การเข้าโปรแกรมการทำเด็กหลอดแก้ว

การเข้าโปรแกรมการทำเด็กหลอดแก้ว

 โดย นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุลและทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากวิภาวดี

การทำเด็กหลอดแก้วเป็นภาษาที่พูดกันทั่วไป  มีหมายความถึงกระบวนการกระตุ้นไข่ในรังไข่ให้เจริญเติบโตครั้งละหลายๆฟองแล้วเจาะดูดเอาออกมาผสมกับอสุจิที่เตรียมไว้ให้เกิดการปฏิสนธิในหลอดแก้วหรือในห้องทดลอง  เมื่อมีการแบ่งตัวของตัวอ่อนในระยะเหมาะสมก็นำกลับใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของแม่  เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์และเจริญคลอดออกมาเป็นทารกต่อไป

การทำเด็กหลอดแก้ว   เรามักทำเป็นขั้นตอนท้าย ๆ ของกระบวนการช่วยการมีบุตรยาก  หลังจากที่รักษาโดยวิธีง่าย  ๆ อย่างอื่นแล้วไม่ตั้งครรภ์  ได้แก่  การกระตุ้นการตกไข่  การผสมในโพรงมดลูก  และการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ ฯลฯ เพราะการทำเด็กหลอดแก้วเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ สถานที่ และบุคคลากรที่มากกว่าและมีความจำเพาะต่องานมากกว่าธรรมดา จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าและอาจมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าด้วย

การทำเด็กหลอดแก้วในคนประสบความสำเร็จครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว  และมีการแตกแขนงออกไปทำ GIFT, CIFT และ ICSI 

ประโยชน์การทำเด็กหลอดแก้ว   คือช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสตั้งครรภ์มีบุตรได้



ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว
 

หลังจากประเมินแล้วว่าฝ่ายชายสามารถผลิตอสุจิได้ ฝ่ายหญิงมีรังไข่ที่ยังทำงานผลิตไข่ได้มีมดลูกที่ตั้งครรภ์ได้และสุขภาพไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์แล้ว มีขั้นตอนดังนี้

กระตุ้นรังไข่  เพื่อให้ไข่ในรังไข่เจริญคราวละหลาย ๆ ฟอง  (ตามธรรมชาติ จะมีการเจริญขึ้นคราวละฟองเดียว --- เมื่อกระต้นให้ได้ไข่หลาย ๆ ฟองก็สามารถทำปฏิสนธิให้เกิดตัวอ่อนได้หลายตัวอ่อนในคราวเดียวกัน  และสามารถใส่ตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้คราวละมากกว่า 1 ตัวอ่อน  เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และเก็บแช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือไว้ใช้ต่อได้ด้วย)

ยาที่ใช้ในการกระตุ้นรังไข่มีหลายตัว  แล้วแต่แพทย์จะเลือกใช้ ในช่วงเวลาและจุดประสงค์จำเพาะที่แตกต่างกัน ได้แก่ Enantone, Cetrotide, Pergonal, Gonal-F, Pregnyl, Ovidel 

หลักการคือพยายามกระตุ้นไข่ให้เจริญเติบโตคราวละหลาย  ๆ ฟอง  และในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนของรังไข่ตอบสนองผิดปกติ หรือ มีการตกไข่ก่อนเวลาอันควร (เราต้องการกำหนดเวลาที่ไข่ควรจะตก  เพื่อจะได้เจาะดูดเอาไข่ออกมาก่อนที่มันจะตกหายไปในช่องท้อง)  ต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome - OHSS)   และระวังอาการจากการแพ้ยา

มีหลายเหตุการณ์ที่การกระตุ้นรังไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วต้องหยุดกลางคัน  และยกเลิกในรอบนั้น ๆ เช่น รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (ฮอร์โมนขึ้นมากเกิน) หรือ น้อยเกินไป (ได้ไข่เพียง 1-2 ฟอง) เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย  หรือเพื่อไม่ให้เกิดความไม่คุ้มค่า  จำเป็นต้องหยุดยาฉีด  และไม่มีการเจาะไข่เกิดขึ้น 

