ไข้กระต่าย ไม่ได้เกิดจาก กระต่าย
อธิบดีกรมควบคุมโรคขออภัยให้ข้อมูลผู้ติดเชื้อไข้กระต่ายคลาดเคลื่อน ยันไม่พบเลี้ยงกระต่าย แต่อาจติดจากสุนัข-แมวจรจัด ธุรกิจเพาะเลี้ยงกระต่ายสวยงามพัง วอนให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงให้คนเข้าใจ
ส่วนกรณีการตรวจพบผู้ป่วย โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเสียชีวิต เป็นรายแรกของประเทศไทยนั้น นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ว่า ต้องขออภัยที่ก่อนหน้าที่ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว มีประวัติสัมผัสกระต่าย และที่บ้านเลี้ยงกระต่ายกว่า 10 ตัว ซึ่งคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวไม่ได้เลี้ยงกระต่าย และไม่มีประวัติสัมผัสกระต่าย แต่มีการให้อาการสุนัขและแมวจรจัดเป็นประจำ
"ผู้เสียชีวิตสัมผัสเฉพาะแมวและสุนัข ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าอาจจะติดเชื้อจากสัตว์เหล่านี้ เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถรับเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella tularensis) ได้ อาจมีพาหะเป็นเห็บ หมัด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ยังไม่สามารถตรวจหาจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคไข้กระต่ายได้ แต่ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวติดเชื้อไข้กระต่ายแน่นอน และล่าสุดให้เจ้าหน้าที่ลงสอบสวนโรคอีกครั้ง" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
นพ.พิภพ เจนสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า หลังผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในบ้านพักเพียงคนเดียว เสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2550 มารดาของผู้ตายได้ประกาศขายบ้านที่เปิดเป็นร้านเสริมสวยในเทศบาลตำบลกุยบุรี และเจ้าหน้าที่ได้เจาะเลือดของชาวบ้านในกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ และเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าไม่มีการระบาดของโรคแต่อย่างใด และไม่ต้องนำสัตว์เลี้ยงประเภทฟันแทะออกมาปล่อยเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
น.สพ.ไพโรจน์ เฮงแสงชัย ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลกับเชื้อโรคนี้มากนัก เนื่องจากเชื้อนี้มักพบการแพร่ระบาดในประเทศที่มีกระต่ายป่าจำนวนมาก แต่ประเทศไทยไม่ค่อยมีกระต่ายป่ามากนัก ส่วนใหญ่จะเลี้ยงตามบ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่มาก จึงไม่น่าแพร่ระบาดในวงกว้างได้
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าสั่งการให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว โดยมี 2 มาตรการ คือ 1.การนำสัตว์เสี้ยงโรคจากต่างประเทศ จะต้องผ่านการตรวจสอบโรค และกักโรค 30 วัน 2.หลังการนำสัตว์เข้ามา ผู้ประกอบการจะต้องทำบัญชีแสดงรายละเอียดของสัตว์ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่ของสัตว์เพื่อจะติดตามได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ด้านนายวุฒิชัย ทองนพเก้า ผู้นำเข้ากระต่ายจากต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจกระต่ายสวยงามพังยับเยิน ไม่มีคนกล้าซื้อ หรือแม้กระทั่งเดินเฉียด ส่วนคนที่ซื้อไปแล้วก็เอามาคืน เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ ทั้งๆ ที่โรคนี้ไม่เกี่ยวกับกระต่ายเลย
น.ส.มณฑิรา สุวรรณมาศ ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงกระต่ายสวยงามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้ช่วยกันสร้างธุรกิจนี้จนเติบโต และติดอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่วันนี้ธุรกิจกระต่ายสวยงามของไทยพังไปแล้ว ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระต่ายเลย ยกเว้นแต่ชื่อโรคเท่านั้น
ขอขอบคุณสาระดีดี จาก