“ไข้กระต่าย” (Rabbit fever) หรือโรคทูลาเรเมีย (Tularemia) เป็นโรคอุบัติใหม่ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงอายุ 37 ปี อยู่ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด
หลายคนต่างเริ่มหวาดวิตก บางรายถึงขนาดนำ “กระต่าย” ที่เคย “รักนักรักหนา” ไปปล่อยทิ้ง...
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า โรคทูลาเรเมีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัสFrancisella tularensis พาหะนำโรคคือ เห็บ แมลงดูดเลือด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะ กระต่ายบ้าน กระต่ายป่า พวก สัตว์ฟันแทะ ต่างๆ
จากการวิจัยระบุว่า เชื้อชนิดนี้อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมอุณหภูมิทั่วไปและในอุณหภูมิติดลบมากๆ เมื่อนำเนื้อกระต่ายที่นิยมบริโภคกันในสหรัฐอเมริกามาแช่แข็งอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียสไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ เว้นแต่จะนำไปปรุงให้สุกอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที
ทางด้าน นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกถึงลักษณะอาการสัตว์ที่ป่วยว่า จะมีอาการมีไข้ เบื่ออาหารน้ำมูกข้น ปอดอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ใน กระต่าย การสังเกตให้ดูบริเวณที่โดนเห็บกัดเป็นแผลหลุม ม้ามบวม ไม่รู้สึกตัว สุนัข สามารถต้านทานต่อโรคได้ดีกว่าในแมว ส่วนแกะ สัตว์จำพวกลิงเป็นโรคนี้ได้ โดยมีอาการซึม ท้องเสีย อาเจียน มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เยื่อเมือก ถ้ารุนแรงมากอาจตายได้
การติดต่อถึงคน อาจติดเชื้อจากการโดนเห็บ แมลงดูดเลือดกัด หายใจเอาเชื้อเข้าไป การสัมผัส สารคัดหลั่ง รับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนหรือสุกๆดิบๆ หากติดเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 3-5 วัน หรืออาจถึง 14 วัน จึงแสดงอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อ ข้อ ปอดบวม เจ็บคอ บางรายเสมหะมีเลือดปน หากเชื้อเข้ากระแสเลือด ถ่ายเหลวเป็นน้ำแต่ไม่มีเลือดปน
หากติดผ่านทางผิวหนัง จะเกิดแผลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณเท้าจะคล้ายโรคฝีมะม่วง ติดต่อทางเดินหายใจ อาการเริ่มแรกเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ กระทั่งสัปดาห์ ที่ 2 อันตรายที่สุด จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นปวดบวม หากเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตมักเสียชีวิต อาการโดยรวมจะแยกแยะลำบากจากกาฬโรค และถ้าติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อจะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
เพื่อไม่ให้โรคดังกล่าวเกิดขึ้น การป้องกันที่ดีสุด คือผู้เลี้ยงอย่าสัมผัสสัตว์ หรือหากจะแตะต้องควรใส่ถุงมือ ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัส ควรกำจัดเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงให้หมด ผู้ที่เลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมควรใส่รองเท้าบูต เสื้อกาวน์ถุงมือ และหน้ากากในการป้องกัน
ส่วนการนำวัคซีนมาใช้ ป้องกันโรค ในแถบประเทศสหรัฐอเมริกามักฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น พรานป่า และคนเลี้ยงสัตว์ จำนวนมากเท่านั้น ส่วนในบ้านเรา ไม่จำเป็น เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่น หนทางที่จะไม่ให้เกิดโรคที่ดีสุดก็คือหากมีการนำเข้าสัตว์แปลกจากต่างประเทศ ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องจากกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อร้ายแรงแปลกๆ ขึ้นในประเทศไทยได้
...อย่าห่วงแต่เชื้อนี้เพราะยังมีเชื้อโรคติดต่อมาถึงคนอีกมากมาย ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งติดมากับสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ และมันอาจกำลังฟักตัวในสัตว์แปลกที่คุณเลี้ยงอยู่ก็ได้ ทางที่ดีควรพาไปหาสัตวแพทย์ให้ดูแลและควบคุมไว้ดีกว่าแก้ เพราะแย่จะแก้ไม่ทัน!!!...เพ็ญพิชญา เตียว