สิ่งที่เราใช้ เป็นเครื่องชี้วัดความพอดี  คือ จำนวนไข่ที่ถูกกระตุ้นขึ้นมา  และระดับฮอร์โมนที่สูงในเลือด ขณะไข่หลายฟองกำลังเจริญเติบโต  นั่นคือ  ท่านจะได้รับการทำอัลตราซาวนด์และการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเป็นระยะ ๆ  ( ฮอร์โมนเอสโตรเจน)  และคอยดูผลข้างเคียงของยาที่ให้  ที่อาจเกิดขึ้นได้แก่  น้ำหนักขึ้น  บวมน้ำ  คลื่นไส้  อาเจียน  ท้องเดิน  ปวดท้องน้อย  เจ็บคัดเต้านม  อารมณ์แปรปรวน  ปวดศีรษะ  อ่อนเพลีย  เป็นต้น

อาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป

การเกิดอาการนี้จะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมากเกินไปร่วมกับมีการฉีด HCG เพื่อทำให้ไข่ตกเกิดขึ้น  ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนคือ

1. มีการคั่งของน้ำในร่างกาย  และรั่วเข้ามาในช่องท้อง อาจรั่วเข้ามาในช่องปอดด้วย  ทำให้อึดอัดท้องและหายใจลำบาก

2. น้ำไหลออกจากเส้นเลือด  ทำให้เลือดข้นเกินไป  การไหลเวียนไม่ดี  ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือด  เกิดภาวะอุดตันและก้อนเลือดอาจหลุดไปอุดที่ปอดหรือที่สมองได้  อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต  หรือพิการ

3. รังไข่โตเกินขนาดทำให้มีโอกาสถุงรังไข่แตกหรือมีการปิดที่รังไข่ได้ (ทำให้ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน)
อาการทั้ง 3 อย่างนี้  อาจจะต้องทำให้คนไข้อยู่โรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวนานขึ้น

เพื่อคอยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้น  จึงต้องมีการตรวจและเฝ้าระวัง  คือ การเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและทำอัลตราซาวนด์รังไข่บ่อย ๆ การตรวจทั้ง 2 อย่างนี้นอกจากจะระวังเรื่องรังไข่ตอบสนองมากเกินไปแล้ว  ยังช่วยบอกจำนวนและขนาดของรังไข่ที่ถูกกระตุ้น  และระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ยาทำให้ไข่สุก  และเวลาในการเจาะไข่ด้วย  การเจาะเลือดบางทีก็ตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและ LH ด้วย (ระยะการกระตุ้นไข่จะอยู่ประมาณ 7 - 12 วัน) 

การเจาะเลือดก็ทำให้มีผลข้างเคียงได้ เช่น

1. เจ็บที่เข็มแทง
2. ผิวหนัง ที่เจาะเลือดมีการอักเสบ  ทำให้เจ็บ
3. เส้นเลือดแตก  เกิดรอยห้อเลือด
4. ทำให้เลือดแข็งตัวในเส้นเลือดดำทำให้มีอาการเจ็บบริเวณนั้นได้

การทำอัลตราซาวนด์  มักจะตรวจผ่านทางช่องคลอดไม่ก่อให้เกิดอันตราย  แต่รู้สึกไม่สะดวกเล็กน้อย  หรือเจ็บได้บ้างในช่วงที่ไข่ใกล้จะตก 

การกระตุ้นรังไข่ด้วยยากระตุ้นการตกไข่  อาจทำให้ไข่หรือถุงไข่โตและไข่ตกหลายฟองในคราวเดียวได้  การที่มีไข่ตกหลายฟองในคราวเดียวกัน  จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ  แต่ก็มีโอกาสเกิดครรภ์แฝดได้  สถิติพบครรภ์แฝดจากการผสมเทียมในหลอดแก้ว  20-25% ของการตั้งครรภ์  แต่เราจะพยายามไม่ใส่ตัวอ่อนเกินคราวละ 3 ฟอง เพราะกลัวจะเกิดครรภ์แฝดหลายคนเกินไป  และเกิดอันตรายต่อแม่และทารกได้

