23 ตุลาคม ร่วมรำลึก พระปิยมหาราช

23 ตุลาคม ร่วมรำลึก  พระปิยมหาราช



ในเดือนตุลาคมนี้
มีวันที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่งคือ วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงวันเสด็จสวรรคต ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396  เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระนางเธอเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี)  ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจาก สำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี ทรงศึกษาด้านวิชาการ และโบราณราชประเพณีต่างๆ นอกจากนั้นพระบรมชนกนาถ ทรงจ้างครูซึ่งเป็นสตรีชาวอังกฤษ มาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากพระบรมชนกนาถ ทรงเห็นว่า ต่อไปในกาลข้างหน้าจะจำเป็นอย่างมาก รวมถึงพระบรมชนกนาถทรงสั่งสอนวิชาการด้านต่างๆ เช่น วิชารัฐศาสตร์ โหราศาสตร์ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย จากนั้นเมื่อพระองค์พระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ และเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือ สมเด็จพระบรมชนกนาถสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน พร้อมกันถวายราชสมบัติแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ แห่งพระบรมจักรีวงศ์  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 และได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ขุนนางผู้ใหญ่จึงตกลงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช

ในระหว่างที่พระองค์มิต้องทำหน้าที่
ในการบริหารงานบ้านเมือง พระองค์ได้เสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมือง ที่ชาวยุโรปปกครองอยู่ และได้นำสิ่งดีๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านมี นำมาใช้พัฒนาประเทศไทยของเรา จึงทำให้ประเทศไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญในหลายๆ ด้านของพระองค์  อาทิ

ด้านการปกครอง
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะ ไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาว ซึ่งเป็นประเทศราช กระทรวงลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันออก และตะวันตก และเมืองมลายู  กระทรวงนครบาล มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร และหัวเมืองปริมณฑล กระทรวงวัง มีหน้าที่ดูแลรักษาการต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีรายได้จากประชาชน และกระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่ในการดูแลควบคุมการเพาะปลูก ป่าไม้ และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

ด้านการศึกษา
ทรงวางรากฐานการศึกษาของชาติ โดยให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และจัดการเรียนการสอน โดยให้กรมพระอาลักษณ์ แต่งตั้งให้เป็นขุนนาง สำหรับเป็นครูสอนหนังสือไทย สอนคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ เริ่มสอนให้กับบุตรหลานเจ้านายข้าราชการ ที่ถวายตัวรับราชการในกรมมหาดเล็ก เมื่อเรียนรู้หนังสือไทยแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้น ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา และขยายไปทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ทั่วถึงประชาชนทุกชั้น

การเลิกทาส
เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า การมีทาสอยู่เป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว และเป็นการส่งเสริมให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง จึงมีพระราชประสงค์เลิกทาสให้เป็นไท ตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่าย เพื่อหาวิธีที่จะไม่ให้เหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาส และเจ้าของทาส ดังนั้นในปี พ.ศ.2416 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2417 ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทย โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ ในการเลิกทาสแม้แต่หยดเดียว

ด้านสาธารณูปโภค
เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการ ที่ทรงวางระบบการจัดการให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายด้านมาก อาทิ

การประปา
ทรงมีดำริว่า ควรมีน้ำสะอาด เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องน้ำประปาให้แก่ประชาชน

การคมนาคม
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นหลายสายเช่น ถนนเยาวราช ราชดำเนินกลาง และนอก และทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสะพานข้ามคลอง และทางรถไฟหลายแห่ง เช่น สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ - พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

การสาธารณสุข
ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างโรงพยาบาล เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชน จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้เป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้างโรงพยาบาลขึ้นอีกหลายแห่ง พร้อมทั้งจัดให้มีการปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษให้กับประชาชน โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด

การไฟฟ้า
เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ได้ทอดพระเนตรเห็นกิจการไฟฟ้า และเห็นถึงประโยชน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าให้แก่ประชาชน และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้กับประชาชนได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2433

ด้านการป้องกันประเทศ
ในรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นยุคของการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ซึ่งลัทธิการล่าอาณานิคมนี้ ได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระปรีชาสามารถอย่างสุดพละกำลัง ในการรักษาประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ในหลายๆ ครั้งถึงแม้ว่า จะต้องเสียดินแดนบางส่วน ให้กับต่างชาติก็ตาม แต่การเสียดินแดนไทยก็ได้รับผลประโยชน์กลับมาเช่นเดียวกัน เช่น ในปี พ.ศ.2449 ไทยเสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสได้ยึดเมืองตราดไว้ ไทยจึงต้องยอมเสียดินแดนส่วนนั้นไป เพื่อแลกกับเมืองตราด และฝรั่งเศสก็ยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี
ส่วนใหญ่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลปะจะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตก มาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม ผลงานที่ปรากฏให้เห็น เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต กระทรวงกลาโหม เป็นต้น ส่วนด้านวรรณกรรม พระองค์ก็เป็นกวีเอกที่ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินไทยเช่นกัน ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น ลิลิตนิทราชาคริต พระราชพิธีสิบสองเดือน บทละครเรื่องเงาะป่า เป็นต้น

นอกจากพระราชกรณียกิจดังที่กล่าวมาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงโปรดการเสด็จประพาส ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แบบทางการ และไม่เป็นทางการ แต่มิได้ไปเพื่อการสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ พระองค์ทรงปลอมตัวเป็นสามัญชนบ้าง ขุนนางบ้าง เพื่อเสด็จดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่างๆ สิ่งเหล่านี้พระองค์ทรงนำมาพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงประชวร และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เนื่องจากทรงตรากตรำพระราชภารกิจมากมาย รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่พระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ปวงชนชาวไทย จึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่าพระปิยมหาราชอันหมายถึง พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชน นอกจากนี้ ทรงได้รับการยกย่องจากชาวต่างประเทศว่า ทรงเป็นนักปกครอง และนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงของความเจริญ ในประเทศตะวันตกมาผสมผสาน ให้เข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยทรงยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ปัจจุบันองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ยังได้ประกาศยกย่องเอกสาร การปฏิรูปการบริหารการปกครองแผ่นดินสยาม ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นมรดกความทรงจำของโลกด้วย
 
และเนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ที่จะเวียนมาถึงนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมใจกันถวายความเคารพสักการะ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสมัครสมานสามัคคี เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ให้มีความเจริญ เหมือนดั่งที่พระองค์ท่าน ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความเหนื่อยยาก เพื่อปกป้องประเทศไทยของเรา ให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ประเทศไทยของเราจึงมีความเป็น  เอกราชมาจนถึงทุกวันนี้




****ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือวันและประเพณีสำคัญ โดย ศิริวรรณ  คุ้มโห้ และ หนังสือพระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ โดย รศ.ดนัย ไชยโยธา



ข้อมูลข่าว :
  สิริวิภา  ขุนเอม ศูนย์ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
 

เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์