โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 
"นอนกรน" ไม่ใช่แค่ต้นเหตุที่รบกวนการนอนหลับของคุณและเพื่อนร่วมห้อง แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย

 
 หากโครงสร้างภายในลำคอมีขนาดใหญ่เกินไป หรือกล้ามเนื้อมีการผ่อนคลายมากเกินไปในขณะนอนหลับ ช่องทางเดินอากาศจะถูกอุดกั้นไปบางส่วน ทำให้ทางเดินอากาศแคบลง ลมหายใจเข้าออกจึงแรงกว่าปกติ โครงสร้างภายในลำคอจึงเกิดการสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
       
        ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
       
       - เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อจากผลของฮอร์โมน ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณคอหย่อนยานลง
       - อายุมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยาน มีการสะบัดของเนื้อเยื่อและอุดตันง่ายขึ้น
       - ความอ้วน ทำให้มีการสะสมไขมันและอุดตันบริเวณลำคอ
       - เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
       - ยานอนหลับ และยาคลายเครียด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
       - บุหรี่ ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจได้บ่อย
       - โครงสร้างของกระดูกใบหน้า กรามสั้น ลิ้นอยู่ทางด้านลำคอมาก มีโอกาสที่โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในขณะหลับ
       
        การนอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
       
       1.นอนกรนอย่างเดียว ไม่มีภาวะของการหยุดหายใจ เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ ผู้ป่วยจะนอนกรนค่อนข้างสม่ำเสมอ ไม่มีการสะดุด
       
       2.นอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจ เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ ลักษณะการกรนจะค่อนข้างดัง และมีอาการสะดุด มีเสียงดังสลับค่อยเป็นช่วงๆ หรืออาจสะดุ้งตื่นกลางดึก สำลักน้ำลาย นอนหลับไม่สนิท
       
        ผลที่เกิดขึ้นจากการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
       
       1.ผลกระทบทางสังคม ได้แก่ รบกวนผู้ที่นอนด้วย อาจนำไปสู่การหย่าร้าง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อุบัติเหตุจากการหลับใน เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุจากการทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น
       
       2.ผลกระทบต่อสุขภาพ จากการที่ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นอุดตัน ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าสู่ปอดได้ ระดับออกซิเจนในเลือดจะลดต่ำลง และไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ เช่น สมอง ปอด หัวใจ ไม่เพียงพอ สมองจึงออกคำสั่งให้ร่างกายตื่นขึ้น เพื่อให้กล้ามเนื้อตึงขึ้นและช่องทางเดินอากาศเปิดโล่งขึ้น การอ้าปากให้กว้างขึ้นก็จะช่วยให้การหายใจเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งกระบวนการเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งคืน ทำให้นอนหลับไม่สนิท ปวดศีรษะหลังตื่นนอน อ่อนเพลียตลอดทั้งวัน อารมณ์หงุดหงิดง่าย ความจำแย่ลง และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีก เช่น สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอัมพฤกษ์อัมพาต
       
       ภาวะดังกล่าว หากเกิดขึ้นในเด็กจะเป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมอง รูปร่างของใบหน้าอาจเปลี่ยนแปลง และปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ปัสสาวะรดที่นอน
       
        แนวทางการประเมินก่อนทำการรักษา
       

       ผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนกรน แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับการนอนและอาการกรน อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยา
       
       จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อประเมินตำแหน่งและความรุนแรงของโรค มีการตรวจทางจมูก ลำคอ โคนลิ้น รูปร่างใบหน้า วัดรอบคอ น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต มีการส่องกล้องเพื่อดูปฏิกิริยาการหดตัวของอวัยวะในลำคอและโคนลิ้นขณะหายใจเข้า และส่งตรวจเอกซเรย์กะโหลกศีรษะเพื่อประเมินตำแหน่งที่มีการอุดตัน และขั้นตอนที่สำคัญ คือ ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจเนื่องจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดตันขณะหลับ แพทย์จะส่งตรวจการนอนหลับ
       
       การตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจปัจจัยต่างๆ ที่มีผลจากการนอน คือ ตรวจคลื่นสมองเพื่อวัดระดับความลึกของการนอน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจระดับออกซิเจนในเลือดแดง ตรวจการผ่านเข้าออกของลมหายใจทางปากและจมูก ตรวจการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ และตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ
       