การเจาะไข่

การจะได้ไข่มาผสมกับอสุจิในหลอดแก้ว จะต้องเจาะผ่านทางช่องคลอดแล้วดูดออกมาโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์คอยบอกว่าถุงไข่และปลายเข็มที่เจาะรังไข่อยู่ตำแหน่งได  แล้วดูดเอาน้ำในถุงไข่ซึ่งมีไข่อยู่ด้วยออกมา(เจาะผ่านทางช่องคลอดเพราะรังไข่อยู่ใกล้บริเวณนั้น และผนังช่องคลอดบาง เจาะง่าย กผลข้างเคียงน้อย)  ปกติจะใช้เวลาประมาณ  30  นาที  สำหรับขั้นตอนนี้มีความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนได้คือ

1. ปฏิกริยาต่อยาดมสลบผิดปกติ
2. ผลจากการแทงเข็มผ่านช่องคลอด เช่น มีการอักเสบ  มีเลือดออก
3. การแทงไปถูกอวัยวะอื่นใกล้เคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ลำไส้  กระเพาะปัสสาวะ  เส้นเลือด  เป็นต้น

(โอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก  แต่ต้องกล่าวไว้  เพราะมีรายงาน บางคนต้องเย็บเพื่อหยุดเลือด  หรือมีการอักเสบมาก  จนอาจต้องตัดมดลูกได้)

การเก็บและเตรียมอสุจิ

ในขณะที่มีการเก็บไข่  สามีก็จะเก็บน้ำอสุจิออกมาโดยการช่วยตัวเอง (ก่อนถึงวันนี้สามี-ภรรยาต้องงดการหลับนอนด้วยกันและห้ามมีการหลั่งน้ำกาม 3-5 วัน)  หลังจากเก็บน้ำเชื้อได้ก็จะถูกส่งไปห้องแล็บ (Lab.) เพื่อเตรียมเอาเฉพาะเชื้ออสุจิที่แข็งแรงออกมา  เพื่อการผสมกับไข่ให้เกิดการปฏิสนธิ  สามีบางคนมีความเครียดในวันนั้น  ทำให้เก็บเชื้อไม่ได้  ถ้าใครคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นให้เก็บน้ำเชื้ออสุจิแช่แข็งในห้องปฏิบัติการของเราก่อน

การใส่เชื้ออสุจิในไข่และการเลี้ยงตัวอ่อน

หลังจากดูดน้ำออกมาจากถุงไข่แล้ว น้ำนั้นจะถูกส่งเข้าห้องแล็บ (Lab.) เพื่อตรวจดูว่ามีไข่อยู่หรือเปล่า แล้วเอามาเก็บเตรียมการปฏิสนธิกับอสุจิ  ตอนเจาะดูดไข่อาจได้ไข่ออกมาหลายฟอง ก็จะทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการทั้งหมดทุกฟอง  เพื่อให้ได้จำนวนตัวอ่อนมากที่สุด เพื่อตัวอ่อนที่เหลือจากการใส่ในโพรงมดลูกในครั้งแรก จะถูกแช่แข็งไว้แล้วนำกลับมาใส่ใหม่ในครั้งต่อไป 

ถ้าไม่สำเร็จ(หรือแม้ถ้าสำเร็จในครั้งแรกมีการตั้งครรภ์)  ส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ให้มีการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป  หรือหลังจากคลอดบุตรแล้วต้องการจะทำอีก (แต่ถ้าใครไม่ต้องการให้มีการแช่แข็งควรบอกแพทย์ เพื่อจะไม่เก็บตัวอ่อนไว้ หรือเมื่อตั้งครรภ์แล้วตัวอ่อนที่แช่แข็งอยู่ ผู้ป่วยไม่ต้องการใช้ อาจนำออกมาทำลายหรือบริจาคให้ผู้อื่นได้  )

