ใยอาหารกับสุขภาพ
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหา เรื่องการบริโภคอันเนื่องมาจากความเร่งรีบ ในการทำงานเพื่อแข่งกับเวลา
ทำให้หันมารับประทานอาหารประเภท จานด่วนที่ให้ความสะดวกรวดเร็ว แต่อุดมไปด้วยไขมันกันมากขึ้น ประกอบกับมีการใช้พลังงานน้อยลง ทำให้เกิดไขมันส่วนเกินสะสมตามมา ซึ่งการรับประทานอาหารไม่ถูกส่วน สะสมกันเป็นเวลานานนับปีมักก่อให้เกิด เป็นโรคต่างๆ ได้ จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนหลากหลาย รูปแบบออกวางจำหน่าย โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่คนสนใจมักเป็น สารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเป็น เส้นใยอาหารหรือเรียกกันทั่วไปว่าไฟเบอร์ (dietary fiber)
เมื่อกล่าวถึงเส้นใยอาหารเรามักนึกถึงกากอาหารที่ร่างกายได้จาก การรับประทานอาหาร
เข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยได้และถูกขับถ่ายออกมา โดยกากอาหารเหล่านี้เป็นสารประกอบของพอลิเมอร์หลายชนิด มีคุณสมบัติทางเคมีที่ต่างกัน บางชนิดอาจจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ กลายเป็นสารโมเลกุลเล็กที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ หรือบางชนิดจะไม่มีการเปลี่ยนรูปเลย
เราอาจจะแบ่งกลุ่มของเส้นใยอาหารตามคุณลักษณะของเส้นใยได้ 2 แบบ คือ
กลุ่มที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ gums, gel, mucilages และ pectin เป็นต้น และอีกกลุ่มที่ไม่สามารถละลายได้ในน้ำ ได้แก่ lignin และ cellulose เป็นต้น การที่เส้นใยมีผลต่อการบำบัดและป้องกันโรคต่างๆ นั้น เนื่องมาจากคุณสมบัติของเส้นใยที่สามารถอุ้มน้ำ เพิ่มความหนืด ไม่ถูกย่อย ดูดซับแลกเปลี่ยนประจุได้ ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และช่วยกวาดล้างอนุมูลอิสระได้ เป็นต้น
การอุ้มน้ำได้ดีของเส้นใยจะช่วย เพิ่มปริมาตรของกากอาหาร ซึ่งจะได้กระตุ้นการเคลื่อนไหวของ ลำไส้
ทำให้กากอาหารนุ่ม ถ่ายสะดวก เส้นใยที่ให้ประโยชน์ในแง่นั้นมักจะเป็น เส้นใยหยาบ ละลายในน้ำไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่ละลายน้ำได้ เช่น gel ช่วยเพิ่มความหนืด ซึ่งพบว่าเป็นผลดีต่อการควบคุม โรคเบาหวาน โดยคาดว่าเส้นใยจะเปลี่ยนรูปเป็น gel แล้วช่วยเคลือบผิวลำไส้ให้หนาขึ้น จึงทำให้การดูดซึมสารที่มีประจุของพวกแป้ง และน้ำตาลที่ย่อยแล้วเป็นไปได้ช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่สูงฉับพลัน และการที่โมเลกุลของเส้นใยมีส่วนที่เป็น กรดอิสระอยู่ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยน ประจุกับสารอื่นๆ ที่มากับอาหารหรืออาจเป็น สารพิษที่มีการปนเปื้อนมา
กลุ่มของกรดอิสระจะช่วยดูดซับและดึงเอาสารพิษออกไป จึงเชื่อกันว่าคุณสมบัตินี้ทำให้เส้นใยอาหารลดปริมาณไขมันใน หลอดเลือดได้
นอกจากนี้ใยอาหารยังช่วยลดการหมักหมมของ กากอาหารในลำไส้ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในลำไส้น้อยลง สำหรับแหล่งอาหารของเส้นใยจะพบมากในเมล็ดธัญพืชที่ไม่ได้ ผ่านการขัดสี รำข้าวชนิดต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ผักและผลไม้ชนิดต่างๆ พบว่ามีใยอาหารประเภทละลายได้ในน้ำอยู่สูง นอกจากนี้ยังมีการผลิตเส้นใยสกัดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น หัวบุก เมล็ดรำข้าวสกัด เป็นต้น บางชนิดใช้ในอุตสาหกรรมยา เช่น Metamucilา ซึ่งได้มาจาก Psyllium seed นำมาใช้รักษาโรคในระบบขับถ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ในการเลือกบริโภคเส้นใยประเภทต่างๆ ควรระมัดระวังว่าเป็นเส้นใยสกัดหรือเส้นใยธรรมชาติ รู้ปริมาณที่เหมาะสมที่ควรบริโภคต่อวัน หรือส่งผลข้างเคียงต่อ ร่างกายอย่างไร ควรศึกษาจากรายงานที่มีผู้ทำไว้แล้วบ้าง เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภค