จะบอกอย่างไร...เมื่อความสูญเสีย(ใจ)มาเยือน

จะบอกอย่างไร...เมื่อความสูญเสีย(ใจ)มาเยือน


Mental Health : จะบอกอย่างไร...เมื่อความสูญเสีย(ใจ)มาเยือน
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์

   คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้ทุกข์เท่ากับการสูญเสีย ซึ่งย่อมต้องเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราอย่างน้อยสักครั้ง ส่วนจะเป็นทุกข์โศกเศร้ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ความแตกต่างและพื้นฐานการรับรู้ของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ ผู้ที่ประสบเหตุการณ์แห่งความสูญเสียไม่ว่าจะอะไรก็ตามอาจจะรู้สึกว่าคงไม่สามารถทำใจยอมรับกับข่าวร้ายและการสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้ อย่างไรก็ตามพบว่าเมื่อเวลาผ่านไปคนส่วนใหญ่ก็สามารถยอมรับ โดยมีขั้นตอนการทำใจแตกต่างกันไป บางคนที่ไม่สามารถผ่านความเศร้าโศกเสียใจนั้นได้ก็อาจกลายเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในที่สุด

การสูญเสีย (Loss)
      เรารู้จักความหมายของการสูญเสีย การเสียใจกันมากน้อยขนาดไหน?         ในภาษาอังกฤษมีคำที่ใช้เมื่อเกิดการสูญเสียเกิดขึ้น เช่น คำว่า grief และ bereavement ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน โดยคำว่า grief คือรูปแบบการตอบสนองต่อการสูญเสีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่อารมณ์ตอบสนองต่อการสูญเสีย รวมถึงปฏิกิริยาทางร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม สังคมรวมถึงมุมมองทางปรัชญาด้วย เหล่านี้พบได้จากการสูญเสียคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดต่างๆ ส่วนคำว่า bereavement นั้นจะหมายความถึงขั้นตอนของการสูญเสียเป็นหลัก

     ขั้นตอนการตอบสนองต่อการสูญเสีย

     โดยทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญ Dr. Elisabeth Kubler-Ross และนักจิตวิทยาอีกหลายท่านได้สรุปถึงขั้นตอนของการสูญเสียว่าประกอบด้วย

     การตกใจอย่างแรง (shock) และปฏิเสธ (denial) มีอาการชา ขาดความรู้สึกไปชั่วขณะ รู้สึกตัวเองไม่ใช่ตัวเอง และไม่สามารถที่จะตั้งสติเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ อาการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเริ่มดีขึ้นหรือแย่ลงขึ้นอยู่กับว่าการสูญเสียนั้นว่าจะมากน้อยขนาดไหน
     โกรธ (anger) รู้สึกว่าทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตนเอง ทำไมไม่เกิดกับคนอื่น พยายามโทษว่าเป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง เช่น หมอตรวจผิดหรือไม่ มีคนอื่นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ รวมถึงโทษสิ่งที่ไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่ เช่น พระเจ้าหรือสวรรค์ด้วย และที่พบได้บ่อยก็คือความโกรธต่อตนเอง ความโกรธดังกล่าวมิใช่เรื่องที่มองว่าไม่ดีหรือน่าตำหนิ หากแต่เพียงเพราะเป็นปฏิกิริยาของมนุษย์ทั่วไปที่พึงจะรู้สึกได้เมื่อเกิดเหตุการณ์การสูญเสียเท่านั้นเอง
     ต่อรอง (bargaining) เพื่อปลอบใจในการที่ยังไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น ยังไม่สมควรที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ขอให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อนจะได้หรือไม่ รวมถึงการพยายามหาที่ย้ำความมั่นใจที่ใหม่ เช่น กรณีที่คิดว่าหมอวินิจฉัยผิด หรือรักษาไม่ดี น่าจะมีคนที่ช่วยได้ดีกว่าหรือขอแลกเปลี่ยนด้วยชีวิตของตนเองแทนจะได้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงการสูญเสียดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขหรือหาอะไรมาทดแทนได้ เนื่องจากต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของโลกมนุษย์
     ซึมเศร้า (depression) เกิดขึ้นเนื่องจากคิดว่าไม่สามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ และยังไม่ถือว่าเป็นความเจ็บป่วยแต่อย่างใด แต่ให้พึงระวังไว้ว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการที่ผู้เสียใจจะกระทำการใดๆ อันเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น การทำร้ายตนเองหรือแม้กระทั่งทำร้ายผู้อื่น
     ยอมรับ (acceptance) เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกและอารมณ์เศร้า รวมถึงสติค่อยๆ ฟื้นกลับมา ร่วมกับการได้รับข้อมูลที่ทำให้ทราบว่าอย่างไรเสียก็คงไม่สามารถจะแก้ไขการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้แล้ว การยอมรับจะค่อยๆ เกิดขึ้นในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการยอมรับแล้ว แต่อาจจะกลับไปสู่ขั้นตอนของการซึมเศร้าสลับไปมาได้ ถ้าขาดการประคับประคองจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น โดยอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรวมถึงตัวบุคคลคนนั้นเองที่จะสามารถฝ่าฟันกับความทุกข์ใจนั้นได้หรือไม่ด้วย