วันรุ่งขึ้นหลังจากใส่เชื้ออสุจิรวมกับไข่ในหลอดแก้ว ก็จะสามารถตรวจดูได้ว่ามีการปฏิสนธิหรือไม่ โดยจะเห็นโปรนิวเคลียสของไข่และของอสุจิอยู่คู่กันในเซลล์ไข่ (เรียกเซลล์นี้ว่า Zygote) หลังจากนั้นจะปล่อยให้ Zygote เจริญและแบ่งตัวต่อไปอีก 2 วัน (เรียกตอนนี้ว่า ตัวอ่อน - Embryo) เป็น 4-8 เซลล์แล้วจึงนำไปใส่ในโพรงมดลูกของแม่ 

บางคนต้องการจะเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปอีก 2 วัน เพื่อให้เจริญเป็นบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) แล้วนำไปใส่ในโพรงมดลูก เพื่อหวังว่าจะมีการตั้งครรภ์มากขึ้นก็ได้ แต่การเลี้ยงจนถึงบลาสโตซิสต์อาจเหลือจำนวนบลาสโตซิสต์น้อยลง (บางตัวหยุดการเจริญไปก่อนจะเป็นบลาสโตซิสต์ เพราะความไม่สมบูรณ์ของตัวอ่อนหรือจากสิ่งแวดล้อมในหลอดแก้ว ที่ไม่เหมือนธรรมชาติ 100 %อยู่แล้ว) 

การใส่บลาสโตซิสต์อาจทำให้อัตราการตั้งครรภ์ต่อการใส่ตัวอ่อนแต่ละครั้งสูงขึ้น 10-20%  ซึ่งพ่อแม่จะต้องยอมรับที่ตัวอ่อนจะสลายไปบ้างก่อนได้บลาสโตซิสต์  และเป็นเรื่องที่ควรจะคุยปรึกษากันกับแพทย์ในกรณีมีการปฏิสนธิในไข่หลาย ๆ ฟอง

การใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก

ตัวอ่อนจะถูกใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ 3 หรือวันที่ 5 หลังจากเจาะดูดออกมาจากรังไข่  ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงตัวอ่อนถึง 4-8 เซลล์ หรือถึง บลาสโตซิสต์    ตัวอ่อนจะถูกใส่เข้าในโพรงมดลูกโดยใส่ผ่านท่อพลาสติกเล็ก ๆ สอดเข้าทางปากมดลูก 

ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องใช้ยาสลบ เพราะไม่เจ็บและไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลค้างคืน จำนวนตัวอ่อนที่ใส่ในแต่ละคราวจะไม่ให้เกิน 2-4 ตัวอ่อน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝดเด็กคราวละหลายคนเกินไป

ขณะใส่ตัวอ่อนอาจมีการบีบตัวของมดลูก  ทำให้มีอาการปวดได้บ้าง  การบีบตัวของมดลูกนี้อาจบีบให้ตัวอ่อนเข้าไปในท่อนำไข่  ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ตั้งครรภ์นอกมดลูกได้บางราย (มีอุบัติการณ์ 2-5% ของการตั้งครรภ์)  ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์โดยทำเด็กหลอดแก้วต้องคอยดูด้วยว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกแฝงอยู่ด้วยหรือไม่  (ซึ่งวินิจฉัยในระยะแรกได้ค่อนข้างยาก  มักตรวจพบเมื่อท่อนำไข่ตรงที่ตัวอ่อนไปฝังตัวถูกยืดมาก หรือจนแตกแล้ว)

เมื่อใส่ตัวอ่อนในโพรงมดลูกแล้ว  แม่จะต้องได้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเสริม  อาจเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือสอดใส่ทางช่องคลอดในรูปของยาเม็ดหรือเจลเพื่อเสริมฮอร์โมนกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความสมบูรณ์ที่จะเลี้ยงตัวอ่อนได้ดี 

