ใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ทำเสื้อเกราะ

ใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ทำเสื้อเกราะ


รพ.รามาฯจับมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะวิจัย สบ.3 กองวิทยาการณ์จังหวัดตาก เปิดตัวเสื้อเกราะกันกระสุนหญิง ที่ผลิตเสร็จ 20 ตัวแรกในไทย ทำจากฟิล์มเอ็กซเรย์เหลือใช้ หวังให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนหญิง ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับความปลอดภัย


        ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมด้วยคณะแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และพันตำรวจโทกฤษฎากร เชวงศักดิ์โสภาคย์ หัวหน้าวิจัย สบ.3 กองวิทยาการจังหวัดตาก ร่วมกันเปิดเผยถึงการนำฟิล์มเอ็กซเรย์เหลือใช้มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยนำไปทำเสื้อเกราะกันกระสุนได้ดี เสื้อเกราะ 1 ตัว จะใช้ฟิล์มถึง 44 แผ่น คือ หน้า 22 แผ่น และหลัง 22 แผ่น ต่อ 1 ตัว สามารถป้องกันกระสุนได้ดีกว่าเสื้อเกาะเหล็กที่ใช้กันอยู่


        พันตำรวจโทกฤษฎากร เปิดเผยถึงคุณสมบัติชั้นยอดของฟิล์มเอ็กซเรย์ที่สามารถกันกระสุนได้ เกิดจากแผ่นฟิล์มที่ทำจากแผ่นพลาสติกโพลิเมอร์มีคุณสมบัติทนความร้อน ลดแรงกระแทก และมีความยืดหยุ่นเมื่อถูกหัวกระสุนกระทบ โดยจะนำแผ่นฟิล์มที่ทำจากพลาสติกโพลิเมอร์มาจัดเรียงกันเป็นชั้น จากนั้นนำลิคิวลาเมอร์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกาวที่มีความคงทนมาปิดฟิล์มที่เรียงเป็นชั้นให้สนิท และใช้เคลือบฟิล์ม จากนั้นจึงหาตัวยึดติดแผ่นฟิล์มที่ซ้อนกันให้แน่น ก่อนนำมาเย็บใส่กับเสื้อกั๊กใช้สวมใส่เป็นเกาะเก็บกระสุน ไม่ใช่กันกระสุนเข้า


        ดังนั้นเมื่อคนร้ายยิง 30 นัดเข้าสู่เสื้อเกราะดังกล่าว กระสุนจะยังติดหรือคาอยู่กับแผ่นฟิล์ม และไม่สามารถทะลุเข้าไปประชิดอวัยวะในร่างกายได้ ใช้ป้องกันกระสุนปืนพกทั่วไป คือ จุด 22, จุด 38, 11 มม., 357 แม็คนัม โดยเสื้อ 1 ตัว จะมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทั้งนี้ได้มีการสาธิตการยิงกระสุนเข้าเสื้อเกาะโดยที่ไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น ที่สนามยิงปืนกรมการรักษาดินแดน


        ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์รณชัย คงสกล รองคณบดีฝ่ายการพัสดุ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า โรงพยาบาลรามาฯได้เป็นต้นแบบมอบฟิล์มเอ็กซเรย์ที่เหลือใช้จำนวน 43,200 กิโลกรัม หรือ 43 ตัน ราคากว่า 2,000,000 บาท มอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจคณะวิจัย สบ.3 กองวิทยาการจังหวัดตาก นำไปผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับสตรี ซึ่งเป็นอาสาสมัคร เพื่อใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ราคาต้นทุนของเสื้อเกาะหากทำด้วยฟิล์มเอ็กซเรย์เพียง 6,000 บาท มีอายุการใช้งานถึง 10 ปี ขณะที่ต่างประเทศมีต้นทุนการทำเสื้อเกราะในราคาสูง ตกตัวละ 30,000 -50,000 บาท

ดังนั้นโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงขอประกาศเชิญชวนทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ร่วมช่วยเหลืออาสาสมัครหญิงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการบริจาคฟิล์มให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำไปผลิตหรือออกเป็นเสื้อเกราะที่ใช้รักษาความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้



ขอบคุณข้อมูล : krobkruakao

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์