ตี๋ แม็ทชิ่ง ปั้นธุรกิจพันล้านด้วย ลูกบ้า กล้าที่จะฝันนอกกรอบ ตอนที่ (1)



จากประชาชาติธุรกิจ ฉบับ วันที่30 มค 2549
คอลัมน์ เศรษฐีพันธุ์ใหม่

"...ชีวิตของผมบอกได้เลยว่ายืนขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง..."

นี่คือคำสรุปสั้นๆ ของชีวิตหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในมนุษย์มหัศจรรย์พันธุ์ใหม่

มหัศจรรย์ด้วยระบบความคิดที่ฉีกกรอบ

มหัศจรรย์ด้วยความ "บ้า" ที่ "กล้า" จะ "คิด" จะ "ฝัน" และ "ลงมือ"

เป็นความมหัศจรรย์ของคนพิเศษที่ชื่อ "สมชาย ชีวสุทธานนท์" หรือที่ รู้จักในนาม "ตี๋ แม็ทชิ่ง"

จากธุรกิจที่เริ่มด้วยโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ณ วันนี้เขาต่อยอดจนบริษัทมีสินทรัพย์ 963.60 ล้านบาท และเติบโตในตลาดหลักทรัพย์ไทยในชื่อของ บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)

ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่ 18.65% หรือ 38,764,783 หุ้น หากจะตีเป็นมูลค่าตามราคาตลาดในวันนี้อาจดูเหมือน "ตี๋ แม็ทชิ่ง" จะสะสมความมั่งคั่งไม่หวือหวาสักเท่าไร เพราะหากขายหรือแปลงเป็นเม็ดเงินออกมาอาจอยู่ในราว 77,526,566 บาทเท่านั้น !

แต่มูลค่าที่แท้จริงดูเหมือนจะอยู่ที่ความพิเศษ พิสดาร จากเส้นทางการเติบโตของเขา รวมถึงวิธีคิด แนวทางการทำธุรกิจของเถ้าแก่พันธุ์ใหม่ที่กลายเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ก้าวเดินตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

สมชายหรือ "ตี๋" เป็นลูกจีนในครอบครัวใหญ่ มีพ่อเป็นเจ้าของโรงงานเล็กๆ ทำเข็มหมุด ที่หนีบกระดาษ และตะกั่วถ่วงแห อวน ที่ถูกโชคชะตาเล่นตลกตั้งแต่เล็กกำหนดให้เขาต้องเป็นโปลิโอที่แขนขวาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ

หากเป็น "โปลิโอ" ที่สร้างให้เขาเป็นอะไรได้มากมายในชีวิต เป็น "ลูกเป็ดขี้เหร่" ของครูที่โรงเรียนพรประสาทวิทยา และเป็นปมด้อยที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจในวัยกระเตาะ

ปมด้อยที่ทำให้เขาเจ็บและผูกแค้น ลูกเป็ดขี้เหร่ที่น่ารักของครูเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก้าวร้าว เกเร หนีเรียน เที่ยวกลางคืน ขโมยเงินพ่อ ตีรันฟันแทง ฯลฯ

กลายเป็นเด็กอันธพาลที่ผลการเรียนร่วงกราวรูด คะแนนสอบเหยียบเส้นยาแดงผ่าแปด

หนึ่งในจุดพลิกผันที่ฉุดให้เขาไม่เตลิดไปไกลกว่านั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางและสภาพแวดล้อมที่ตรงกับความรักชอบของตัวเอง

"ตี๋" ค้นพบตัวเองว่าเขารักงานศิลป์ แม้ในความเป็นจริงเขาจะเรียนที่ พาณิชย์พระนคร

อย่างน้อยบรรยากาศที่นั่นหล่อหลอมเขาในหลายเรื่อง เขาเป็นทั้งประธานเชียร์ เป็นประธานนักเรียนซึ่งแม้จะถูกกล่าวขวัญว่าเฮี้ยวที่สุด แต่ก็จุดประกายความคิดใหม่ๆ ความรักเพื่อนพ้อง และรับผิดชอบในกลุ่มก้อนของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มแสวงหาอาชีพให้ตัวเองจากเซลส์แมนสู่การเป็นเด็กฝึกงานที่เอวี คราฟท์ สตูดิโอ โปรดักชั่น สถานที่สะกิดความประทับใจในวัยเยาว์ให้เติบโตอีกครั้ง

"ตอนผมอายุ 11-12 ผมเป็นคนที่ชอบกินกูลิโกะ ป๊อกกี้ รสช็อกโกแลตมาก ผมเคยดูโฆษณาที่บอกว่า เมื่อซื้อสินค้านี้แล้วตัดฝากล่องส่งไปจะได้รับรางวัล ผมก็ส่งไปและได้รางวัลชมเชยเป็นหุ่นกระบอกมือ ดีใจมาก...ตรงนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมเวลาพ่อแม่สอนเราไม่ฟัง แต่เวลาเราดูหนังโฆษณาแวบเดียวเราเชื่อเขา..."

