ประวัติศาสตร์ช่างกล

ประวัติศาสตร์ช่างกล

ประวัติช่างกลปทุมวัน

เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ได้มีคณะนายทหารเรือคณะหนึ่งได้ตระหนักถึงเรื่องการปลูกฝังอาชีพช่างให้กุลบุตรของชาติ เพราะตั้งแต่ต้นมาวิชาชีพต่างๆตกอยู่ในมือชาวต่างชาติ คณะนายทหารเรือชุดนั้น น.อ. พระประกอบกลกิจ  ร.น. เป็นผู้นำ พร้อมกับคณะของท่านได้ร่วมมือกันออกหนังสือแจ้งความจำนง ใคร่ขอตั้งโรงเรียนอาชีพแขนงช่างกล เพื่อฝึกฝนวิชาความรู้ให้แก่กุลบุตรของชาติไทยเรา  โดยช่วยกันออกทุนคนละ  100 บาท แต่เก็บเดือนละ 5 บาท จนครบ นายทหารเรือในคณะของท่านเห็นชอบด้วยการดำเนินกิจการจึงเริ่มขึ้นโดยมี ร.ต. สงบ   จรูญพร  ร.น. (ยศสมัยนั้น)  เป็นผู้วิ่งเต้นช่วยเหลือ หลังจากได้รวบรวมเงินทีละเล็กทีละน้อยจนได้มากพอสมควรแล้ว ก็เริ่มจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนทีละอย่างสองอย่างสะสมไว้ เช่น เตาเผาเหล็กทั่ง , ค้อนปากกาจับเหล็กตะไบ และอื่นๆ ที่จำเป็นพร้อมกันนี้ได้จัดหาสถานที่เพื่อตั้งโรงเรียนไปด้วย ในที่สุดไปได้ตึกพระคลังข้างที่ตรอกกัปตันบุช  สีลม อำเภอบางรัก เปิดเป็น โรงเรียนอาชีพช่างกล     ขึ้นเมื่อ  1 สิงหาคม  2475 มี  น. อ. พระประกอบกลกิจ  ร.น. เป็นผู้อำนวยการ   ร.อ. หลวงสุรภัฎพิศิษฐ์  ร.น.  เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ปัจจุบันท่านยังอยู่ที่บ้านพักเลยสี่แยกเกียกกายไปทางนนทบุรี    และมี ร.อ. สงวน   คงศิริ  ร.น.  เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง  (ถึงแก่กรรมแล้ว)

ในตอนแรกนั้นเปิดรับนักเรียนที่มีความรู้เพียงประถมปีที่ 3  หรือเทียบเท่าทางกองทัพเรือยังได้ให้ความอุปการะ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนไปฝึกภาคปฏิบัติที่กรมอู่ทหารเรือบ้าง และเครื่องจักร เครื่องมือบางอย่าง ทางกรมอู่ทหารเรือก็ได้จัดมอบให้ทางโรงเรียนใช้อุปกรณ์การฝึกเท่าที่จะแบ่งปันให้ได้
 
ต่อมาในปี พ.ศ.  2477  กรมแผนที่ทหารบกได้ย้ายจากท่าเรือ โรงเรียนราชินีล่าง โรงเรียนอาชีพช่างกลจึงย้ายไปตั้งแทนที่ สถานที่แห่งนี้กว้างขวางใกล้แม่น้ำสะดวกในการที่จะให้นักเรียนไปฝึกงานที่กรมอู่ทหารเรือ และสะดวกในการควบคุมของผู้อำนวยการ ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงธรรมการ (ในสมัยนั้น) ได้เล็งเห็นว่าการเปิดโรงเรียนสอนวิชาอาชีพต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น และมีความสำคัญแก่ประเทศชาติมาก จึงขยายการศึกษาวิชาชีพแขนงต่างๆ  ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นตามนโยบายที่จะส่งเสริมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จึงตกลงกับกองทัพเรือ     ขอโอนกิจการโรงเรียนอาชีพช่างกลมาอยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ ซึ่งทางกองทัพเรือก็ไม่ขัดข้อง    แต่เนื่องจากงบประมาณของกระทรวงธรรมการในปีนี้ยังไม่เพียงพอ จึงให้รอไว้ก่อน