เมื่อถึง 2 สัปดาห์หลังจากดูดเจาะไข่ จะให้ตรวจเลือดดูฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (BHCG) ถ้ามีการตั้งครรภ์จะให้ฮอร์โมนเสริมต่อไปอีก จนตั้งครรภ์ 8-12 สัปดาห์จึงหยุดให้เพราะหลังจากนั้นฮอร์โมนจากรกเลี้ยงตัวอ่อนได้เองพอเพียงแล้ว

การใส่ยาโปรเจสเตอโรนที่ช่องคลอด  อาจมีอาการข้างเคียง   ดังนี้

1. ช่องคลอดแห้ง
2. ท้องอืด
3. อาการหดหู่  อารมณ์แปรปรวน
4. ประจำเดือนอาจมาช้าไปบ้าง 

เปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งแปรตามจำนวนตัวอ่อนที่ใส่เข้าไป  แต่ถ้าใส่มากเกินก็เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝดที่มีเด็กมากเกิน  ซึ่งเสี่ยงต่อการแท้ง  การคลอดก่อนกำหนด ฯลฯ (ดูเรื่องครรภ์แฝด) และค่าใช้จ่ายที่อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลนานก่อนคลอด  เด็กได้รับการบริบาลนานและนอนโรงพยาบาลนานเพราะคลอดก่อนกำหนด  และความยากลำบากในการเลี้ยงลูกคราวเดียวหลายคน

นอกจากนี้เมื่อตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วแล้วก็มีโอกาสแท้งเหมือนกับการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ  มีโอกาสท้องทั้งในและนอกมดลูก (ถ้าเป็นท้องนอกมดลูกก็จำเป็นต้องรักษาโดยการส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องเพื่อรักษา)

ในกรณีที่มีตัวอ่อนเหลือแต่ละครั้ง  คนไข้อาจจะเลือกตัดสินใจว่า

1. แช่แข็งไว้ใส่ครั้งต่อไป

2. บริจาคให้คนอื่นที่ต้องการตัวอ่อน ( ซึ่งตามหลักการเราจะไม่ให้รู้ว่าให้กับใครและไม่ให้คนได้ตัวอ่อนทราบด้วยว่าได้จากใครเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในภายหลัง) 

3. ปล่อยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตในห้องทดลองจนหยุดการแบ่งตัวและสลายไปเอง 

ข้อพิจารณาสำหรับคู่สมรสที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้ว

ขบวนการทำเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์  รวมถึงการทำเด็กหลอดแก้ว  อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางจิตวิทยา เช่น ความเครียด  ความกังวล  ความผิดหวัง  เสียใจได้  หดหู่ท้อถอย ขาดความมั่นใจในตัวเองและผลของการทำจนสำเร็จสมใจนั้นมากที่สุดไม่เกิน 50%  ในแต่ละครั้ง  จึงต้องทำใจไว้ก่อน  และถ้าไม่มั่นใจในตัวเองอาจให้แพทย์แนะนำจิตแพทย์ให้ก่อนได้

นอกจากนี้  ระหว่างขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว  สตรีที่ทำต้องให้เวลาในการพบแพทย์เพื่อตรวจตามนัดทุกครั้ง  ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 3-6 สัปดาห์  แล้วแต่ว่าจะทำแบบใด  ฝ่ายชายต้องช่วยสนับสนุนและต้องพร้อมที่จะมานำน้ำเชื้ออสุจิออกมาเมื่อถึงเวลาเจาะดูดไข่  และทำการปฎิสนธิด้วย

การทำเด็กหลอดแก้วแต่ละครั้งอาจมีเหตุต้องล้มเลิกกลางคันแล้วเริ่มต้นใหม่ภายหลัง ไม่มีการรับประกันการตั้งครรภ์และการได้บุตร  มีเหตุผลมากมายทั้งที่อธิบายได้และอธิบายไม่ได้ที่ทำให้ไม่ตั้งครรภ์  ที่พอจะอธิบายได้  มีดังนี้

