เผย พื้นที่เสี่ยงภัย รอบเมือง

เผย พื้นที่เสี่ยงภัย รอบเมือง



เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้...พึงระวัง !!

จากสถานที่ที่คิดว่าปลอดภัยกลับไม่ปลอดภัยไปซะแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์เด็กหญิง วัย 13 ปี ถูกแก๊งรถตู้หื่นโปะยาสลบลักพาตัวจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปข่มขืนแล้วล่ามโซ่ขัง  ไว้ยังบ้านพักในจังหวัดปทุมธานี หลายคนอ่านข่าวแล้วรู้สึกหดหู่ใจ และเชื่อว่าต้องมีคำถามตามมาว่าเหตุใดสถานที่ที่คนพลุกพล่าน อย่างอนุสาวรีย์ชัยฯ จึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้
   
"ถึงแม้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะเป็นแหล่งชุมชนมีผู้คนสัญจรไปมามากมาย แต่ก็มีพวกมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ และ  ก่อเหตุอาชญากรรมจำนวนมากด้วยเช่นกัน"

สิน นิติธาดากุล ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักเทศกิจ แสดงความคิดเห็น พร้อมเปิดเผยสถิติพื้นที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานครว่า จากการสำรวจแต่ละสำนักงานเขตพบว่าในปี พ.ศ. 2551 มี พื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 530 จุด  และปี พ.ศ. 2552 มีจำนวน 460 จุด โดยแบ่งพื้นที่เสี่ยงภัยเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.จุดเปลี่ยวตามตรอกซอกซอย 2.สะพานลอยคนข้าม และ 3.อาคารหรือบ้าน รกร้าง ซึ่งสถิติทั้งหมดรวมจุดที่เคยเกิดเหตุอาชญากรรมด้วย
   
ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ส่วนหนึ่งมาจาก “โครงการเทศกิจเพื่อนชุมชน” ที่ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเดินเท้าเข้าไปตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมสอบ  ถามปัญหาเรื่องความปลอดภัย  ในจุดเสี่ยงภัยต่าง ๆ เพื่อจะนำ    มาวิเคราะห์และหาแนวทางการป้องกัน อย่างเช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทางสำนักงานเขตราชเทวีเมื่อทราบแล้วจะหาวิธีการป้องกันหรือแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีการที่ว่านี้คือ ติดตู้เขียวตามจุดต่าง ๆ พร้อมส่งเทศกิจสายตรวจไปดูแลเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบว่าจุดเปลี่ยวบริเวณใดบกพร่องอย่างไรบ้าง เช่นพื้นที่เปลี่ยวมืดก็เสริมกำลังเจ้าหน้าที่และปรับภูมิทัศน์โดยนำไฟมาติดตั้งให้สว่างขึ้น เชื่อว่าจะสามารถ ลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในจุดเสี่ยงภัยได้

หากประชาชนพบจุดเสี่ยงภัยเพิ่มสามารถแจ้งกับทางสำนักเทศกิจทราบได้ที่ 1555 หรือ 0-2465-0532

เผย พื้นที่เสี่ยงภัย รอบเมือง



ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังทราบข่าวมีความตื่นตัวไม่น้อยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรม

พล.ต.ต.สุรพล ธนโกเศศ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.ฝ่าย ป้องกันอาชญากรรม ให้ข้อมูล ว่า เอแบคโพลได้สำรวจความ พึงพอใจของประชาชนพบ  ว่ามีความหวาดระแวงด้านอาชญากรรมในเรื่อง สภาพแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่ง จึงมีความคิดดำเนินการลดความหวาดระแวงโดย “ดำเนินโครงการการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม” สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจออกสำรวจพื้นที่รับผิดชอบของตัว  เองว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเกิดเหตุอาชญากรรมหรือไม่ เพราะสาเหตุใด หรือยังไม่เคยเกิดแต่น่าจะเกิด เช่น พื้นที่ที่เป็นป่าหญ้ารกรุงรัง มีบ้านร้าง ไม่มีแสงสว่าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้จากประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงพื้นที่
   
หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วนำมาวิเคราะห์หาแนวร่วมจากภาครัฐบาล ได้แก่

ไม่มีแสงสว่างก็ติดต่อการไฟฟ้ามาดำเนินการหรือพื้นที่รกร้างติดต่อสำนักงานเขตนั้น ๆ มาทำการล้อมรั้ว หรือบริเวณหมู่บ้านมีแคมป์คนงาน ก่อสร้างประชาชนเกรงจะไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าไปดำเนินการขึ้นทะเบียนแฝงคนแปลกหน้าให้เพื่อลดความหวาดระแวง อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการไปแล้วยังเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกจะใช้มาตรการพิเศษ อย่างเช่น ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ถือเป็นพื้นที่เปลี่ยวเคยเกิดเหตุอาชญากรรมบ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการพิเศษโดยการ จัดรถตู้ตำรวจรับ-ส่งประชาชน รวมทั้งใช้นโยบายหลักทำให้คนในชุมชนรู้จักกัน     และตั้งกรรมการกลางมาช่วยตำรวจ ซึ่งทั้งหมด ได้ดำเนินการมาแล้ว ระยะหนึ่ง     
   
ยิ่งเมื่อทราบว่ามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ที่ถือว่าเป็นแหล่งชุมชนด้านคมนาคมขนาดใหญ่ จึงมีความสอดคล้อง  กับโครงการที่ทำอยู่

เพราะ ปกติอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่างเวลากัน หากเป็นเวลากลางวันประชาชนจะเสี่ยงภัย กับการถูกกรีดหรือ ล้วงกระเป๋า เนื่องจากมีผู้คนพลุกพล่านเบียดเสียดกัน ง่ายต่อการถูกโจรกรรม และหากเป็นเวลากลางคืนจะเสี่ยงถูกจี้หรือชิงทรัพย์ โดยเฉพาะผู้หญิงต้องระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ เมื่อมีข้อมูลแล้วเรื่องปรับสภาพแวดล้อมจึงสำคัญ ในอนาคตข้างหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนการยืนรอรถโดยสารประจำทางให้เหมือนกับต่างประเทศที่มีช่องทางเดินเข้าออกทางเดียว หากใครยืนรอรถนานจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยให้ เราสังเกตไว้เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะหากไม่รอรถจะมีช่องทางสำหรับเดินอยู่อีกทาง ที่แบ่งเป็นสัดส่วนโดยใช้แผงกั้นเพื่อความเป็นระเบียบ

สำหรับในเวลากลางคืนมีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ เช่น ป้ายรถประจำทางมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บดบังอยู่

เหมาะแก่การซ่อนตัวของคนร้ายที่รอเหยื่อเพื่อฉก ชิง วิ่งราว ก็จะปรับเปลี่ยนไปไว้ที่อื่นหรือมีต้นไม้ใหญ่บังแสงสว่างก็ติดต่อสำนักงานเขตมาตัดกิ่งให้โล่งแจ้งทำให้คนร้ายไม่กล้าลงมือเพราะตกอยู่ในเป้าสายตาผู้อื่นมากมาย นอกจากนี้แล้วเราต้องรู้จักป้องกันตัวเองด้วย โดยเฉพาะ ผู้หญิงถ้าไม่จำเป็นอย่าอยู่คนเดียวในที่มืด เปลี่ยวหรือหากเกิดเหตุให้ตะโกน ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือและสามารถป้องกันตัวเองด้วยสัญชาตญาณเมื่อรู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยหรือสงสัยว่าผู้ที่อยู่ใกล้เป็นคนร้ายให้พยายามมองหาคนช่วยเหลือ
   
ดังนั้นจงคิดไว้อยู่เสมอว่าอย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ พร้อมตั้งสติและตัดสินใจพาตัวเองออกไปในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด อย่ายอมตกเป็นเป้าหมายให้มิจฉาชีพทำร้ายร่างกายและฉกทรัพย์สินไป เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป..!

เผย พื้นที่เสี่ยงภัย รอบเมือง



3 ส่วนอันตราย... สถิติภัยอาชญากรรมสูงสุด

จากสถิติการรับแจ้งเหตุอาชญากรรมจากหมายเลข 191 พบว่าในพื้นที่ บก.น.2 มีสถิติการแจ้งเหตุจำนวนมากและ   เป็นพื้นที่ที่มีสะพานลอย ป้ายรถเมล์และจุดเปลี่ยวมาก เช่นกัน พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ ผบก.น.2 เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้จัดพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ 3 ส่วนคือ 1.บริเวณห้างสรรพสินค้าและสวนจตุจักร เพราะเคยมีคดีเกิดขึ้นเยอะ เช่น ล้วงกระเป๋า ตกทอง ฉกกระเป๋า ซึ่งแนวทางการป้องกันคือประสานงานเจ้าหน้าที่ของห้างและจตุจักรเพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดและส่งสายตรวจเดินเท้าเข้าไปติดป้ายเตือน

2.สถานีขนส่งหมอชิต เกิดเหตุกรรโชกทรัพย์และหลอกลวงทางเพศบ่อย จึงได้ดำเนินการป้องกันโดยการทำประวัติบุคคลเร่ร่อนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อบรมอาสาสมัครและตั้งจุดตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ขนส่งและ

3.ตามจุดต่าง ๆ เช่น พื้นที่ว่าง เปลี่ยวรกร้าง สะพานลอย ป้ายรถเมล์ ซึ่งมีมากพอสมควรเพราะพื้นที่ในเขตของบก.น.2 เป็นพื้นที่ที่กว้างมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี จึงทำให้เกิดเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์ขึ้นเยอะ โดยเฉพาะ 1.บริเวณสวนสมเด็จย่า ถนนพหลโยธิน 2.ถนนลาดพร้าว บริเวณสะพานลอยปากซอยลาดพร้าว 15 และ 3. เขตดอนเมือง สายไหม คันนายาว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี ซึ่งส่วนมากคนร้ายจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ จึงต้องป้องกันโดยการตั้งด่านตรวจทำประวัติรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยโดยเดือนหนึ่งได้ประมาณ 2,000 คัน

นอกจากนี้ยังอบรมผู้ขับขี่ วินจยย.ให้รู้จักสังเกตและตรวจตราช่วยเหลือลูกค้า โดยการจัดตั้งวินจยย.ไว้ตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตามตรอกซอกซอยและสะพานลอยเพื่อแจ้งข้อมูลให้ตำรวจทราบ ที่สำคัญอยากฝากเตือนไปยัง สุภาพสตรีควรหลีกเลี่ยงสถานที่เปลี่ยวหรือหาเพื่อนเดิน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้รู้จักสังเกตบริเวณรอบ ๆ ว่ามีคนเดินตามแบบกระชั้นชิดหรือไม่ เพราะตามสัญชาตญาณคนร้ายจะต้องเข้าประชิดตัวเหยื่อเพื่อประทุษร้ายต่อทรัพย์

ส่วนคนร้ายที่ใช้รถจักรยานยนต์ชิงทรัพย์ต้องอาศัยการจดจำรูปพรรณคนร้ายและรถจักรยานยนต์ให้ได้มากที่สุดเพื่อง่ายต่อการติดตาม

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์