| นักเรียนออกท่าทางประกอบตาราง 9 ช่อง |
| | “สมอง” ถือได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการหลักที่ใช้ในการสั่งการระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งการทำงานของสมองจะประกอบด้วยเซลล์ประสาทส่วนต่างๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบที่จะควบคุมพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์ สมองเองจึงแบ่งหน้าที่การทำงานหลักๆ ออกเป็น 2 ข้าง สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่ในการคิดวิเคราะห์ ในเรื่องต่างๆ การเรียนรู้ การคำนวณ การจัดลำดับ ควบคุมพฤติกรรมต่างๆ การตัดสินใจ การรับรู้ ส่วน สมองซีกขวา ทำหน้าที่ในการสร้างจินตนาการ สัญชาตญาณ การสังเคราะห์ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ การแก้ปัญหาต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้ศูนย์บัญชาการของร่างกายกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป และไม่ดูแลรักษาร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอวัยวะที่สำคัญอย่างสมอง นั่นเองเป็นผลให้โรคสมองเสื่อม เข้ามาใกล้เรามากยิ่งขึ้น ** “ตาราง 9 ช่อง” เสริมพัฒนาการสมอง นอกจากการให้ความสำคัญในการบริโภคแล้วนั้น การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาของโรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพในการเรียนได้เช่นกัน เหมือนอย่างที่ ร.ร.อนุบาลพนัสศึกษาลัย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งนำเอารูปแบบการออกกำลังกายด้วย “ตาราง 9 ช่อง” มาใช้กับการออกกำลังกายของนักเรียน อ.จินตนา อยู่อำไพ หรือ ครูเดฟ ได้อธิบายถึงที่มาและประโยชน์ของการใช้ตาราง 9 ช่อง ว่า ก่อนนั้นจะใช้ตาราง 9 ช่อง ในการเสริมสร้างพัฒนาการกับเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก หรือเด็กไฮเปอร์ ที่จะมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง หรือนิ่งจนเกินไป จนทำให้พวกเขาสามารถที่จะอยู่ในระบบระเบียบได้ จากนั้นจึงมีการนำตาราง 9 ช่องขยายเข้าสู่โรงเรียนเพราะสามารถนำมาปรับใช้กับเด็ก และบูรณาการกับการเรียนการสอนในทุกวิชา สำหรับการนำไปใช้นั้น สามารถแบ่งการใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพราะขณะที่เด็กกำลังเครียดกับวิชาการเรียน ครูผู้สอนก็จะสั่งให้นักเรียนลุกขึ้น โดยที่ตาราง 9 ช่องจะวางไว้ข้างโต๊ะ เพื่อทำท่าทางประกอบตาราง 9 ช่อง นอกจากนั้นบนโต๊ะก็ยังมีการตีตารางไว้ให้เด็กสามารถใช้ตารางด้วยมือ เป็นการแทรกการออกกำลังกายระหว่างการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ
|
| | การใช้ตาราง 9 ช่อง กับภาษาอังกฤษ |
