เตือนภัย ยกตึกทรุด ไม่รอบคอบ...อันตรายถึงชีวิต!!
เตือนภัย 'ยกตึกทรุด' ไม่รอบคอบ...อันตรายถึงชีวิต!!
จากกรณีที่ตึกหลายหลังมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ ที่อยู่ในอาคาร ทั้งใน กรณีตึกทรุดตัวจากฐานรากที่ไม่ได้ มาตรฐาน หรือในกรณีที่พื้นที่อยู่อาศัยต่ำกว่าสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่เพิ่มเติมขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันโบราณสถานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต ลักษณะที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากหลายสาเหตุที่กล่าวมา แก้ได้ด้วยการ “ยกอาคารให้สูงขึ้น” ปัจจุบันมีหลาย บริษัทที่รับทำ แต่ก็มีหลายบริษัทเช่นกันที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีผู้ได้รับอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ ธเนศ วีระศิริ รองเลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงสถานการณ์ตึกทรุดขณะนี้ว่า ปัจจุบันมีบ้านหลายหลังที่ ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของอาคารมาก ทั้งด้วยปัจจัยของฐานรากที่ไม่ได้มาตรฐานจากความไม่รับผิดชอบของผู้สร้าง และอีกประเด็นเป็นผลจากชั้นดินมีความอ่อนตัวสูง เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ บางราย ผู้สร้างเจาะเสาเข็มไปไม่ถึงชั้นดินแข็ง ทำให้ทรุดเร็ว บางราย ต่อเติมบ้านโดยตอกเสาเข็มสั้นกว่าของเดิมพอเกิดการทรุดตัว อาคารทั้งสองจะดึงกันจนเกิดเป็นรอยร้าวน่ากลัว!
อาคารที่จำเป็นต้องยก ให้สูงขึ้นมีด้วยกันสองกรณี คือ 1.พื้นที่โดยรอบอาคาร ถูกถมให้สูงจนพื้นที่ของอาคารต่ำและ 2.ฐานรากของอาคารมีปัญหาทำให้อาคารทรุดเอียง ซึ่งทั้งสองกรณี ต้องยกให้สูงขึ้นโดยวิธีทางวิศวกรรมในการเสริมเสาเข็มเพิ่มเติมให้สูงขึ้นในระดับที่ต้องการ ขณะเดียวกันขั้นตอนที่ยากเกิดจากบางกรณีเสาเข็มเดิมมีการหักทำให้ยากลำบากในการต่อเติม
“เนื่องจากผู้ประกอบการ ที่รับยกตึกให้สูงมีเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ใช้บริการจะต้อง มีความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกสรรเพิ่มมากขึ้น เพราะการยกอาคารที่มีความสูงต้องคำนวณน้ำหนักทางวิศวกรรมของตัวตึก และวางแผนการยกอย่างรอบด้าน มิฉะนั้น คนงานอาจได้รับอันตราย ซึ่งเห็นได้จากข่าวการยกตึกแล้วพลาดทับคนงานในหลายราย ที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ วิธีการยกอาคาร จะเริ่มจากคำนวณน้ำหนักตึกเพื่อเจาะเสาเข็มใหม่ให้รับน้ำหนักของอาคารได้ จากนั้นเจาะสำรวจสภาพดินเพื่อให้ทราบความแข็งของชั้นดิน เลือกใช้เสาเข็มใหม่โดยให้มีความยาวถึงชั้นดินแข็ง ต่อมาติดตั้งเสาเข็มใหม่ในแต่ละฐาน นำแม่แรงที่ผ่านการคำนวณ ที่จะรับน้ำหนักอาคารได้ ดันตรงเสาเดิมให้สูงขึ้นเพื่อ ถ่ายน้ำหนัก สู่เสาเข็มใหม่ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเพราะถ้าไม่มีการคำนวณ น้ำหนักตึกอย่างดี ตึกที่ดึง ขึ้นอาจทรุดลงมาทับช่างได้ โดยข้อผิดพลาดส่วนใหญ่อยู่ที่จุดนี้
ต่อมาตัดเสาตอม่อ ทุกเสาให้ขาด แล้วทำการดัน แม่แรงที่สามารถรับน้ำหนัก ตัวอาคารได้มากกว่า 2-3 เท่า ให้ยกขึ้นพร้อม ๆ กันทุกเสา
“การยกอาคารที่ดีควรมีวิศวกรคอยดูแล เพราะต้องใช้การคำนวณน้ำหนักที่จะรับเพื่อความปลอดภัย ซึ่งถ้าพลาดขึ้นมาไม่ใช่แค่ชีวิตคน แต่ตัวอาคารอาจได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงด้วยเช่นกัน เนื่องจากฐานรากของอาคารเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจมากสำหรับผู้อาศัย”
