เตือนภัย-ต้องอยู่ห่างแค่ไหน จึงปลอดภัยจากคนจาม..

เตือนภัย-ต้องอยู่ห่างแค่ไหน จึงปลอดภัยจากคนจาม..


ฮัดเช้ย!! อาการจามนั้นเกิดขึ้นกับคนทุกคนอยู่บ่อยๆ แล้วสงสัยกันบ้างมั้ยล่ะว่า ทำไมคนเราถึงต้องจาม ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือว่าการจามเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ร่างกายต้องการขับเอาบางสิ่งที่ระคายเคืองออกมาทางจมูก ซึ่งมันมาพร้อมกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง

 ช่วงที่ผ่านมา คงจะ ไม่มีข่าวไหนมาแรงเกินกว่าเรื่องหวัดมรณะ หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งแปลมาจากคำว่า Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) ที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับเรียกว่า ซารส์ ... ฟังเผิน ๆ คล้ายกับ ‘ส่า (ไข้)’ เหมือนกันนะครับ

       
สถิติที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของการระบาด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือผู้เสียชีวิต ลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อ รวมทั้งวิธีการป้องกันตัว คงจะมีให้เห็น ตามสื่อต่าง ๆ มาพอสมควรแล้ว แต่ที่ยังไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก ก็คือ ตัวต้นเหตุ และกลไกการแพร่ระบาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็คงจะช่วยให้เข้าใจรอบด้าน ขึ้นอีกนิดดีไหมครับ

       
ในช่วงที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ เชื่อกันว่า เชื้อโรคที่น่าจะเป็นต้นเหตุ เป็นไวรัส ที่อยู่ในสกุล (genus) ที่มีชื่อว่า โคโรนาไวรัส (Coronavirus) ไวรัสสกุลนี้ ได้ชื่อ อย่างนี้เพราะมีรูปร่างกลม ๆ แถมสวมมงกุฎอยู่โดยรอบ (คำว่า corona มีรากศัพท์ มาจากภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า มงกุฎ) แต่แบบนี้คงเป็นได้แค่ ‘นางมารสวมมงกุฎ’ ไม่ใช่นางงามแน่! ไวรัสในสกุลนี้ตัวเดิมที่เคยรู้จักกันนั้น เป็นสาเหตุของไข้หวัดราว 15% ของไข้หวัดทั้งหมด

       
ช่วงแรก ๆ ที่ข่าวเริ่มโหมกระพือนั้น สื่อบางสื่อให้ข้อมูลว่า เชื้อนี้สามารถ ล่องลอย และแพร่ไปในอากาศได้ไกล ๆ ซึ่งฟังแล้วน่ากลัวจริง ๆ แต่มาระยะหลัง เริ่มเชื่อกันว่า เชื้อไวรัสมงกุฎนี่ น่าจะแพร่ด้วยกลไกการแพร่เชื้อ โดยการเกาะไป กับหยดของเหลว และการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ซึ่งฟังดูน่ากลัวน้อยกว่านิดหน่อย (แต่ก็ยังน่ากลัวอยู่ดี) แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว มาดูกันซักหน่อยว่าการแพร่เชื้อใน 3 ลักษณะนี้ต่างกันยังไง

       
ถ้าเชื้อโรคเกาะไปกับหยดของเหลวหรือฝุ่นขนาดเล็ก ๆ (เท่ากับ 5 ไมครอน หรือเล็กกว่า) ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน ๆ แบบนี้ ลมพัดไปทางไหน เจ้าเชื้อที่เกาะ กับหยดของเหลวหรือฝุ่น ก็จะเฮไปทางนั้นด้วย แบบนี้เรียกว่า การแพร่เชื้อไป ในอากาศ (airborne transmission) ครับ

       
แต่ถ้าเชื้อโรคเกาะไปกับหยดของเหลวขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่า 5 ไมครอน) เช่น บางส่วนที่เราไอหรือจามออกมา อย่างนี้ก็เรียกว่า การแพร่เชื้อไปกับหยดของเหลว (droplet transmission) ซึ่งในแง่ของระยะทางแล้ว จะดูน่ากลัวน้อยกว่าแบบแรก ที่แพร่ไปในอากาศ เพราะหยดของเหลวที่มีขนาดใหญ่นั้น จะไปไหนไม่ได้ไกล ๆ อย่างเก่งก็ 3 ฟุต (เกือบ ๆ 1 เมตร) จากคนที่ฮัดชิ้วออกมา คุณหมอบางท่าน อาจเพิ่ม ระยะออกไปเป็น 5 ฟุต ด้วยซ้ำ เพราะยิ่งไกลก็ยิ่งลดโอกาสเสี่ยง


ส่วนในกรณีที่ใครไอหรือจามแล้วคว้าผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูไม่ทัน แค่ใช้มือป้องปาก แล้วเกิดเผลอไปจับสิ่งของต่าง ๆ โดยยังไม่ได้ล้างมือ ไม่ว่าจะเป็น ลูกบิดประตู ดินสอ ปากกา หรือหูโทรศัพท์ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้ามีใครได้สัมผัสกับ ของชิ้นดังกล่าวก็อาจจะรับเอาเชื้อไปได้โดยตรง ยิ่งถ้าคนที่สัมผัสเผลอแตะจมูก หรือขยี้ตาก็จะติดเชื้อได้ แบบนี้แหละที่เรียกว่า การแพร่เชื้อแบบสัมผัสโดยตรง (contact transmission)

       
สำหรับเชื้อไวรัสต้นเหตุของ SARS นั้น เชื่อกันว่าน่าจะแพร่โดยกลไก แบบที่สอง คือ เชื้อแพร่ไปกับหยดของเหลว เป็นหลัก ตามมาด้วยแบบที่สามคือ การแพร่แบบสัมผัสโดยตรง ส่วนแบบแรกนั้น บางท่านก็ยังเผื่อ ๆ ใจไว้นิดหน่อยว่า อาจจะเป็นไปได้บ้างเหมือนกัน

       
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็คงต้องทบทวนวิธีการป้องกันการติดเชื้ออย่างง่าย ๆ ที่รู้กันมา ตั้งแต่เด็ก คือ ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหาร หรือสัมผัสกับจมูก หรือตา หรือถ้าคุณต้องทำงานที่พบกับคนมาก ๆ เช่น งานบริการ ก็จะดีไม่น้อย ที่ใส่ หน้ากากป้องกันเอาไว้ ผมเพิ่งไปธนาคารแห่งหนึ่งมา ปรากฏว่าพนักงานเกือบทุกคน ใส่หน้ากาก ยกเว้นบางท่านที่บอกว่า รำคาญ แต่บ่น ๆ เกี่ยวกับ SARS ว่า สยอง!

       
พยายามติดตามข่าวและทำตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข บวกสามัญสำนึก นิดหน่อยก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้บ้างแล้วครับ ... ฮัด .. ฮัด... ฮัด... ฮัด ... ชิ้วววว  (อย่าลืมอยู่ห่างจากผมอย่างน้อย 3 ฟุต ล่ะ)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์