| | ขณะเดียวกัน ได้มีการประยุกต์โดยการนำเนื้อหาในวิชาเรียนเข้ามาใส่ เช่น การท่องสูตรคูณ ท่องอาขยาน บทกลอน ศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นการท่องตามจังหวะ เด็กจะสามารถท่องได้อย่างถูกต้อง และง่ายที่เขาจะจดจำในเรื่องนั้นๆ อีกทั้งยังสร้างความกระตือรือร้นต่อการเรียนให้แก่เด็ก ซึ่งจะมีการแทรกในลักษณะนี้อยู่ทุกวิชา ในส่วนของการออกกำลังกายด้วยตาราง 9 ช่องนั้น จะเริ่มจากหน้าเสาธงในทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพราะบริเวณหน้าเสาธงนั้นจะทำแนวอิฐบล็อกไว้เป็นตาราง 9 ช่อง แล้วให้เด็กยืนในตารางจากนั้นเปิดเพลงเพื่อทำกายบริหารประกอบท่าทาง ทั้งท่าของแอโรบิกและยังสามารถผสมผสานด้วยการนำท่ารำ และท่าทางต่างๆ มาประยุกต์ได้ “เมื่อเด็กออกกำลังกายพร้อมกันแล้ว จะเกิดความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว ก็เพื่อเป็นการปลุกให้สมองตื่นตัวเพื่อเตรียมความพร้อม ความกระฉับกระเฉง ก่อนเข้าห้องเรียน ไม่ให้เด็กเกิดความเครียด และเข้าห้องเรียนได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญเป็นเหมือนการสกัดกั้นพลังของเด็กที่มักจะมีความซุกซนอยู่ในตัวเอง ทำให้พฤติกรรมเด็กเปลี่ยนจากที่เด็กเคยก้าวร้าวกลับนิ่งและมีสมาธิมากขึ้น” ครูเดฟ ชี้แจง |
| ‘น้องเฟรม’ ด.ญ.ปิยธิตา ประเสริฐทวีโชติ |
| | | ** ความจำดี เรียนเพลิน ด้วยตาราง 9 ช่อง ด้านผู้ใช้โดยตรงอย่าง “น้องเฟรม” ด.ญ.ปิยธิตา ประเสริฐทวีโชติ ชั้น ป.6 บอกว่า การออกกำลังกายด้วยตาราง 9 ช่องนั้น ช่วยพัฒนาทางด้านสมอง ทำให้รู้จักแยกแยะ มีสมาธิในการเรียน เพราะการเรียนในห้องเรียนที่มีการนำตาราง 9 ช่องเข้าไปใช้ร่วมกับวิชาเรียนนั้นทำให้สามารถจดจำเนื้อหาได้ง่าย เช่น การท่องสูตรคูณหรือเล่นต่อคำ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วและไหวพริบในการตอบคำถาม ทำให้เกิดความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้นเมื่อท่องแล้วยังสามารถเต้นประกอบจังหวะตามได้ด้วย ซึ่งก็เป็นการออกกำลังกายทางหนึ่ง “เมื่อก่อนที่โรงเรียนก็มีการออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก แต่เมื่อนำตาราง 9 ช่องเข้ามาใช้เด็กนักเรียนก็จะมีใจที่จดจ่ออยู่กับตารางทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้ และความสนุกสนานนี้ คุณครูยังนำปรับใช้ในการเรียนการสอนทุกวิชาอีกด้วย”น้องเฟรม กล่าวถึงประโยชน์ ** หวังให้ทุกบ้านใช้ ตาราง 9 ช่อง ครูเดฟ ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ตาราง 9 ช่องถือได้ว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่นำมาใช้กับเด็กในการสร้างวินัยในตนเอง จากนั้นเด็กก็จะได้รับความแข็งแรงของร่างกาย พร้อมทั้งสมองจะได้รับการพัฒนาทั้งสองข้างไปพร้อมๆ เพราะหากสมองพัฒนาแต่ไอคิว อย่างเดียวเด็กจะ เครียดง่าย จึงมีข่าวเด็กฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเพราะเขาตัดสินใจอะไรไม่ได้ และหากสมองส่วนของอีคิวได้พัฒนาควบคู่ไปด้วยจะทำให้เขารู้จักการแก้ปัญหา การตัดสินใจที่ถูกต้อง ไม่เครียดกับปัญหาที่เกิดขึ้น จะรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ “ในอนาคตโรงเรียนยังมีโครงการที่จะเชื่อมโยงถึงผู้ปกครองที่บ้าน เพื่อให้เด็กนำการเล่นตาราง 9 ช่องไปฝึกกับผู้ปกครอง และจะเชิญตัวแทนของแต่ละครอบครัว แต่ละชั้นปี มาโชว์ความสามารถกันว่าแต่ละครอบครัวมีความสามารถในการใช้ตาราง 9 ช่องมากแค่ไหน เพื่อเป็นการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง และยังเป็นการขยายเครือข่ายการป้องกันโรคสมองเสื่อมอีกทางหนึ่ง”ครูเดฟ ฝากปิดท้าย |