ประจำเดือนแบบไหนที่ควรตกใจ
ประจำเดือนเป็นเรื่องใกล้ตัวสาวๆทุกคน แต่ก็ใช่ว่าเราจะรู้เรื่องนี้กันดีนัก
พอเกิดอาการผิดแผกแตกต่างจากเดือนก่อนๆขึ้นมา สาวๆก็ตกใจแทบสิ้นสติ มาเรียนรู้เรื่องประจำเดือนกันเถอะ จากข้อมูลตามคำชี้แนะเบื้องต้นของ คุณหมอ วิชิต สุทธิพงศ์ สูตินารีแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
วิธีสังเกตประจำเดือนผิดปกติแบบง่ายๆ
ขั้นแรกให้ลองเปรียบเทียบกับประจำเดือนปกติ ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1. ระยะเวลาเลือดประจำเดือนออกจะอยู่ในราว 4 - 6 วัน หากนานกว่า 7 วันถือว่าผิดปกติแล้ว
2. ปริมาณเลือดประจำเดือนในแต่ละเดือนประมาณ 30 มล.ขึ้นไป แต่ถ้ามากกว่า 80 มล. ถือว่าผิดปกติ
3. ระยะห่างระหว่างประจำเดือนจะมีเวลาประมาณ 24 - 35 วัน
หากมีลักษณะของประจำเดือนผิดไปจากที่กล่าวมาข้างต้น เช่น มีปริมาณมากกว่าปกติ, รอบของประจำเดือนมีระยะเร็วกว่า 24 วัน หรือช้ากว่า 35 วัน, มีประจำเดือนมากและนาน หรือมีไม่เสมอต้นเสมอปลาย ก็ให้ถือว่าเข้าข่ายประจำเดือนมาไม่ปกติแล้ว
สาเหตุและการรักษา
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติมีอยู่ 2 ประเภทคือ ประเภทแรกเป็นความผิดปกติจากการสร้างฮอร์โมนของรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเป็นโรคบางอย่างเกี่ยวกับสมองที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ ส่วนประเภทที่สองมีสาเหตุมาจากโรคเลือดบางชนิด ที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการเลือดแข็งตัวช้า หยุดไหลได้ยาก หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบางอย่างในโพรงมดลูก
ส่วนวิธีรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของความผิดปกติ หมออาจจะรักษาด้วยยา ฮอร์โมน หรือวิธีอื่นๆตามแต่กรณี
ควรตรวจภายในตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
จริงๆแล้วไม่มีกำหนดอายุที่แน่นอน แต่หากแต่งงานมีบุตรแล้วก็ควรตรวจภายในและตรวจคัดกรองปากมดลูกปีละหน ในกรณีที่อายุน้อยกว่า 45 ปี และไม่พบความผิดปกติในครั้งแรก ก็สามารถเว้นช่วงห่างในการตรวจประมาณ 3 - 5 ปีต่อครั้ง
สำหรับสาวๆช่างสงสัยว่าเมื่อไรนั้น ก็ให้ดูว่าหากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกนอกรอบเดือน มีอาการปวดท้องน้อย หรือคลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย คุณหมอแนะนำว่าควรพบสูตินารีแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา และข้อสำคัญคือ หากพบอาการผิดปกติอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ยิ่งในปัจจุบันนี้มีสูตินารีแพทย์ที่เป็นหญิงมากขึ้น คุณสามารถเข้ารับการรักษาและรับคำปรึกษาได้อย่างสะดวกและสบายใจ
หลังประจำเดือนหมด 2 - 3 วัน มีเลือดออกกะปริดกะปรอยสีค่อนข้างคล้ำ ถือว่าผิดปกติหรือไม่
ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ปกติทั่วไปประจำเดือนมักมามากในช่วง 1 - 2 วันแรก จากนั้นจะค่อยๆลดลงจนกระทั่งจางหมดไป ในบางรายอาจมีลักษณะกะปริดกะปรอยบ้างซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากมีเลือดประจำเดือนออกซ้ำหลังประจำเดือนหมดไปนานแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที
การกินยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว หรือเพื่อเลื่อนประจำเดือน มีผลกระทบอย่างไร?
ข้อนี้คุณหมอบอกว่า ในบางรายจะมีกระทบบ้างแต่ก็ไม่เป็นอันตรายรุนแรง เช่น อาจเกิดอาการแพ้ยาคุมกำเนิด แต่โดยทั่วไปไม่มีผลกระทบหากใช้ยาภายใตคำแนะนำและการควบคุมของแพทย์ ดังนั้นสาวๆก็ไม่ควรไปซื้อยามาใช้เอง ถ้าอยากสวยขอแนะนำว่าไปพึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่ากันเยอะ