สำหรับการยกอาคารที่เป็นโบราณสถานค่อนข้างมีความลำบากเนื่องจากมีการปลูกสร้างมานาน และด้วยโบราณวัตถุที่มีความเก่าแก่ยิ่งต้องระมัดระวัง ซึ่งจากการ ทำงานที่ผ่านมาพบว่า โบราณสถานที่อยู่ในยุค ร.5 ตอนปลายจะเริ่มมีการเจาะเสา เข็มขึ้น โดยในยุคนั้นถือเป็นวิวัฒนาการใหม่ของเมืองไทย แต่เสาเข็มที่ฝังลงไปยังมีความลึกเพียงสี่เมตร มีการแปรรูปใหม่ให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมอันแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ของช่าง
ในการยกโบราณสถานต้องขุดดินไปยังฐานรากที่ มีเสาเข็มและไม่มีเสาเข็ม เจาะส่วนฐานรากด้านล่างให้เป็นวงโค้ง แล้วกดเสาเข็มใหม่ลงไปในพื้นดิน แล้วจึงทำการกดแม่แรงเพื่อดันตึกขึ้นเหมือนกับการยกอาคารแบบธรรมดา
สำหรับข้อดีของการยกอาคารโบราณสถานนั้น นอกจากจะทำให้อาคารดังกล่าวมีความสง่างามดังเดิมแล้ว ยังช่วยไม่ให้โบราณสถานเหล่านั้นได้รับความเสียหายด้วย เนื่องจากพื้นที่โดยรอบปัจจุบันยกพื้นสูงกว่าเดิม ทำให้เมื่อฝนตกน้ำจะไหลมาเอ่อท่วมบริเวณโบราณสถาน ทำให้โครงสร้างได้รับความชื้นและเสียหาย
การยกตัวอาคารโบราณสถานในปัจจุบัน กรมศิลปากรมีความรู้ความเข้าใจดี แต่ยังขาดงบประมาณในการบูรณะ เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งอนาคตหากภาครัฐหันมาเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา
และพร้อมกันนั้นต้องไม่ลืมว่า การยกอาคารทุกครั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงคือ ความปลอดภัย ทั้งของเจ้าของบ้านและพนักงานที่ทำงาน.
ข้อสังเกตเบื้องต้นกรณีบ้านทรุดเอียง
1. ทดลองวางวัสดุทรงกลมที่พื้น แล้วดูว่าวัสดุนั้นกลิ้งไปในในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอยู่เสมอหรือไม่ หากกลิ้งไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใด และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งพื้นชั้นล่างและชั้นบน อาจสันนิษฐานได้ว่า บ้านมีปัญหาทรุดเอียง
2. ทดลองเปิดประตูค้างไว้ หากประตูอ้าออก หรือปิดเองในทิศทางเดิมเสมอ และเกิดขึ้นทั้งชั้นล่างและชั้นบนก็อาจเป็นข้อสังเกตได้อีกประการหนึ่งว่า บ้านหรืออาคารอาจเกิดการทรุดเอียง
3. สังเกตจากระดับน้ำในตู้ปลา (ถ้ามี) ว่าอยู่สูงจากฐานตู้เท่ากันหรือไม่ หากไม่เท่ากันควรเริ่มตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร จะเป็นเพราะบ้านทรุดได้หรือไม่
4. สำรวจรอยร้าวที่เสาว่ามีรอยแตกแนวนอน เป็นเส้นที่ชัดลึกและมีลักษณะเป็นปล้อง ๆ หรือไม่ รอยแตกเช่นนี้เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่าอาคารทรุดเอียง เสาที่ควรสังเกตเป็นพิเศษคือเสาที่อยู่บริเวณขอบนอกของบ้าน รอยแตกเช่นนี้จะเกิดเพียงด้านใดด้านหนึ่งของเสาไม่แตกโดยรอบ ปลายของรอยแตกจะชี้ไปในทิศทางที่ทรุดตัว ยกตัวอย่างเช่น พบรอยแตกที่เสาหน้าบ้านเป็นปล้อง ๆ แนวนอน ปลายของรอยแตกชี้ไปทางหลังบ้าน ลักษณะ เช่นนี้แสดงว่าบ้านกำลังทรุดเอียงไปทางด้านหลัง เป็นต้น
หากสำรวจด้วยตนเองตามที่กล่าวแล้วพบว่า อาคารมีแนวโน้มทรุดเอียง ควรติดต่อช่างหรือวิศวกรให้ทำการสำรวจสภาพการทรุดตัวของฐานราก ซึ่งการสำรวจควรทำไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เว้นระยะห่างต่อครั้งประมาณ 2-4 สัปดาห์