       ในห้องปฏิบัติการบางแห่งอาจมีการวัดระดับเสียงกรน และบันทึกภาพวิดีโอไว้ด้วย การตรวจการนอนหลับนี้จะตรวจในช่วงกลางคืน ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง
       
        การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจการนอนหลับ
       

       - ควรอาบน้ำสระผมให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผมหรือน้ำมันต่างๆ เพราะจะช่วยให้เครื่องตรวจจับติดแน่นดียิ่งขึ้น หากเป็นชาย ควรโกนหนวดและเคราด้วย

       - ทำตัวเป็นปกติตามตารางเวลาที่เคยปฏิบัติ เช่น การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานยา หรืออาจถามแพทย์ก่อนว่าคุณควรทำเช่นนั้นหรือไม่ในคืนที่เข้ารับการตรวจ

        ข้อมูลจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจการนอน จะช่วยประเมินว่า

       - ผู้ป่วยนอนกรนมากน้อยเพียงใด เป็นการนอนกรนชนิดธรรมดา หรือเป็นโรคนอนกรนชนิดที่มีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย

       - ทราบตำแหน่งที่ทำให้เกิดภาวะนอนกรนหรือนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจพบได้บริเวณจมูก ลำคอ หรือโคนลิ้น

       - ถ้ามีการหยุดหายใจร่วมด้วย จะทราบว่าเกิดจากการอุดตันของระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือเกิดจากความผิดปกติของสมอง หรือทั้ง 2 กรณี และความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับใด

การรักษาผู้ป่วยโรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ทำได้หลายวิธี ได้แก่
       
        1. การดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยผู้ป่วยเอง ได้แก่
       
       - ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูง
       - ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่อย่าให้เหนื่อยล้าจนเกินไป
       - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
       - หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท
       - นอนตะแคง เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและโคนลิ้นไม่อุดกั้นทางเดินหายใจ
       - รักษาโรคภูมิแพ้ เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อภายในจมูกบวม
       
        2. การใช้เครื่องอัดอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
       
       เครื่องอัดอากาศหรือเครื่องเป่าลม มีชื่อว่า CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) มีลักษณะคล้ายหน้ากากออกซิเจน ซึ่งจะส่งกระแสลมผ่านจมูกไปสู่ลำคอ ทำให้ทางเดินหายใจขยายกว้าง ลดภาวะอุดตันขณะนอนหลับ
       
       อย่างไรก็ตาม CPAP ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องนี้ตลอดทั้งคืนและทุกคืน แม้จะเป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญไม่น้อย ดังนั้น ก่อนจะซื้อ CPAP ซึ่งมีหลายชนิดให้เลือกใช้ ควรปรึกษาแพทย์ ผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่าย ให้ดีเสียก่อน
       
       CPAP จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อจมูกโล่ง หากมีโรคภูมิแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้โพรงจมูกอุดตัน ควรรักษาให้หายก่อนที่จะใช้เครื่องนี้ หลังใช้เครื่อง CPAP อาจทำให้โพรงจมูกแห้ง เครื่องฉีดละอองไอน้ำหรือเครื่องทำความชื้นอาจช่วยลดปัญหาได้
       
        3. เครื่องมือที่ใช้ทางปาก
       
       จะถูกใส่เข้าไปในปากเวลากลางคืน อาจช่วยให้เสียงกรนดังน้อยลงหรือเงียบเสียง และช่วยรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างอ่อนๆ ได้ โดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะจัดให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน
       
       เครื่องมือชนิดนี้มีหลายรูปร่างลักษณะ บางชนิดยึดลิ้นให้อยู่ข้างหน้าเพื่อไม่ให้ลิ้นกระดกกลับไปอุดตันลำคอ บางชนิดยึดแถวฟันให้เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย โดยการเคลื่อนย้ายโครงสร้างลำคอไปกับมันด้วย เพื่อให้ช่องทางเดินอากาศเปิด บางชนิดยกลิ้นไก่และเพดานอ่อนขึ้นไป เพื่อไม่ให้ตกลงมาอุดตันลำคอ
       