ความรู้สึกวูบวาบนั้น บวกกับความกดดันจากปมด้อย กลายเป็นพลังขับเคลื่อนพาให้เขาเป็น "ตี๋ แม็ทชิ่ง" ได้อย่างนึกไม่ถึง


ตี๋ แม็ทชิ่ง ปั้นธุรกิจพันล้านด้วย ลูกบ้า กล้าที่จะฝันนอกกรอบ ตอนที่ (1)

ปัจจัยที่เร่งให้ชีวิตของเขา "ต้องเปลี่ยน" อีกจุดหนึ่งคือ มรสุมเศรษฐกิจซัดเข้าใส่ครอบครัวอย่างหนักถึงขนาดที่ทำให้พ่อต้องหนี "ตี๋" ลูกชายคนแรกเด็กเกเรจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นหัวหน้าครอบครัว ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างหนักแทน !

จากความทึ่งในพลังของงานโฆษณาบวกกับภาพของเพื่อนที่ได้ขึ้นไปรับรางวัลบนเวที "แทคท์อะวอร์ด" ก่อรูปเป็นฝันที่เขาอยากจะไปยืนตรงนั้นบ้าง

จากพนักงานเอวี คราฟท์ฯ เขาย้ายตัวเองไปเป็นโปรดิวเซอร์ของบริษัทโฆษณาชั้นนำฟาร์อีสท์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง และที่นั่นเองทำให้เขาได้พิสูจน์ฝีมือพาบริษัทไปคว้ารางวัลอันทรงเกียรติที่เขาใฝ่ฝัน ชื่อของเขาติดทำเนียบโปรดิวเซอร์มือดีในวงการ

แต่เขาก็พลิกชีวิตตัวเองอีกครั้งด้วยการตัดสินใจขยับขยายสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเปิดบริษัทในรูปแบบ "โปรดักชั่นมือถือ" ทำงานด้วยออฟฟิศเคลื่อนที่

ผลก็คือ "กินแห้ว" ไปนานกว่า 6 เดือนก่อนที่โอกาสจะเปิดทางสว่างให้อีกครั้ง

"ผมไปของานกับคุณชายธีรเดช รัชนี ตอนนั้นท่านอยู่นีดแฮล์ม ท่านให้งานมิตซูบิชิ มิสเตอร์มาราธอน ดีใจมาก บริษัทยังไม่มีชื่อ ได้งานแล้ว"

โอกาสเปิดประตูต้อนรับเขาอย่างเต็มที่ กลายเป็นผู้กำกับฯมือดี ทำงานคู่กับตากล้องฝีมือเยี่ยม "ดอม-ธนิสสพงศ์ ศศิมานพ" ผู้กลายเป็นคู่บัดดี้ต้นตอของ "แม็ทชิ่ง สตูดิโอ" ในเวลาต่อมา

"ตอนนั้นพี่ดอมเพิ่งออกจากสยามสตูดิโอ มีนายทุนพยายามเอาเงินให้เขาเปิดบริษัท แต่เขามาเลือกผม...ผมโดดใส่เลย ถามเขาว่าทำไมเลือกผม เขาบอกเห็นผมบ้าดี ผมบอกว่าผมไม่มีสตางค์นะ เขาก็บอกว่าเหมือนกัน แต่เรามีเจตจำนงเดียวกันว่าต้องทำบริษัทออกมาให้ดีที่สุด"

...ไม่ใช่เพื่อธุรกิจแต่เพื่อทำหนัง...

ต้นกำเนิดของแม็ทชิ่ง สตูดิโอจึงเกิดขึ้นด้วย "ความอยาก" และความปรารถนาในการทำงานตามวิถีทางที่ชัดเจนในตัวเองมาตั้งแต่ต้น !!

จากนั้น "ตี๋" ทำงานหนัก รักสนุก คลุกคลีกับลูกค้า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แถมยังใจกล้า คำนึงถึงคุณภาพ และยังผลักดันให้ทีมงานได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง ผลงานที่ออกจากบริษัทนี้จึงถูกตาต้องใจผู้คนโดยตลอด

เงินทุนก้อนแรกที่ลงไป 2 แสนบาทจึงเติบโตอย่างรั้งไม่อยู่ รับทั้งเงินทั้งกล่องโดยเฉพาะจากผลงาน "ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค" ของแบล็คแคต, "เต่าเรียกแม่" ของมิสทิน ฯลฯ ทั้งยังไปสร้างชื่อในเวทีประกวดโฆษณาทั้งในเอเชียและยุโรป เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งด้วยยอดบิลลิ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งในปี 2544 แล้ว แม็ทชิ่ง สตูดิโอภายใต้การนำของเขายังได้รับการจัดอันดับจาก The Gunn Report ตีพิมพ์ในนิตยสาร Creative Review ว่า แม็ทชิ่งฯติดอันดับ 5 ของโลกในฐานะโปรดักชั่นเฮาส์ที่ได้รับรางวัลมากที่สุด

