อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากมี ดังนี้
- อาการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เกิดจากการที่มะเร็งต่อมลูกหมากโตขึ้นและกดเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้นที่วิ่งผ่าน อาการนี้จะเหมือนอาการของโรคต่อมลูกหมากโตธรรมดา
- อาการของการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากสู่อวัยวะข้างเคียง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, อุจจาระเป็นเลือด, ลำไส้ใหญ่อุดตัน, ไตวายจากท่อไตอุดตัน เป็นต้น
- อาการของการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น ขาบวมจากการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน, ปวดกระดูกจากการแพร่กระจายไปยังกระดูก, ตัวเหลืองตาเหลืองจากการแพร่กระจายไปยังตับ
- อาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การตรวจหาผู้ป่วยชายที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ในปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมากมักได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้นมากขึ้น ก่อนที่จะมีอาการของการลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียงหรืออาการของการแพร่กระจาย เนื่องจากมีการตรวจเลือดหาระดับสารเฉพาะเจาะจงกับต่อมลูกหมาก ในประเทศตะวันตกผู้ชายอายุ 50 ปี ขึ้นไปทุกคนจะได้รับการแนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจลักษณะต่อมลูกหมากโดยแพทย์จะใช้นิ้วคลำผ่านทางทวาร ร่วมกับรับการตรวจเลือดหาระดับสารเฉพาะเจาะจงกับต่อมลูกหมาก หากพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์จะ แนะนำให้เข้ารับการตัดตัวอย่างเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา หากผลการตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่ามีเนื้อมะเร็งต่อมลูกหมากปนอยู่จริง อาจจะได้รับการตรวจเลือดหรือการตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
สำหรับประเทศไทยนั้นอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากยังค่อนข้างต่ำ การตรวจทางทวารหนัก และตรวจเลือดจึงทำเฉพาะในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีอาการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติเท่านั้น หากผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่มีอาการแต่ต้องการจะรับการตรวจก็สามารถจะทำได้เช่นกัน
การรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. การรักษาเฉพาะที่ มีเป้าหมายเพื่อกำจัดเนื้อมะเร็งที่ต่อมลูกหมากออก เพื่อให้มีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็ง ได้แก่ การผ่าตัดตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด การใช้รังสีรักษา การใช้ความเย็นรักษา และการใช้ความร้อนรักษา
2. การรักษาทั่วร่างกาย มีเป้าหมายเพื่อกำจัดเนื้อมะเร็งต่อมลูกหมากทุกตำแหน่งในร่างกาย ได้แก่ การลดการกระตุ้นเนื้อมะเร็งต่อมลูกหมากจากฮอร์โมนเพศชาย ทำได้โดยการผ่าตัดตัดลูกอัณฑะออก การให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย การใช้ยาเคมีบำบัด โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายข้อดีและข้อเสียของแต่ละ วิธีให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจเลือก