เตือนภัยฉีดคาร์บ็อกซี่ หลุมพรางของคนคลั่งผอม

เตือนภัยฉีดคาร์บ็อกซี่ หลุมพรางของคนคลั่งผอม


 นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม กล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ว่า มีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ไม่รู้ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย

      รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการทำคาร์บ็อกซี่ว่า ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 2533 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป
ปัจจุบันคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ใช้เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว เมื่อฉีดเข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เช่น หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ถ้าใช้เหมาะสมไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย


      รศ.นพ.นิยมกล่าวต่อว่า กรรมวิธีในการนำก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ทำได้โดยแพทย์จะใช้เข็มฉีดยาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.3 มม. สอดเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปตามปริมาณที่เหมาะสม โดยขณะที่ก๊าซผ่านเข้าไปสู่ชั้นผิวนั้นจะรู้สึกอุ่นบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย เมื่อคลำผิวบริเวณที่ฉีดจะได้ยินเสียงเหมือนมีก๊าซอยู่ใต้ผิว ลักษณะอาการหลังจากฉีดก๊าซเข้าไปในผิวหนัง อาจมีอาการปวดและรู้สึกตึง หรือบางรายอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้นและก็จะหายไปได้เองในภายหลัง การทำคาร์บ็อกซี่สามารถใช้ได้ผลในการสลายไขมันเฉพาะที่ ลดเฉพาะจุด แต่ไม่สามารถใช้ลดน้ำหนักได้ ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ในส่วนความคงทนในการรักษาขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

     รศ.นพ.นิยมกล่าวว่า
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ดังนั้น ก่อนปล่อยก๊าซเข้าไปแพทย์จึงต้องมั่นใจว่าก๊าซจะไม่ผ่านเข้าไปในเส้นเลือด ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์