          มีข่าวร้าย...ควรจะบอกเขาดีไหม?

     เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยากแต่ความจริงก็เป็นเรื่องยากหากเราจะต้องบอกข่าวร้ายเรื่องอาการเจ็บป่วยให้แก่คนใกล้ชิด แม้ “ความจริงจะเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่คนพูดหรือคนฟังคนไหนจะตายก่อนไม่มีใครรับประกันได้ กล่าวคือ ถ้าคนแจ้งข่าวร้ายโดยที่คนฟังไม่ทันตั้งตัว คนแจ้งก็อาจจะตายได้เพราะผู้รับข่าวอาจเกิดความไม่พอใจ โกรธเนื่องจากยังไม่สามารถปรับใจยอมรับได้ทัน
    มีคนจำนวนมากกล้าๆ กลัวๆ ที่จะบอกข่าวร้ายให้คนใกล้ชิดทราบ ด้วยเหตุเพราะ
     
ปัจจัยภายในตัวของคนแจ้งเอง กังวลมากเกินไปว่าคนฟังจะรับไม่ได้ เกรงว่าถ้าบอกไปแล้วคนฟังเกิดความผิดหวังมากอาจจะฆ่าตัวตาย ยิ่งทำให้รู้สึกผิดมากขึ้น
     
ไม่มีความรู้หรือข้อมูลยังไม่แม่นพอที่จะบอกความจริง ที่สำคัญคือมีอารมณ์ร่วมไปด้วย ดังนั้นการบอกข่าวอาจจะไม่เหมาะสม
     
ขาดทักษะในการบอก เพราะไม่เคยมาก่อน ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี จนในที่สุดก็ตัดสินใจบอกข่าวร้ายในทันทีโดยไม่สนใจว่าจะเกิดความเสียหายอะไรตามมา หรือบางคนก็ตัดสินใจไม่บอกข่าวร้ายไปเลยก็มี พยายามอ้อมค้อมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดทั้งคนฟังและคนบอกก็ไม่ได้สื่อสารกัน และกลายเป็นคนที่จะบอกขาดความน่าเชื่อถือ
     
ปัจจัยจากความคาดหวังที่สูงมากจะยิ่งทำให้ลำบากใจในการบอกข่าวร้าย บางคนก็กังวลกับความคาดหวังของผู้อื่น ทั้งๆ ที่ความจริง การเจ็บป่วยต่างๆ ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิธีเหล่านี้...ไม่ควรทำ!
       ไม่ควรแจ้งข่าวร้ายผ่านทางโทรศัพท์ เพราะจะไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกผ่านทางสีหน้าท่าทางได้
     
ไม่ควรแจ้งข่าวร้ายในขณะที่คนฟังและคนแจ้งอยู่ในความเร่งรีบ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนฟังข่าวร้ายโดยตรง ควรมีเวลาในการแจ้งข่าวและประคับประคองจิตใจ รวมถึงประเมินการยอมรับของเขาด้วย
     
ไม่ควรบอกข่าวร้ายโดยที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนพอ เพราะจะทำให้ไม่สามารถอธิบายได้กระจ่างแจ้ง อาจยิ่งเพิ่มความกังวลให้คนฟังมากขึ้น
     