       อาจมีการตรวจสอบการนอนหลับซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือติดตั้งเข้าไปอย่างถูกต้องกับลักษณะแนวฟัน และฟันก็ยังมีสุขภาพดีอยู่ตลอด ทันตแพทย์จะอธิบายวิธีการความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งโดยทั่วไปจะล้างทุกเช้าด้วยนำเย็น เพื่อล้างน้ำลายออก และแช่ในน้ำยาล้างอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
       
       เครื่องมือที่ใช้ทางปากไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับเช่นเดียวกัน ดังนั้น ต้องใช้ตลอดทั้งคืนและทุกคืน อาจรู้สึกระคายเคืองเล็กน้อยในตอนเช้าหลังจากใช้เครื่องมือนี้แล้ว หากอาการระคายเคืองนี้ไม่หายไป ควรปรึกษาแพทย์
       
        4. การผ่าตัด มีหลายวิธี ได้แก่
       
       - การผ่าตัดตกแต่งบริเวณลำคอและเพดานอ่อน เป็นการลดขนาดของเนื้อเยื่อบริเวณลำคอที่เกินความจำเป็น ประกอบด้วยการผ่าตัดเนื้อเยื่อบริเวณต่อมทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ เพื่อให้อากาศผ่านได้สะดวก และไม่มีเนื้อเยื่อที่สะบัดขณะนอนหลับ ทำให้อาการกรนลดลง การผ่าตัดชนิดนี้ต้องดมยาสลบ และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะมีอาการเจ็บหลังผ่าตัดได้ประมาณ 7-10 วัน
       
       - การตกแต่งบริเวณเพดานอ่อนโดยใช้แสงเลเซอร์ เป็นการผ่าตัดลดขนาดของเพดานอ่อนและลิ้นไก่ โดยใช้แสงเลเซอร์ สามารถผ่าตัดโดยใช้ยาชา และไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง

       นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดพับลิ้นไก่ขึ้นสู่ด้านบนบริเวณเพดานอ่อน การผ่าตัดเพื่อดึงกล้ามเนื้อลิ้นและเลื่อนกระดูกซึ่งเป็นที่เกาะติดของกล้ามเนื้อลิ้นมาทางด้านหน้า และการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า เพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
       
       ผลกระทบหลังการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อาหารหรือของเหลวไหลผ่านลงไปในโพรงจมูกระหว่างกลืนอาหาร เสียงเปลี่ยนไปชั่วคราวหรือถาวร มีเลือดออก การอักเสบ การติดเชื้อ ลิ้นแข็งหรือตึง และอาจทำให้อาการกรนหายไป แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังคงอยู่
       
        5. การใช้คลื่นวิทยุ
       
       เป็นเครื่องมือพิเศษ ลักษณะคล้ายเข็มที่ทำหน้าที่ส่งผ่านคลื่นวิทยุเข้าสู่เนื้อเยื่อที่อุดกั้นทางเดินหายใจ ได้แก่บริเวณลิ้นไก่ เพดานอ่อนทั้ง 2 ข้าง และเนื้อเยื่อที่คลุมด้านหน้าและหลังของต่อมทอนซิล พลังงานจากคลื่นวิทยุจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่ให้สูงมากนัก ซึ่งจะไม่ทำลายเซลหรือเนื้อเยื่อ แต่จะทำให้เนื้อเยื่อหดตัวลง
       
       การรักษาด้วยคลื่นวิทยุสามารถรักษาได้ทั้งเสียงกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้ผลประมาณ 75-85% ใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องดมยาสลบ ใช้เวลาเพียง 15-30 นาที ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ยกเว้นการทำบริเวณโคนลิ้น อาจจำเป็นต้องสังเกตอาการ 1 คืน ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแผลเล็กน้อย 2-3 วัน อาจมีอาการระคายคอและคัดจมูกบ้าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการรักษา
       
       ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยคลื่นวิทยุซ้ำ 2-3 ครั้ง ห่างกันแต่ละครั้ง 1-2 เดือน อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นทีละน้อย โดยเริ่มรู้สึกดีขึ้นหลังทำประมาณ 4 สัปดาห์ และอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้ผลสูงสุดที่ 6-8 สัปดาห์
       
        หากคุณนอนกรน เป็นไปได้ว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อขอคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 
การไม่มีโรคคือลาภ อันประเสริฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์