สถิติพุ่ง! มะเร็งลำไส้ใหญ่ นับวันยิ่งร้าย ฆ่าเงียบ

สถิติพุ่ง! มะเร็งลำไส้ใหญ่ นับวันยิ่งร้าย ฆ่าเงียบ


        สถานการณ์เกี่ยวกับ "โรคมะเร็ง" อีกหนึ่ง "โรคร้ายแรงที่คุกคามชีวิตคนไทย" นั้น ล่าสุดมีกระแสว่าสำหรับในผู้หญิงนั้น มะเร็งเต้านม ชักเริ่มมาแรงแซง มะเร็งปากมดลูก ขณะที่ในผู้ชายก็จะเป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งตับ เป็นต้น แต่ไม่ว่ามะเร็งชนิดไหนจะพบบ่อยหรือมากกว่ากัน...ยังไงมันก็อันตรายทั้งนั้น จะยังไงก็ไม่ควรจะใช้ชีวิตอย่างประมาทจนสุ่มเสี่ยงกับการเผชิญหน้ากับมะเร็ง โรคร้ายที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ได้คร่าชีวิตประชากรโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1


และ "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดมะเร็งที่น่ากลัว


เพราะมีแนวโน้มในการคร่าชีวิตคนไทย เพิ่มมากขึ้น !!


        ทั้งนี้ จากรายงานเกี่ยวกับโรคมะเร็ง รายงาน International Agency for Research and Cancer ตั้งแต่ปี 2543 พบว่าสถิติผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในทวีปเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการป้องกันที่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดการตายจากมะเร็งชนิดนี้สูงกว่าที่ควร ซึ่งในเอเชียพบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด ขณะที่ในไทยจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติก็พบว่า "เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทย" 

        จากข้อมูลข้างต้น ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ การป้องกัน ที่มีการระบุว่ายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งหากจะลงลึกไปในประเด็นนี้ พล.ต.รศ.นพ. ปริญญา ทวีชัยการ แพทย์หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินอาหาร เครือโรงพยาบาล พญาไท อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจว่า...มะเร็งลำไส้ใหญ่นี้สามารถป้องกันได้


"สามารถจะเยียวยารักษาให้หายขาดได้"


เพียงแต่ "ต้องมีการตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ"


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ในระยะแรกมักไม่มีอาการ ใด ๆ แสดงออกมาให้พบเห็น-ให้ทราบอย่างชัดเจน จะมีอาการก็เมื่อโรคมักจะลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาให้หายขาดไม่สามารถทำได้ทุกราย


"โรคมะเร็งชนิดนี้จึงประดุจดังเพชฌฆาตเงียบ ที่คร่าชีวิตคนไทย สูงขึ้นทุกปี ดังนั้น การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ที่ดีที่สุดจึงคือการตรวจพบให้เร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นการป้องกันในเชิงรุก และทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น"


        แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ว่า...สามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ...การตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้กล้องส่อง (Colonoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ลักษณะจะเป็นท่อยาวนิ่ม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 11.3 มม. ใส่เข้าไปตามลำไส้ใหญ่ยาวประมาณ 1.50 เมตร เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ โดยติ่งเนื้อหรือเนื้องอก (Polyp) ที่ตรวจพบอาจไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งในที่สุด ทั้งนี้ จุดเด่นของการตรวจคัดกรองวิธีนี้คือ เมื่อส่องกล้องไปพบเนื้องอกธรรมดาหรือติ่งเนื้อ แพทย์จะสามารถทำการตัดออกโดยอุปกรณ์ที่อยู่กับกล้องได้ทันที


เป็นการป้องกันไม่ให้เนื้องอกกลายเป็นมะเร็งที่ได้ผลดี


        อีกวิธีหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันก็คือ การตรวจโดย CT-Colonography โดยเครื่อง CT-Scan 64 Slices ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ให้เป็นภาพเสมือนจริง สามารถค้นหาติ่งเนื้อขนาด 6-8 มม. ได้ถึง 85-90% และค้นหาติ่งเนื้อขนาด 8 มม. ได้ถึง 95-100% อีกทั้งข้อดีของวิธีนี้คือสามารถตรวจได้รวดเร็วภายในเวลาเพียง 15-20 นาที สามารถเสริมการตรวจวิธีส่องกล้องในการดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่าง ๆ ซึ่งมีลำไส้อุดตัน ไม่สามารถผ่านกล้องเข้าไปได้ และสามารถดูความผิดปกติของผนังลำไส้ด้านนอกที่การส่องกล้องจะไม่ เห็นได้ด้วย ซึ่งก็ให้ความแม่นยำสูงเช่นกัน


"ควรตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 50 ปีขึ้นไป" ...คุณหมอปริญญาระบุ พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า...สำหรับผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ก็อย่าท้อแท้ อย่าหมดหวัง เพราะปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ได้พัฒนาไปมาก ด้วยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น


การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ นั้น ปัจจุบันหวังผลถึงขั้นหายขาด ที่เรียกว่า "Curative resection" ส่วนการผ่าตัดมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นลำไส้ตรง (rectum) นั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้เทคนิคการผ่าตัด Total mesorectal excision หรือ TME โดยจะคัดเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกหมดแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ให้ผลหลังการผ่าตัดรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้


"หากผู้ป่วยมีมะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจจะพิจารณาให้เคมีบำบัดด้วย เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด เพื่อเสริมผลการผ่าตัดรักษาและโอกาสการหายขาดให้ดีขึ้น และลดโอกาสการเกิดมะเร็งซ้ำใหม่"...คุณหมอปริญญาระบุ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า...การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หลังการตรวจรักษาก็ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งหากปฏิบัติตัว ไม่ถูกต้อง แม้รักษาได้แล้วก็อาจจะกลับมาเป็นใหม่อีก


จะอย่างไร...การป้องกัน ก็ย่อมที่จะดีกว่ารอรักษา


เลิกพฤติกรรมเสี่ยง-ตรวจป้องกัน ตามที่แพทย์แนะนำ


"มะเร็งลำไส้ใหญ่" หรือมะเร็งอื่น ๆ ...ก็พอจะสู้มันได้ !!


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์