ครั้นต่อมาปี พ.ศ.  2478  พล ร.อ. หลวงสินธุสงครามชัย  ร.น. ซึ่งเป็นผู้ร่วมออกทุนด้วยผู้หนึ่ง ในสมัยที่ท่านยังเป็นเสนาธิการกองทัพเรืออยู่ ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโรงเรียนอาชีพช่างกล  เมื่อท่านได้รับตำแหน่งแม่ทัพเรือ และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ    ท่านจึงได้ของบประมาณสำหรับใช้ในการโอนโรงเรียนอาชีพช่างกลมาอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  2478  เป็นต้นมา ตั้งชื่อโรงเรียนเสียใหม่ว่า "โรงเรียนมัธยมอาชีพช่างกล"  ผู้ที่เข้าเรียนต้องสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 4  เป็นอย่างต่ำมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี  และไม่เกิน 18 ปี หลักสูตรการเรียน 2 ปี   ไม่เก็บค่าเล่าเรียน   สำหรับอาจารย์ใหญ่และอาจารย์อื่นๆ คงเป็นอาจารย์ชุดเดิมเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเดือนมกราคม  2478  ร.อ. หลวงสุรภัฎพิศิษฐ์  ร.น. อาจารย์ใหญ่   ได้ย้ายไปรับราชการที่กรมเจ้าท่า ทางโรงเรียนจึงแต่งตั้งให้ ร.อ. สมบุญ  กายสุต ร.น. เป็นผู้รักษาการแทนอาจารย์ใหญ่ในปี  2479  ได้แต่งตั้งให้ น.ต. หลวงกลกิจกาจร   ร.น.  เป็นอาจารย์ใหญ่ น.อ.  พระประกอบกลกิจ ร.น. ผู้อำนวยการได้ไปราชการประเทศญี่ปุ่น จึงแต่งตั้งให้ พล.ร.ท. พระวิจิตรนาวี (แดง ลางคุลเสน)  เป็นผู้อำนวยการแทนในระยะนี้กองทัพเรือยังให้ความอุปการะในการฝึกงานที่กรมอู่ทหารเรือตลอดมาช่วยเหลือ ในเรื่องวัสดุ  และอุปกรณ์การฝึก ตลอดจนอาจารย์จากโรงเรียนนายเรือสอนทางทฤษฎีและวิชาอื่นๆ อีกด้วย  นักเรียนรุ่นนี้จบหลักสูตรเป็นรุ่นแรก จำนวน  67 คน

ในปี2480 กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนระเบียบการรับนักศึกษาใหม่ โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่  6  เปลี่ยนหลักสูตรเป็น 3 ปี ยังไม่เก็บค่าเล่าเรียนอยู่ตามเดิม เริ่มเก็บเมื่อปี  2484  ปีละ  20 บาท แบ่งเก็บปีละ  3  ภาค   กระทรวงศึกษาธิการให้งบประมาณค่าใช้จ่ายปีละ  3,500  บาท ปีต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.น. หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. เห็นว่าโรงเรียนมัธยมอาชีพช่างกลคับแคบ  เครื่องมือเครื่องใช้ไม่เพียงพอท่านได้เห็นความจำเป็นของวิชาช่างกลที่จะนำความเจริญให้แก่ประเทศชาติไปในอนาคต จึงได้วางโครงการที่จะขยายกิจการของโรงเรียนเป็นการใหญ่ โดยพยายามของบประมาณ  5  แสนบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างและหาเครื่องจักรเครื่องมือในการสอนนักเรียนให้ทันสมัยยิ่งขึ้น   ได้มอบงานนี้ให้แก่ ม.จ.  รัชฎาภิเศกโสณกุล  อธิบดีกรมอาชีวศึกษาสมัยนั้น เป็นผู้ดำเนินการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นวังของกรมพระสวัสดิ์วัฒนาวิสิฐเดิม ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณ  18  ไร่ ได้จัดสร้างอาคารเรียน 1 หลัง โรงฝึกงานอีก 8 หลัง พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือที่ทันสมัยให้แก่โรงเรียน มีหลวงกิติวาทรวุฒิหัวหน้ากองอาชีวศึกษาในสมัยนั้นเป็นผู้วิ่งเต้นสร้างโรงเรียนจึงเสร็จเรียบร้อย และย้าย   "โรงเรียนมัธยมอาชีพช่างกล"     มาอยู่ที่โรงเรียนใหม่นี้  เมื่อวันที่  17  พฤษภาคม  2482   ตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "อาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกช่างกล" การดำเนินการสอนนั้น  ในระดับชั้นปีที่ 1  ปีที่ 2  เรียนวิชารวมเหมือนกันหมดทุกชั้น  สำหรับชั้นปีที่ 3 แยกแขนงวิชาเอกเป็น  3  แขนง คือ  แขนงช่างยนต์  แขนงช่างไฟฟ้า (รวมวิทยุด้วย) และแขนงการจักรไอน้ำ  ผู้ใดจะเลือกเรียนแขนงใดก็ได้ตามใจสมัคร มีอาจารย์ใหญ่ คือ น.ต. หลวงประพรรดิ์จักร์กิจ  ร.น. (น.ต. แสวงมหาสตนันท์)