ไม่ควรบอกข่าวร้ายขณะที่คุณไม่มีเวลาพอที่จะชี้แจงหรือตอบคำถาม เรียกว่าปล่อยให้คนฟังช็อกไปก่อน ส่วนคนบอกก็ไปทำอย่างอื่นแทน ในที่สุดอาจลืมแสดงความเห็นใจต่ออีกฝ่าย
     
ไม่ควรพูดปลอบใจผ่านๆ ให้ความหวังแก่คนฟังข่าวร้ายในสิ่งที่ไม่เป็นจริง หรือไม่ให้ความหวังอะไรเลย


    ขั้นตอนที่ควรทำ...เมื่อต้องแจ้งข่าวร้ายให้คนใกล้ชิด
     
การเตรียมความพร้อมก่อนแจ้ง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก การแจ้งข่าวร้ายโดยที่ผู้ฟังอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับได้อาจเกิดผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง และหากไม่มีใครช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก็อาจเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา เช่น การทำร้ายตนเอง นอกจากนี้ควรสอบถามเจ้าตัวก่อนว่าในการรับฟังข่าวโดยเฉพาะข่าวร้ายเกี่ยวกับสุขภาพของเขานั้น เขาต้องการให้มีผู้อื่นอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น ญาติ หรือเพื่อนที่มาเยี่ยม
     
อาจเริ่มต้นด้วยการถามไถ่เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไปก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ฟังอยู่ในสภาพที่พูดคุยได้ ไม่ใช่ว่ากำลังมีอาการทางกายหรือง่วงซึมมากจนไม่สามารถรับฟังได้เต็มที่ ถ้าเป็นเช่นนั้นการแจ้งข่าวร้ายตรงนั้นอาจจะไม่มีประโยชน์
- ควรสร้างความรู้สึกให้ผู้ฟังทราบว่าผู้แจ้งข่าวสนใจตน พร้อมกับสังเกตและประเมินภาวะทางกายและจิตใจของผู้ฟัง ช่วยให้เขาได้มีโอกาสพูด เป็นการเปิดการสนทนาไปด้วย
     
ประเมินดูว่าคนฟังข่าวร้ายทราบมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตน บางคนไม่ทราบอะไรมาก่อนเลย บางคนพอทราบแต่ยังรับไม่ได้ คือยังปฏิเสธอยู่ในใจ บางคนก็อาจจะอยากลองใจผู้แจ้งว่าจะบอกความจริงตามที่ตัวผู้ป่วยเคยทราบมาบ้างหรือไม่ เหล่านี้อาจทำให้ผู้แจ้งหงุดหงิดได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรตัดสินผู้ป่วยไปก่อน ควรเห็นใจในความรู้สึกและสังเกตดูกิริยาท่าทางของเขาจะดีกว่า
     
ต่อไปก็ควรประเมินดูว่าคนฟังข่าวร้ายต้องการทราบเกี่ยวกับอะไรบ้างในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ การดำเนินโรค การพยากรณ์โรค บางอย่างที่เขาไม่อยากทราบก็อาจไม่จำเป็นต้องบอก หรือประเมินแล้วว่าเขาไม่พร้อมจะรับรู้ ณ เวลานั้นก็ยังไม่ต้องรีบบอกก็ได้
     
การให้ข้อมูล ควรบอกทีละน้อย เนื่องจากอาจจะเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจสำหรับคนทั่วไป อีกทั้งการแจ้งข่าวร้ายมักมีผลกระทบต่ออารมณ์ของคนฟัง หากฟังข้อมูลมากๆ ก็จะยิ่งเครียด สับสน และอาจจะยิ่งไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นอาจจะต้องค่อยๆ บอกเหมือนเป็นสัญญาณเตือนก่อน เช่น “แต่ความจริงมันร้ายแรงกว่าที่คุณคิด” และรอดูปฏิกิริยา ก่อนที่จะบอกข้อมูลอื่นต่อ โดยสังเกตปฏิกิริยาเป็นระยะๆ ไป เพื่อตรวจสอบดูว่าคนฟังเข้าใจหรือไม่ และเปิดโอกาสให้เขาพูดบ้าง จะได้ฟังน้ำเสียงและสังเกตความรู้สึกของผู้ฟังข่าวร้าย

