ติดกาแฟ มีวิธีเลิกอย่างไร

ติดกาแฟ มีวิธีเลิกอย่างไร


นอกเหนือจากความหอมของกาแฟ บรรยากาศในการดื่มกาแฟที่แสนจะมีเสน่ห์ นักดื่มกาแฟรู้กันดีว่าในกาแฟมีสารที่เรียกว่า “คาเฟอีนอยู่ ซึ่งสารคาเฟอีนนี้จะทำช่วยให้คนวัยทำงานอย่างเราๆผ่านช่วงบ่ายอันแสนง่วงไปได้ แต่คนส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า คาเฟอีนเป็นสารเสพติดหมอไม่ได้พิมพ์ผิด และท่านผู้อ่านก็ไม่ได้อ่านผิด คาเฟอีนเป็นสารเสพติดจริงๆ


             ในทางการแพทย์ได้กำหนดให้มีอาการที่เรียกว่า ภาวะติดคาเฟอีน(caffeine dependence) เช่นเดียวกับสารเสพติดอย่างสุรา ซึ่งภาวะดังกล่าวถูกกำหนดอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า DSM-IV เหตุผลเนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยมีสูตรโครงสร้างคล้ายสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าอะดีโนซีน(Adenosine) ผลก็คือทำให้ในสมองมีสารโดปามีน (Dopamine) และ ซีโรโตนิน(Serotonin)เพิ่มสูงขึ้น สารทั้งสองตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้สมองตื่นตัว และทำงานหนักขึ้น รวมถึงความรู้สึกพึงพอใจจากการดื่มกาแฟ  หลังจากดื่มกาแฟแล้วคาเฟอีนจะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่สมองภายใน 45 นาที และมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 3-5 ชั่วโมง

           คาเฟอีนจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เรียกว่าการเมตาบอลิสม์ที่ตับ ดังนั้น ผู้ที่ควรจะต้องเลิกดื่มกาแฟ ก็คือ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับ เพราะจะทำให้ตับทำงานหนักเกินไป



           เด็กและสตรีมีครรภ์ก็ควรงดดื่มกาแฟ เพราะการที่สมองถูกกระตุ้นด้วยคาเฟอีน จะทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องพัฒนาการของสมอง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้



           คาเฟอีนยังกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะจึงควรงดการได้รับคาเฟอีนทั้งจากชา กาแฟ โกโก้ ช็อคโกแล็ต



           ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ คาเฟอีนจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจเต้นเร็วขึ้น นั่นแปลว่าหัวใจทำงานหนักขึ้น



           นอกจากนี้กาแฟยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น  เร่งการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก  และยังมีผลต่อสภาพจิตใจในผู้ที่มีความวิตกกังวลอีกด้วย



           อ่านถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านอยากเลิกดื่มกาแฟหรือยังครับ สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเพียงวันละไม่เกิน 1 แก้ว การเลิกกาแฟนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้ที่ติดคาเฟอีน (caffeine dependence) การเลิกกาแฟอาจจะเป็นเรื่องยากสักนิด แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก เกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าท่านติดคาเฟอีนหรือไม่นั้น พิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ใน 4 ข้อต่อไปนี้ คือ



           1. มีการใช้คาเฟอีน หรือดื่มกาแฟอยู่ แม้จะมีความรู้ว่า กาแฟมีผลทำให้เกิดอาการทางร่างกายหรือจิตใจที่มีอยู่เรื้อรังหรือกำเริบ



           2. มีความต้องการได้รับคาเฟอีน หรือดื่มกาแฟอยู่ตลอด โดยไม่สามารถลดปริมาณลงได้



           3. มีภาวะถอนคาเฟอีน ( caffeine withdrawal) หรืออาการลงแดงกาแฟนั่นเอง ซึ่งอาการสำคัญก็คือ วันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟ จะเกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนมาก  ปวดศรีษะ  และอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับคาเฟอีนหรือดื่มกาแฟครั้งสุดท้าย และจะมีอาการมากที่สุด ใน 2-4 วันแรก โดยมากภาวะถอนคาเฟอีน มักจะพบได้ในคนที่ดื่มกาแฟเกิน 2 แก้วต่อวัน หรือได้รับคาเฟอีนอย่างน้อย 100 มิลลิกรัมต่อวัน



           4. มีภาวะดื้อคาเฟอีน (caffeine tolerance) กล่าวคือ ปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจะทำให้รู้สึกสดชื่นหรือกระปรี้กระเปล่าเท่าเดิม



           สำหรับเทคนิคการเลิกดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการติดคาเฟอีน หมอขอแนะนำวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้



           1. ให้ลดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันลง เช่น จากที่เคยดื่มวันละ 4 แก้วให้ลดลงเหลือ 3 แก้ว แต่หากจำเป็นต้องดื่มแก้วที่ 4 ให้ชงด้วยกาแฟสกัดคาเฟอีน(Decaffeinated) จนกระทั่งร่างกายเริ่มชินก็ให้ลดปริมาณลงอีก



           2. สำรวจว่า นอกจากกาแฟแล้ว ท่านยังได้รับคาเฟอีนจากอาหารชนิดใดอีกบ้าง เช่น ชา โกโก้ ช็อคโกแลต ซีเรียลรสโกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น จากนั้นให้ลดการบริโภคทุกอย่างร่วมกับการลดปริมาณกาแฟที่ดื่มในแต่ละวัน  หรือเลิกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้



           3. นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง



           4. ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 1-2 ลิตร และการรับประทานวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยทุเลาอาการอ่อนเพลีย



           5. การออกกำลังกาย จะช่วยให้สมองเพิ่ม ซีโรโตนิน(serotonin) และโดปามีน(dopamine) ได้เช่นเดียวกันกับการได้รับคาเฟอีน



           6. งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่



           7. รับประทานอาหารเช้า เพราะระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เพียงพอจะช่วยให้สมองและร่างกายทำงานได้โดยไม่อ่อนเพลีย



           8. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ และควรหลีกเลี่ยงการไปร้านกาแฟ



           9. หากมีอาการปวดศรีษะระหว่างงดกาแฟ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือแอสไพรินได้ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่



           10. หากมีอาการหงุดหงิด ใจสั่น อาจจะใช้วิธีอาบน้ำเย็นช่วย



           เทคนิคทั้ง 10 ข้อนี้ประยุกต์จากความรู้ทางวิชาการและจากประสบการณ์การแนะนำผู้มาตรวจสุขภาพ รวมถึงประสบการณ์ของหมอเองในการลดปริมาณการดื่มกาแฟ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้อ่านลดปริมาณการดื่มกาแฟได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่มกาแฟก็คือ ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของท่านผู้อ่านเอง




ที่มา
: รพ.สมิติเวช ศรีราชา


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์