เมื่อระหว่างเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา  ทหารญี่ปุ่นประมาณ  100  คน  ได้เข้ายึดโรงเรียนช่างกลปทุมวัน เมื่อวันที่  11  ธันวาคม  2485   เวลา  19.00 น.  ปีการศึกษา 2484 ทางโรงเรียนจึงได้อพยพนักเรียนไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบปีการศึกษา  2484  วันที่  4  มิถุนายน  2485 ได้ย้ายไปทำการสอนที่เชิงสะพานเฉลิมโลก ประตูน้ำปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนการช่างอินทราชัยในขณะนั้น

ในระหว่างเกิดสงครามนั้น     กระทรวงกลาโหมมีความจำเป็นต้องจัดหาช่างแก้เครื่องยนต์       และรถยนต์เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งไปสมทบช่วยงานด้านการซ่อมพาหนะที่แนวหน้ากองทัพสนามภาคพายัพทางกระทรวงกลาโหม  จึงได้ขอให้เจ้ากรมพลาธิการทหารบก ติดต่อขอนักเรียนช่างยนต์ชั้นปีสุดท้ายจากโรงเรียนช่างกลปทุมวันไปช่วยราชการสงครามมหาเอเซียบูรพาคราวนั้น ในหน้าที่ช่างซ่อมยานพาหนะกองทัพสนาม ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนช่างกลปทุมวันได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยการที่นักเรียนอาชีวศึกษา  จะได้มีโอกาสตอบสนองคุณประเทศชาติในยามคับขันและจำเป็น จึงอนุมัติให้นักเรียนแผนกช่างยนต์ทั้งหมดจำนวน  32 คน พร้อมด้วยครูผู้ควบคุมอีก  2 คน คือคุณครูสิทธิชัย (สาหรี)  คูหาแก้ว  (เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการสงครามด้วยโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมอง) และคุณครูเคลือบ    ศิริวัฒนกุล (เสียชีวิตเมื่อเสร็จราชการสงครามแล้ว)  เดินทางไปปฏิบัติราชการสนามโดยแบ่งเป็น  2  หมู่  หมู่ละ 16  คน หมู่ที่อยู่ในความปกครองของคุณครูสิทธิชัย  คูหาแก้ว ประจำอยู่หน่วยซ่อมยานยนต์ที่3 (ชย.ย. 3) ในเมืองเชียงใหม่ และหมู่ที่อยู่ในความปกครองของคุณครูเคลือบ  ศิริวัฒนกุล   ประจำอยู่หน่วยซ่อมยานยนต์ที่  9 (ชย. ย. 9)   กองทัพภาคพายัพในเมืองเชียงราย ได้อยู่ปฏิบัติราชการจนกระทั่งสิ้นสุดภาวะสงคราม มีครูนักเรียนต้องสูญเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติราชการรวม  2  คนคือ  คุณครูสิทธิชัย   คูหาแก้ว และนายอินทรชุบ     จันทรรินทุ   ประจำอยู่ ชย.ย. 9  เชียงรายได้รับอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำ 

