ก็จะต้องมีดวงดาวมากมายที่มีฝุ่นล้อมรอบอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีดวงดาวแบบนี้น้อยมาก
พวกเขาใช้กล้องโทรทรรศน์สปิทเซอร์สเปซ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา ส่องหาฝุ่นตามดาว 400 ดวง
ที่อายุประมาณ 30 ล้านปี เป็นอายุรุ่นราวคราวเดียวกับดวงอาทิตย์ และเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ถือกำเนิด พบว่ามีเพียง 2-4 ดวง ที่มีฝุ่นล้อมรอบ แต่มีเพียงดวงเดียวที่ฝุ่นมีอุณหภูมิและระยะห่างตรงกับฝุ่นของดวงจันทร์ ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้ว จึงมีดวงดาวที่เหมือนดวงจันทร์เพียงร้อยละ 5-10 ในระบบดาวเคราะห์ทั้งหมดของจักรวาล อย่างไรก็ดี นายสกอตต์ เจ เคนยอน จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ติงว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปในเรื่องนี้ เพราะมีงานวิจัยบางชิ้นพบว่า ดวงดาว 2 ดวง ที่มีอายุเก่าแก่ราว 100-400 ล้านปี ก็มีเศษฝุ่นล้อมรอบเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย