ภาวะที่มนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ต่างจาก “หญิงข้ามเพศ” พวกเธอนิยามตัวเองว่า เป็นผู้หญิงโดยกำเนิดในทางจิตใจ แต่อยู่ในร่างกายผู้ชาย และเมื่อความต้องการด้านจิตใจไม่สอดคล้องกับร่างกาย การผ่าตัดเพื่อเป็นหญิงเสมือนเป็นอีกทางออก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ตามหน้าข่าวสื่อหลายแขนงมีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมที่ “กลุ่มหญิงข้ามเพศ” ไป “ผ่าตัดเปลี่ยนเสียง” ซึ่งเรื่องนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้
น้องตุ้ม-ปริญญา เจริญผล อดีตนักมวยนะยะ เป็นผู้หนึ่งที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ เล่าว่า รู้สึกจิตใจอยากเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก จึงเป็นความใฝ่ฝันที่สักวันหนึ่งเราจะมีทุกอย่างเหมือนผู้หญิง ซึ่งเมื่อ 10 ปี ก่อนถือเป็นรุ่นแรก ๆ ในการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงด้วยเงิน 70,000 บาท
หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนเสียงผ่านมาก็ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน จะมีก็แต่แผลผ่าตัดจุดเล็ก ๆ บริเวณคอ ส่วนที่มีข่าวบอกว่า ตนต้องกลืนน้ำลายบ่อย ๆ เป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนหลังการ ผ่าตัด ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะ อุปนิสัยส่วนตัวชอบกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ซึ่งพอไปทำแล้วรู้สึกเสียง เล็กลงเป็นธรรมชาติมากขึ้น
แต่สิ่งที่รู้สึกผิดคือ หลังผ่าตัดหมอห้ามใช้เสียงกว่า 3 เดือน และต้องฝึกการออกเสียงแบบผู้หญิงกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราไม่ได้ทำตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับการฉายภาพยนตร์ชีวประวัติของตนทำให้ต้องออกงานบ่อยและใช้เสียงเยอะ อันเป็นผลให้ทุกวันนี้เสียงยังไม่เล็กแหลมเพราะไม่ได้ฝึกฝนอย่างถูกวิธี
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีเพื่อนบางคนไม่ทำตามที่หมอสั่งนาน ๆ ไป เสียงแหบและไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้
“ตอนแรกตัดสินใจทำกลัวอยู่บ้าง แต่รู้สึกไม่มั่นใจเสียงตัวเองอยู่แล้ว เลยคิดว่าเป็นไงก็เป็นกัน แต่ยังโชคดีที่สนิทสนมกับหมอทำให้ได้พูดคุยกันบ่อยจึงเกิดความมั่นใจ”
“น้องตุ้ม” แนะนำอีกว่า อยากให้น้อง ๆ ใช้วิจารณญาณของตัวเองในการตัดสินว่าเหมาะสมที่จะทำหรือไม่ เพราะหลายคนทำไปแล้วก็อยากกลับไปเป็นอย่างเดิม ซึ่งหากต้องการทำจริง ๆ ต้องยอมรับให้ได้กับอนาคตทั้งดีและไม่ดี เพราะเมื่อแก่ตัวลงอาจไม่สวยเหมือนเดิม
ขณะนี้คลินิกเถื่อนมีอยู่มากมาย ดังนั้นผู้ที่ผ่าตัดต้องรู้จักเลือกและสังเกตเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย จึงควรทำในสถานพยา บาลที่ดีที่สุด ส่วนเรื่องโรคแทรกซ้อนจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง เพราะหากออกกำลังกายทุกวันย่อมเป็นเรื่องดี ส่งเสริมให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน เพื่อน ๆ หลายคนคิดว่า ผ่าตัดแล้วออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ได้ ซึ่งเราก็ออกกำลังกายทุกวันไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น
อยากแนะนำคนที่กำลังคิดจะผ่าตัดเปลี่ยนเสียงให้ลองใช้ชีวิตแบบผู้หญิงจริง ๆ ก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเมื่อคิดผ่าตัดเปลี่ยนแปลงแล้ว อุปนิสัยและความคิดควรเปลี่ยนไปด้วย ที่สำคัญต้องปรึกษากับครอบครัวก่อนทุกครั้ง ตลอดจนต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เนื่องจากการผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายที่แพง
น้องนก-ยลดา เกริกก้อง สวนยศ” ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ไม่ได้ผ่าตัดเปลี่ยนเสียง แต่ฝึกฝนการออกเสียงควบคู่กับการกินฮอร์โมนเพศหญิง ให้ความเห็นว่า กลุ่มของความหลากหลายทางเพศปัจจุบันมีการจำแนกมากมาย เช่น กลุ่มชายรักชายที่มีความคิดว่า ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศ ส่วน กลุ่มที่มีความต้องการแปลงเพศคือ กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งมีมากมายในสังคมปัจจุบัน โดยบางคนอาจยังไม่มีทุนทรัพย์ในการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงและหลายคนสามารถผ่าตัดเพื่อให้เป็นอย่างที่ต้องการได้
“นก” แนะนำการฝึกออกเสียงแบบผู้หญิงว่า พยายามกำหนดเสียงที่เปล่งออกมาบริเวณกึ่งกลางหน้าผาก อย่าพยายามกำหนดให้อยู่ที่ปลายจมูกเพราะเสียงจะออกมาเหมือนคนจมูกบี้ และทำให้เจ็บคอ หากลองฝึกไปเรื่อยก็สามารถพูดได้คล้ายคลึงกับเสียงผู้หญิง
ผ่าตัดเปลี่ยนเสียง ภัยเสี่ยงสาวประเภทสอง!?
การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคล ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ เนื่องจากเสียงเป็นอีกส่วนจำเป็นในการทำงาน ดังนั้นภาครัฐเองต้องออกมาให้ความรู้ในการเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เพราะหากรณรงค์ไม่ให้ทำก็ยังมี “กลุ่มหญิงข้ามเพศ” ที่ต้องการทำอยู่
วิธีการฝึกพูดให้เหมือนผู้หญิงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ผู้ไม่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์และกลัวปัญหาสุขภาพควรเริ่ม ต้นฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย โดยผู้ปกครองควรให้คำแนะนำลูกหลาน ที่เบี่ยงเบนทางเพศ เพื่อให้ไปพบแพทย์และปรึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
ส่วน กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และทนายความ ให้ความเห็นว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงควรมองความจำเป็นของตนเป็นที่ตั้งเพราะเราอาจทำงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง เช่น ทำงานเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน หรือทำงานคาบาเร่ต์ร้องเพลงลิปซิ้ง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
จากการได้สอบถามแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญพบว่า การผ่าตัดเปลี่ยน เสียงเริ่มแรกมาจากการผ่าตัดให้ ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง และได้พัฒนามาสู่การผ่าตัดเปลี่ยนเสียง ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อเพราะเครื่องมือแพทย์ไม่สะอาดหรือวัตถุอุปกรณ์ใช้ผ่าตัดไม่ได้รับการฆ่าเชื้อโรค
“การผ่าตัดและติดเชื้อโรคถือเป็นความประมาทของแพทย์คนไข้สามารถฟ้องร้องได้ แต่คนที่ต้องการไปผ่าตัดจริง ๆ ควรไปพบแพทย์ที่มีฝีมือเพราะในประเด็นนี้เป็นความพึงพอใจ หลังการผ่าตัดส่วนตนของแต่ละบุคคล เช่น ไม่ชอบที่เสียงแหลม ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เนื่องจาก ถือว่า เรายินยอมให้แพทย์ทำการ ผ่าตัดเอง”
รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง หน่วยศัลย ศาสตร์ ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การผ่าตัดเส้นเสียงสามารถ ทำได้ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงการได้ผลในทุกคน เนื่องจากแต่ละคนต่างมีน้ำเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการพูด เช่น คนที่มีเสียงเล็กแหลมและคล้ายผู้หญิงอยู่เดิมอาจทำการผ่าตัดและได้ผล ขณะที่บางคนเสียงใหญ่และห้าวผ่าตัดเท่าไหร่ก็ไม่ได้เสียงตามที่ต้องการ
การผ่าตัดดึงเส้นเสียงหมอจะดึงส่วนบนสุดหรือล่างสุดของเส้นเสียงให้ตึงขึ้นมากกว่าเดิม โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไปเส้นเสียงที่ดึงไว้อาจลดหย่อนไปใกล้เคียงกับเสียงเก่าได้ ส่วนบางคนอาจเกิดความผิดพลาดทำให้เสียงแหบไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และยิ่งกว่านั้นในรายที่ดึงเส้นเสียงตึงมาก ๆ อาจทำให้เส้นเสียงขาดและยากแก่การต่อกลับเข้าที่ดังเดิม ซึ่งคนไข้อาจพูดไม่ได้ไปตลอดชีวิต
บางกรณีคนไข้ไปทำการรักษากับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในลำคอช่วงแรกหลังจากผ่าตัด เช่น ต้องกลืนน้ำลายบ่อย ๆ เนื่องจากระคายเคืองในลำคอ
“คนไข้บางคนพอมาผ่าตัดแล้วไม่ได้ตามที่ต้องการก็ไป ผ่าตัดใหม่อีกครั้ง เสี่ยงมากต่อ การเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เนื่องจากร่างกายคนไม่ต่างจากรถยนต์พอโดนชนมาครั้งหนึ่งเอาไปซ่อมใหม่แล้วก็ยากจะเป็นเหมือนเดิมได้”
หมอเคยทำการวิจัยเกี่ยวกับ การนำคนไข้ที่มีความต้องการจะมีเสียงพูดเหมือนผู้หญิงทำการฝึกพูดกับนักวิชาการด้านเสียง ผลปรากฏว่า เกือบทุกคนสามารถ ทำได้ จึงอยากแนะนำว่า การฝึก ฝนเป็นอีกแนวทางที่สำคัญและไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ
หากต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจริง ๆ ควรเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จริง ๆ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หมอที่เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ดูแลเฉพาะทางด้าน ปาก หู คอ จมูก ส่วนแพทย์ด้านศัลยกรรมตามคลินิกต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ
ฉะนั้น ความหลากหลายทางเพศถือเป็นอีกประเด็นที่คนในสังคมสนใจ และควรหาทางออกร่วมกันอย่างเข้าใจ.