ไขอาการปวด วันนั้นของเดือน

การมาเยือนทุกเดือนของประจำเดือนในเพศหญิง ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องขบคิดให้ปวดหัว แต่หลายคนก็เกิดอาการปวดหัวเหมือนจะเป็นไข้ เหนื่อยง่าย ซึมเศร้า หงุดหงิด คัดเต้านม คลื่นไส้อาเจียน และปวดถ่วงท้องน้อย เมื่อถึงวันนั้นของเดือน

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี เผยแพร่ข้อมูลว่า ในวันที่ผนังภายในมดลูกค่อยๆ เพิ่มความหนาขึ้น เซลล์เยื่อบุผนังมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่ความหนานี้จะเต็มไปด้วยเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง เมื่อหนาเต็มที่แล้วระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จะมีการหลุดลอกของชั้นผนังภายในมดลูกที่หนาตัวขึ้น และมีเลือดอยู่ปริมาณมาก กลายมาเป็นประจำเดือน

ส่วนสาเหตุที่ผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อย อาจเกิดจากปวดประจำเดือน

จะเกิดก่อนหรือเกิดในระหว่างหรือหลังมีประจำเดือนก็ได้ อาจเกิดจากปีกมดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ หรือในส่วนของโรคที่ไม่ใช่ทางนรีเวช เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น อาการที่น่าวิตกของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ถึงช่วงมีประจำเดือนคงหนีไม่พ้น "ปวดประจำเดือน" และถ้าปวดทุกเดือนและปวดมากก็ไม่ควรวางใจ

อาการปวดประจำเดือนโดยทั่วไปเกิดจากผนังมดลูกสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น หรือมีความไวต่อสารตัวนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และมดลูกหดตัวแรงขึ้น อันเป็นสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดในส่วนอื่นๆ ของร่างกายหดตัวได้อีก จึงทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเดินร่วมด้วย

ไขอาการปวด วันนั้นของเดือน


ส่วนสาเหตุของการปวดประจำเดือนที่เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

พบว่าร้อยละ 7-10 ของผู้หญิงทั่วไป อาจมากถึงร้อยละ 50 ของผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือน และพบร้อยละ 38 (โดยเฉลี่ยจากร้อยละ 20-50) ของผู้หญิงที่มีปัญหาการมีบุตรยาก โดยพบร้อยละ 70-89 ของผู้หญิงที่ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หากเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอัตราเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในญาติสายตรง 10 เท่า

ภาวะการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกนอกมดลูก ส่วนใหญ่เกิดในอุ้งเชิงกราน

ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ทั้งจากอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือในบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ เลย ส่วนความเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากเกิดจากการรุกล้ำของเนื้อเยื่อเข้าไปในมดลูก ทำให้เกิดพังผืดตามมา และไข่ในเพศหญิงฝังตัวได้ยากขึ้น ในกรณีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดในบริเวณลำไส้ใหญ่ อาจปนมากับการถ่ายเป็นมูกเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งในกรณีหลังพบเมื่อเนื้อเยื่อลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากปีกมดลูกอักเสบจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

ก่อให้เกิดพังผืดในบริเวณปีกมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือนเสมอไป ทั้งนี้จากหลากหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นสามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในโดยสูติ-แพทย์ หรือการส่องกล้องเข้าไปภายในช่องท้อง และตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาได้ในกรณีที่ปวดมาก และยังสามารถวินิจฉัยโรคได้อีกหลายวิธี

เพื่อความสบายใจและกายในวันนั้นของเดือน คุณผู้หญิงทั้งหลายไม่ควรอายที่จะมาพบสูติ-แพทย์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์