ในระหว่างสงครามนี้ทางโรงเรียนก็ยังเปิดสอนอยู่ตามปกติ  แต่ได้มีการย้ายโรงเรียนออกนอกชุมชนในพระนคร  โดยย้ายไปเรียนภาคทฤษฎีที่วัดธาตุทอง  พระโขนงในตอนเช้า และกลับไปฝึกภาคปฏิบัติที่ประตูน้ำในตอนบ่าย ทำการสอนเร่ร่อนเช่นนี้อยู่ 3 เดือน  ทางโรงเรียนได้ขอที่ดินของนายทองห่อ  เซ็งสุทธา (ในระยะนั้น น.ต. หลวงประพรรดิ์จักร์กิจ ร.น. เป็นอาจารย์ใหญ่)   ก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่บริเวณซอยสามมิตร  ถนน สุขุมวิท เมื่อญึ่ปุ่นแพ้สงครามกองทัพของสหประชาชาติได้เข้ายึดโรงเรียนช่างกลปทุมวันอีก  โรงเรียนจึงได้ย้ายจากซอยสามมิตร มาอยู่ที่โรงเรียนประตูน้ำตามเดิม จนเมื่อวันที่  30  ตุลาคม  2498  โรงเรียนช่างกลปทุมวันของเราจึงได้ย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิมหน้าสนามกีฬาแห่งชาติตามปกติ

เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพทหารสหประชาชาติ ได้เข้ายึดครองโรงเรียนถึง  2 ครั้ง เป็นเวลานาน จึงทำให้อาคารและเครื่องจักรเครื่องมือต้องชำรุดเสียหายเป็นอันมากทางโรงเรียน จึงได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมตามกำลังเงินที่จะจัดหาได้จนเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาก็ได้ซื้อที่ดินเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ อีกประมาณ  7 ไร่


  •  พ.ศ.  2511  โรงเรียนช่างกลปทุมวัน   ได้อยู่ในการพัฒนาอาชีวศึกษา ตามแผนโครงการเงินกู้เพื่อปรับปรุงโรงงาน เครื่องมือ  เครื่องจักร และส่งครูอาจารย์ฝึกงานและดูงานต่างประเทศ
  •  พ.ศ.  2518  โรงเรียนช่างกลปทุมวัน  ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน เปิดสอนหลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
  •  พ.ศ.  2524 วิทยาลัยช่างกลปทุมวันเปิดสอนเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
  •  พ.ศ. 2533    วิทยาลัยช่างกลปทุมวันเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.)
  •  ในอนาคต วิทยาลัยช่างกลปทุมวันจะได้เปิดสอนในระดับที่สูงขึ้นและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 
  •  ปี พ.ศ.  2541   วิทยาลัยช่างกลปทุมวันได้ยกฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ตามพระราชบัญญัติ   การจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
หลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

  • หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.)

    • สาขาวิศวกรรมการวัดคุม
    • สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
    • สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์
    • สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
    • สาขาวิศวกรรมอิเล็กทครอนิกส์ และโทรคมนาคม
    • สาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม

      • หมายเหตุ    หลักสูตร 4 ปี  รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช.


  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)

    • สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม
    • สาขาวิชาช่างทองหลวง

      • หมายเหตุ    หลักสูตร 4 ปี  รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช.


  • หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.)

    • สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
    •  สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
    • สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์  และโทรคมนาคม
    • สาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม

      • หมายเหตุ    หลักสูตร 4 ปี  รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช.





ข้อมูลจาก : สมาคมศิษย์เก่าช่างกลปทุมวัน


ประวัติศาสตร์ช่างกล


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์