● เมื่อการ ขี้ลืม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ●

"อัลไซเมอร์" โรคที่ทำลายเซลล์สมอง
            เชื่อว่าหลายบ้านคงเคยมีอาการเหล่านี้มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่หาโทรศัพท์ไม่เจอทั้งๆ ที่อยู่ในมือตัวเอง เดินหมุนตัวอยู่ในครัวเพราะจำไม่ได้ว่าจะมาหยิบอะไรหรือที่หนักกว่านั้นคือ ลืมบางเหตุการณ์ของเมื่อวานไปเสียสนิท

            เหตุการณ์ในทำนองนี้ เกิดขึ้นกับคุณหรือคนในบ้านคุณบ่อยไหม? ถึงแม้จะเป็นอาการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในบางกรณีหากเกิดขึ้นบ่อยเกินไป ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะอาการดังกล่าว กำลังเข้าข่าย "อัลไซเมอร์" โดยไม่รู้ตัว

● เมื่อการ ขี้ลืม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ●


 คำว่า "อัลไซเมอร์" เป็นโรคอย่างหนึ่งที่มีการทำลายเซลล์สมองไปเรื่อยๆ มีอุบัติการณ์ตามอายุที่มากขึ้น มักพบกับคนในบ้านที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของกลุ่มโรคผิดปกติทางสมอง "Dementia" ซึ่งมีการถดถอยในหน้าที่ของสมอง จำเหตุการณ์และช่วงเวลาได้ไม่แน่นอน ความจำเสื่อม มีปัญหาเรื่องการคิดอ่าน หาเหตุผล มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างแปลกๆ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสม อารมณ์จะไม่สม่ำเสมอ เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

            ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ เป็นการให้การรักษาตามอาการ และชะลออาการของโรคไม่ให้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น จึงทำให้โรคอัลไซเมอร์แตกต่าง และรุนแรงกว่าอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือ ป้องกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดอัลไซเมอร์ โดยการควบคุมโรคหัวใจ งดการสูบบุหรี่ และดื่มของมึนเมา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารมัน รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่อุดมไปด้วย วิตามินบี 6 บี 12 และกรดโฟลิค พร้อมกับฝึกสมาธิ และคิดคำนวณ บริหารจัดการความเครียด และอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำ

            อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุที่มากขึ้น ประวัติในครอบครัว และการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการของ Down's Syndrome มักจะเกิดอัลไซเมอร์ก่อนอายุ 40 ปี

ใครในบ้านที่เสี่ยงเป็น "อัลไซเมอร์" บ้าง?
            1. ผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอายุ 85 ปีเป็นโรคนี้ ดังนั้นคิด และคำนวณเกี่ยวกับตัวเลขอยู่บ่อยๆ เช่น คำนวณเวลา คำนวณราคาซื้อขาย หรือถ้าเป็นไปได้อยากให้ทำคณิตคิดเร็ว เป็นการฝึกสมองได้เป็นอย่างดี
            2. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังจะทำให้ผู้ป่วยเสียความทรงจำ การรักษาความดันจะทำให้ความดันดีขึ้น
            3. หญิงวัยหมดประจำเดือนระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงในวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงจะเพิ่ม ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้ได้
            4. กรรมพันธุ์ถ้ามีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญญาอ่อน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
            5. ภาวะขาดสารอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์(Antioxidant) ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์
            6. ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน


รู้ได้อย่างไรว่ากำลังจะเป็น "อัลไซเมอร์"
            1. อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์ หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
            2. สับสนเรื่องเวลา สถานที่ กลับบ้านไม่ถูก
            3. จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกภายในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
            4. มีปัญหาเรื่องการพูดลืมหรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำ หรือประโยคซ้ำๆ
            5. ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
            6. มีปัญหาเรื่องการนับหรือถอนเงิน การใช้โทรศัพท์
            7. มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกจากบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
            8. ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น


● เมื่อการ ขี้ลืม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ●


หากพบว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีปัญหาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์แล้ว หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ควรมาพบแพทย์อายุรกรรมระบบประสาท เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด และวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคหลายอย่างที่มีอาการความจำเสื่อม ซึ่งรักษาให้หายได้ เช่น โรคไทรรอยด์ ซิฟิลิสขึ้นสมอง หรือโรคขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น และหากตรวจพบว่าเป็นอัลไซเมอร์ก็จะได้รีบให้การรักษาเพื่อชะลออาการของโรคออกไปให้ได้นานที่สุด

เครดิต ... สสส.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์