แม็ทชิ่ง สตูดิโอโด่งดังสุดๆ และยังสร้างปรากฏการณ์ด้วยการเป็น "โปรดักชั่นเฮาส์" บริษัทแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

..."คนที่บอกว่าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วน่ากลัวผมกลับไม่รู้สึกกลัว มันทำให้ผมเฟิร์มขึ้นตรงที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจของตลาด"

ไหนๆ โดดเด่นเช่นนี้แล้วยังเป็นบริษัทของตี๋ แม็ทชิ่ง แล้วในวันแรกของการที่ MATH ปรากฏตัวบนกระดานของตลาดหลักทรัพย์ MAI จึงเป็นข่าวครึกโครมยิ่งด้วยมุขการประชาสัมพันธ์ที่ "ซีอีโอตี๋" ลงทุนโหนตัวลงมาจากอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546

"...ผมต้องการสร้างความแปลกให้คนจดจำ ต้องการให้เป็นข่าว แต่ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดี ผมต้องการให้คนเห็นถึงศักยภาพการทำงานของเรา ต้องการให้คนรู้จักว่าแม็ทชิ่งฯคือใคร...ผมอยากทำอะไรให้แปลกออกไป นี่คือการโฆษณาให้บริษัทเราเอง ไม่ต้องไปซื้อสื่อ"

เป้าหมายใหญ่ของตี๋ คือ การขยายฐานออกสู่ต่างประเทศเพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมนี้แข็งแรงยืนหยัด

ความคิดนี้จึงเป็นที่มาของการแตกไลน์สู่บริษัทลูก ทั้งแม็ทชิ่ง เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผลิตรายการโทรทัศน์ จัดอีเวนต์ จัดโชว์, แม็ทชิ่ง มูฟวี่ทาวน์ เมืองสร้างหนัง, แม็ทชิ่ง โมชั่นพิคเจอร์ส ผลิตและรับผลิตหนังไทยและต่างประเทศ, แฟ็ตบอยแอนด์ลิตเติ้ลบอย ทำหนังโฆษณา-สื่อโทรทัศน์-ภาพนิ่ง-แฟชั่น-หาโลเกชั่น-นักแสดง, เกียร์เฮด บริการเช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ และแม็ทชิ่ง เทเลวิชั่น ผลิตงานส่งวิทยุและโทรทัศน์

ในช่วงต้นปี 2548 แม็ทชิ่ง สตูดิโอได้ขยับขยายตัวเข้าสู่ตลาด SET ด้วยสินทรัพย์ของกิจการเกือบ 1,000 ล้านบาท และตั้งเป้าจะเดินหน้าสู่ธุรกิจทีวีครบวงจรอย่างไม่หยุดยั้งด้วยการเปิดบ้านรับพันธมิตรธุรกิจ "บีบีทีวี โปรดักชั่นส์" บริษัทลูกของช่อง 7 ให้มาถือหุ้น 27.79% หรือ 57,745,000 หุ้น ถอยตัวเองมาเป็นผู้ถือหุ้นรองที่ 18.68% หรือ 38,764,783 หุ้น

ตามด้วยโปรเจ็กต์อภิมหาใหญ่รับหน้าที่เป็นผู้จัดการประกวดขาอ่อนระดับโลก "มิสยูนิเวิร์ส 2005" ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในงบประมาณสูงถึง 520 ล้านบาท

และวาดภาพสวยสุดหรูด้วยโครงการจะทำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI อีกด้วย

!

แต่...แผน "คิดการใหญ่" ทั้งหมดต้องชะงัก ด้วยตัวเลข 9 เดือนแรกของปี 2548 ที่ผ่านมา ผลประกอบการติดตัวแดงไปถึง 117 ล้านบาท



ทั้งๆที่เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิเมื่อปีก่อนที่มีถึง 31.21 ล้านบาท ผลประกอบการลดลง 148.21 ล้านบาท หรือ 474.88%

ผลเกิดจากหนังไทย 2 เรื่อง "ซีอุย" และ "ก็เคยสัญญา" ที่ฟันไป 25.07 ล้านบาท รวมไปถึงรายการทีวี "ตีท้ายข่าว" ก็ไม่ประสบความสำเร็จขาดทุนไปอีก 10 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เท่าการรับเป็นผู้จัดการประกวดนางงามจักรวาลปี 2548 งานนี้เจ็บตัวไปอีก 62 ล้านบาท

เจ็บนี้หนักนัก แต่สำหรับตี๋ แม็ทชิ่งแล้วเขากำลังจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกความเจ็บให้เป็นพลัง แก้โจทย์ชีวิตอีกครั้ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์