1. ไม่ได้ไข่ที่ต้องการ เนื่องจาก

- กระตุ้นไข่แล้วถุงไข่ไม่เจริญ  โตตามที่ต้องการ
- มีการตกไข่ (ไข่ตก) ก่อนถึงเวลาเจาะไข่
- ถุงไข่บางถุงเจาะดูดแล้วไม่ได้ไข่ออกมา
- มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานซึ่งยากที่จะเจาะไข่อย่างปลอดภัยได้

2. ไข่ที่ดูดออกมาได้อาจไม่ปกติ

3. มีปัญหาในการเอาอสุจิมาปฏิสนธิกับไข่  ได้แก่

- ถึงเวลาแล้ว  ฝ่ายชายเอาเชื้ออสุจิออกมาไม่ได้
- ได้เชื้ออสุจิน้อยเกินกว่าที่จะปฏิสนธิได้
- ห้องปฏิบัติการมีความสามารถบางอย่างไม่พอ
- กรณีขอเชื้ออสุจิบริจาคแล้ว  เมื่อถึงเวลาไม่ได้เชื้อมา

4. ไม่มีการปฏิสนธิ  แม้ไข่และอสุจิจะตรวจแล้วว่าปกติ

5. ตัวอ่อนไม่เจริญแบ่งตัวตามที่ควรจะเป็น

6. การใส่ตัวอ่อนทำยาก  หรือใส่ไม่ได้  หรือ ใส่ได้แต่ไม่มีการเกาะที่เยื่อบุโพรงมดลูก  หรือไม่มีการเกาะ  แต่ไม่เจริญ ต่อไป

7. ขั้นตอนต่าง ของ การทำเด็กหลอดแก้ว  ประสบปัญหาที่ไม่ได้คิดมาก่อน  เช่น ความแปรปรวนสิ่งแวดล้อม เครื่องมือเสีย  สภาพห้องปฏิบัติการผิดปกติ

8. มีการไม่สบายของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย 

9. ความผิดพลาดของปุถุชน ฯลฯ

เมื่อมีการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว  ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ธรรมชาติ  ได้แก่  การตั้งครรภ์แล้วเด็กไม่เจริญเติบโต  การแท้ง  การท้องนอกมดลูก  การคลอดก่อนกำหนด  การพิการแต่กำเนิด  และความผิดปกติทางยีนส์ของเด็กที่เกิดมา  แต่ที่แตกต่างคือ  มีอัตราการตั้งครรภ์แฝดมากกว่าธรรมชาติ  ทำให้มีโรคที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์แฝดมากกว่า  คือ  ครรภ์เป็นพิษ  การแท้ง  การคลอดก่อนกำหนด  การตายคลอด เป็นต้น

สรุป

การทำเด็กหลอดแก้วเป็นกระบวนการสุดท้ายที่การรักษาโดยวิธีธรรมดาที่ง่ายกว่าแล้วไม่ตั้งครรภ์  ซึ่งได้แก่  การคะเนการตกไข่และมีเพศสัมพันธ์  การกระตุ้นการตกไข่  การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะที่ผิดปกติ  การผสมเทียมโดยการฉีดเชื้อ  เป็นต้น  ซึ่งสาเหตุของการมีบุตรยากมีมากมาย  และมีความรุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน มีขบวนการที่แตกแขนงออกไปเช่น การทำ ICSI CIFT GIFT TESE ฯลฯ  

ถึงกระนั้นการทำเด็กหลอดแก้วก็ไม่ใช่จะได้ผลสำเร็จเป็นส่วนใหญ่  จะต้องอาศัยความร่วมมือและความอดทนสูงของคู่สมรสด้วย  แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วโอกาสปกติและผิดปกติของเด็กเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ  ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แฝดที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วจะมีมากกว่า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์