จะรับมือกับข่าวร้ายอย่างไร...ให้ใจไม่ถูกทำร้าย
โดยทั่วไปเมื่อเราผ่านขั้นตอนของการรับรู้ในเรื่องการสูญเสียดังกล่าวมาแล้วนั้น คนทั่วไปจะค่อยๆ ฟื้นจากความรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างช้าๆ จนกระทั่งดีขึ้นเป็นปกติในที่สุด ซึ่งระยะเวลาของการเศร้าโศกเสียใจมักไม่เกิน 3 เดือน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าบ้างไม่มากนัก ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของคนๆ นั้น แต่ถ้านานกว่านั้นอาจจะนำไปสู่อาการเรื้อรังซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นก็จำเป็นต้องบำบัดรักษาด้วยทางการแพทย์จึงจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะทางใจจะดีขึ้นเร็วหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเสริมดังต่อไปนี้ด้วย
     
การได้รับการประคับประคองทางด้านจิตใจจากคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเวลาที่เกิดการสูญเสียและตามมาด้วยความผิดหวัง คนเราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว ไร้คุณค่า ต้องการใครสักคน (หรือหลายคนก็ได้) มาช่วยปลอบประโลม
     
ความรุนแรงของการสูญเสียที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการสูญเสียคนที่รักหรือคนที่มีความหมายในชีวิตย่อมจะเป็นทุกข์มากกว่าการสูญเสียคนหรือสิ่งของที่อาจจะสามารถหามาทดแทนได้
     
จิตใจของคนคนนั้น เช่น พื้นฐานสภาพจิตใจ เป็นคนที่เข้มแข็งหรือเคยมีประสบการณ์การสูญเสียแล้วสามารถผ่านความทุกข์ ณ ช่วงเวลานั้นมาได้ดีหรือไม่ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเจ็บป่วยทางด้านจิตเวช และที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมุมมองจากการสูญเสียที่ทำให้ทุกข์ใจมาเป็นการมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครบอกได้ว่าจะช้าจะเร็ว เพราะทุกสิ่งถูกกำหนดไว้แล้ว การบอกตัวเองว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอนคงจะเป็นวิธีปลอบใจที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นและสามารถใช้ตลอดไปทุกสถานการณ์


          อย่างไรก็ตามข่าวร้ายแม้จะมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ข่าวร้ายเป็นเพียงตัวกระตุ้นจิตใจของเราให้เกิดการตอบสนองทางด้านอารมณ์เท่านั้น และถ้ามองในอีกมุมหนึ่งข่าวร้ายจะร้ายแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนฟังข่าวร้ายนั้นมากกว่า เพราะข่าวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้นในความเป็นจริงแล้วก็เกิดขึ้นตามวัฏจักรของมนุษย์ที่มีเกิดก็ย่อมมีดับหรือเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่ ณ เวลานั้นๆ ที่ยังมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่ การดูแลจิตใจเข้าใจความรู้สึกของกันและกันน่าจะมีค่ามากกว่าการห้ามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ซึ่งคนทุกคนสามารถทำให้กันได้ ถ้ามีความรัก ความจริงใจ และความเห็นใจ เคารพคนฟังข่าวร้ายในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ ความรู้สึก เมื่อนั้นข่าวร้ายที่แจ้งไปอาจจะไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อสภาพจิตใจของเขามากนัก ในความเสียใจ ความสิ้นหวังที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นอาจจะมีเสี้ยวหนึ่งของความหวังหลงเหลืออยู่ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ แม้จะไม่ได้เป็นนิรันดร์แต่ก็เป็นสุขได้ ณ เวลานั้นๆ ซึ่งก็พอจะกล่าวได้ว่าการแจ้งข่าวร้ายครั้งนั้นประสบความสำเร็จแล้ว
“ความไม่แน่นอนของชีวิต คือเรื่องธรรมดา” ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ใจหรือความคิดของตัวเราเองมากกว่า ว่าจะยอมรับกับความไม่แน่นอนนี้ได้หรือไม่ หากข่าวร้ายนั้นบ่งบอกหรือเกี่ยวพันถึงการจะต้องสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รัก การหันมาพิจารณาคุณงามความดีของเขาผู้นั้นผู้ล่วงลับคงจะช่วยให้ความโศกเศร้าลดลง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มิได้จากเราไป แต่จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป


healthtoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์