ปี 2593 คนอายุขัย 120-150 ปี
ปี 2593 คนอายุขัย 120-150 ปี
เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) นพ.กฤษฎา ศิรามพุช แพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ อาจารย์นิสิตปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษเรื่อง "เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Anti aging Medicine) ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ทางการแพทย์เพื่ออายุยืนอย่างไม่มีโรค
นพ.กฤษฎากล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดให้ประเทศไทยเข้าสู่โครงสร้างประเทศสูงอายุเหมือนกับแถบยุโรปแล้ว เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ถึงกว่า 10% และประชากรเด็กลดลงเหลือเพียง 20% ซึ่งสัดส่วนประชากรสูงอายุกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากขาดการดูแลตั้งแต่ต้น หลักการของเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ก็คือ การใช้เทคโนโลยีล่าสุด หรือความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ ทุกด้านในการชะลอความชราหรือความเสื่อม ในอนาคตจะรักษาถึงขั้นระดับเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบหลายระบบรวมกัน และเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถประเมินสุขภาพในระดับเซลล์และแก้ไขได้
นพ.กฤษฎากล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2339 มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 25 ปี ปี 2539 อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 70-80 ปี ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนประเทศไทยขณะนี้ผู้ชายอายุ 68 ปี ผู้หญิงอายุ 72 ปี จะเห็นว่าอายุขัยของคนเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาตร์อายุรวัฒน์ ได้คาดทำนายว่า มนุษย์จะมีอายุขัยถึง 120-150 ปี ได้แน่นอน ก่อนที่จะถึง พ.ศ.2593 หรืออีกใน 42 ปี ข้างหน้าหัวใจของการมีอายุยืนมีอายุ 3 ประการคือ การควบคุมอาหารจำกัดพลังงาน (Health Weight) และกินอาหารสุขภาพที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ (Healthy Diet and Life Style) เช่น กินอาหารที่ให้เส้นใยสูง แต่ให้พลังงานต่ำเช่น ผักผลไม้ให้มากขึ้น เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เหล้า หมาก ยานัตถุ์ เพราะมีอนุมูลอิสระจะเข้าไปทำลายเซลล์ให้หยุดการทำงานหรือทำงานผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ประการที่ 3 คือ การมีสุขภาพจิตดี (Healthy Mind) ไม่เครียด ทั้งนี้ ผลการศึกษาว่า คนยุโรป 40% และชาวสหรัฐประมาณ 50% ชอบกินวิตามินเป็นอาหารเสริมให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระทำให้อายุยืน
"นอนดึก กินปลาร้าทำให้แก่เร็ว สัญญาณความชราที่สังเกตได้ง่ายคือ เหนื่อยเพลีย เหมือนแบตหมด นอนไม่พอ นอนหลับไม่สนิท คิดช้า กินน้อยแต่อ้วนมาก มีโรคเรื้อรังรุมเร้าอย่างน้อย 1 โรค เช่นไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขข้อเสื่อม ขี้ลืม เห็นตีนกา ริ้วรอย ผิวหน้าเริ่มหยาบ รูขุมขนเริ่มใหญ่ หน้าไม่เปล่งปลั่งเหมือนตอนวัยรุ่น ผลเลือดสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หากมีอาการเหล่านี้แม้แต่เพียงข้อเดียว แสดงว่ากำลังเข้าสู่วัยชราจะเสื่อมลงเรื่อยๆ หากไม่แก้ไข" นพ.กฤษฎา กล่าว
นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการทีเซลส์กล่าวว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคประจำตัว เพราะชีวิตในวัยหนุ่ม-สาวทำงานหนักมาตลอด ต้องเตรียมตัวก่อนแก่ ตั้งแต่อายุ 45 ปี ในวันที่ 24 มกราคม ทีเซลส์จะเสนอโครงการการดูแลคนชราเข้าสู่ที่ประชุมเอเปค ที่ประเทศเปรู ซึ่งไทยวางแผนจะสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านและในวัด ในลักษณะพนักงานสุขภาพชุมชน