มะกันสร้าง ซูเปอร์แครอท แคลเซียมสูงช่วยผู้ป่วยโรคกระดูก
เอเยนซี/เดอะ โคลัมบัส ดิสแพทช์ – “เปลือกไข่” ของเหลือทิ้งจากมื้ออาหารเช้าของใครหลายๆ คนอาจมีค่าดุจทองคำ เพราะนำมาใช้ให้พลังงาน แก่ยานยนต์ของเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ในอนาคตอันใกล้นี้
ผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) ประเทศสหรัฐฯ กำลังทำให้เราต้องทึ่งไปตามๆ กัน เมื่อพบว่า วันนี้เปลือกไข่อาจใช้เป็นวัตถุดิบช่วยผลิตก๊าซไฮโดรเจนเพื่อไปผสมกับก๊าซออกซิเจนที่ใช้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าของเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ได้แล้ว ด้วยต้นทุนที่ถูกลง
แถมไอเสียที่เคยก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมของยานยนต์ต่างๆ ก็จะเหลือเพียงไอน้ำจางๆ จากปลายท่อไอเสียของเครื่องยนต์ชนิดนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้ไอเสียของยานยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงจะไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง แต่ “แอล.เอส.ฟาน” (L.S.Fan) ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านเคมีและวิศวกรรมชีวโมเลกุล พร้อมผู้ร่วมวิจัยก็เผยว่า กระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากก๊าซถ่านหิน (gasified coal) เพื่อใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงเองก็เป็นปัจจัยที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะวิธีการแบบเก่าของการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจะต้องใช้การผสมกันระหว่างไอน้ำและก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน (Coal gas) หรือเชื้อเพลิงชีวมวลหรือน้ำมันดีเซล ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น
แต่สำหรับวิธีใหม่นี้ เมื่อเขาเติมเปลือกไข่ลงไปในขั้นตอนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนด้วย องค์ประกอบหลักๆ ของเปลือกไข่คือแคลเซียมออกไซด์ (calcium oxide) กลับจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ทำให้กระบวนการผลิตสะอาดขึ้น และเมื่อนำเปลือกไข่ที่ใช้แล้วไปฝังดิน ก็จะเป็นการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นออก โดยไม่ปล่อยมันสู่ชั้นบรรยากาศด้วย
“แถมวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ง่าย ลดขั้นตอนจากวิธีเก่าไปได้มาก จึงช่วยประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังช่วยผู้ผลิตไข่ประหยัดค่าใช้จ่าย 40 เหรียญ/ตันในการทิ้งเปลือกไข่ในที่ทิ้งขยะอีกด้วย” ฟาน ว่า โดยปีที่ผ่านมา คนอเมริกันสร้างขยะเปลือกไข่ไว้ทั่วประเทศถึง 455,000 ตันทีเดียว
งานวิจัยสรุปด้วยว่า ปริมาณเปลือกไข่ข้างต้นนั้นมากพอที่จะผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้มากถึง 35 พันล้านลูกบาศก์ฟุตเมื่อเทียบเท่ากับก๊าซถ่านหิน ขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์เซลล์เชื้อเพลิงจากค่าย “ฮอนดา” (Honda) ของญี่ปุ่นก็กินก๊าซไฮโดรเจนเพียง 6 ลูกบาศก์ฟุตจากการแล่น 270 ไมล์เท่านั้น
ขณะที่ “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็กำลังสนใจเซลล์เชื้อเพลิงและส่งเสริมการวิจัยมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา