ทำไงดี! เมื่อเป็นมะเร็งสมอง

ทำไงดี! เมื่อเป็นมะเร็งสมอง



เมื่อเอ่ยถึงสมอง จะเห็นว่าเป็นอวัยวะพิเศษอวัยวะหนึ่งที่อยู่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย และถูกปกป้องไว้ด้วยกระดูกที่หนา (กะโหลกศีรษะ) เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายได้โดยง่าย ...สมองเปรียบเสมือนซีพียูของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ คิด อ่าน เขียน คำนวณ และควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด อาทิ ตา หู จมูกปาก ลิ้น กาย ใจ

ความผิดปกติของสมองที่พบส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากการตีบ ตัน หรือแตกของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้ยังมีโรคของสมองอื่นๆ อีก โดยเฉพาะ “โรคเนื้องอกสมอง” ที่จะกล่าวถึงต่อไป
กรณีของเนื้องอกสมองนั้น จะมีอาการแตกต่างกับโรคที่เกิดจากหลอดเลือดของสมองโดยอาการจะเกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฉับพลันเหมือนโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมองจะมีการงอกหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความกดดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ประสาทตาบวม (สามารถตรวจพบโดยแพทย์) นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก อาการชาครึ่งซีก การพูดฟังอ่านเขียนผิดปกติ เดินเซ ทรงตัวไม่ดี ตาเหล่เห็นภาพซ้อน ตามัว หูหนวกหนึ่งข้าง ความคิดช้าลง บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง และอาการชักกระตุก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกอยู่ตำแหน่งใดของสมอง

ทำไงดี! เมื่อเป็นมะเร็งสมอง



เนื้องอกของสมองนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกไม่ร้ายแรง และเนื้องอกร้ายแรงหรือมะเร็ง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงส่วนที่เป็นเนื้องอกร้ายแรง

เนื้องอกร้ายแรงของสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเนื้องอกสมองร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสมอง ไม่มีปัจจัยที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกโดยตรง แต่พบว่ามีหน่วยพันธุกรรมที่ผิดปกติของเซลล์สมองเป็นปัจจัยร่วม

2. กลุ่มเนื้องอกที่แพร่มาจากที่อื่น เช่น มะเร็งของปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

การรักษามะเร็งสมอง มีหลายวิธี และอาจต้องใช้หลายวิธีในการรักษาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด อาทิ
1. การเจาะดูดชิ้นเนื้องอกเพื่อตรวจวินิจฉัย
2. ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก
3. การฉายแสงรักษา
4. การให้เคมีบำบัด

เนื้องอกมะเร็งของตัวที่แพร่มาในส่วนของไขสันหลังส่วนปลาย เนื้องอกมะเร็งของตัวที่แพร่มาในส่วนของไขสันหลังส่วนปลาย



ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งสมอง ทำให้ได้ผลดีขึ้นกว่าในอดีต มากและมีผลแทรกซ้อนน้อยลง โดยมีการใช้เครื่องมือนำวิถี ( frame –based and frameless navigation) ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง มีการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (endoscopic surgery) ทำให้แผลผ่าตัดเล็ก มีการทำผ่าตัดโดยไม่ดมยาสลบเพื่อทำแผนที่สมอง (awake craniotomy and brain mapping) ช่วยให้ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากสมองส่วนสำคัญได้โดยปลอดภัย มีการตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าสมองขณะผ่าตัด ทำให้สามารถผ่าตัดมะเร็งสมองได้สมบูรณ์มากขึ้น มีการตรวจเช็คประสาทสรีรวิทยาระหว่างผ่าตัด (EEG, SSEP, MEP) เพื่อป้องกันการพิการที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอก นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางยา เคมีบำบัด และการฉายแสงทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายขึ้น มียาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งสมองชนิดรับประทานที่มีผลแทรกซ้อนต่ำ มีเครื่องฉายแสงฉายรังสีชนิด 3 มิติ ที่มีความแม่นยำสูง ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉายแสงน้อยลง เป็นต้น

เนื้องอกมะเร็งของผิวหนังชนิดเมลลาโนมาแพร่มาที่สมองเห็นเป็นสีดำเนื้องอกมะเร็งของผิวหนังชนิดเมลลาโนมาแพร่มาที่สมองเห็นเป็นสีดำ



โรคมะเร็งสมองนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น สมควรรีบตรวจรักษาโดยเร็ว ในระยะที่เนื้องอกมีขนาดเล็กอยู่ ซึ่งการไปพบแพทย์อาจต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะอาการอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก ส่วนผู้ที่มีอาการแล้ว ก็อย่าสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจและไม่ควรปฏิเสธการรักษาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก การรักษาทั้งในแง่การผ่าตัด ให้ยา หรือฉายแสงรักษานั้นมีประสิทธิภาพอย่างมาก ที่สำคัญท่านจะต้องไม่ลืมดูแลรักษาตนเอง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นพ.ศรัณย์ นันทอารี (สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์