จากยากระเพาะสู่ยาทำแท้ง

จากยากระเพาะสู่ยาทำแท้ง



กลายเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งกับการใช้ยาทำแท้งชนิด "ไมโซโพรสทอล" (Misoprostol) ซึ่งรู้จักกันในชื่อทางการค้า "ไซโตเทค"

แต่ล่าสุดกลับพบการปลอมแปลงตราสินค้าเป็น "ไซโตลอกซ์" ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกัน

ยาไซโตเทค ไม่ใช่ยาผิดกฎหมาย เพราะเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารชนิดรุนแรง โดยเป็นยาควบคุมพิเศษ สามารถใช้ได้ในสถานพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ห้ามมิให้คลินิกหรือร้านขายยาทั่วไปนำไปจำหน่าย


          เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงในเรื่องของการบีบรัดตัวของมดลูกโดยยาชนิดนี้มีข้อบ่งชี้ห้ามให้แก่หญิงตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด

          นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. ให้ความรู้ว่า จากข้อห้ามใช้ของยาชนิดนี้ ส่งผลให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปใช้ในการทำแท้งด้วยวิธีเหน็บแทน ขณะเดียวกัน ก็มีการใช้ยาทำแท้งเสริมเข้าไปอีกตัว ที่เรียกว่า ยาไมฟิพริสโทน (Mifepristone) มีชื่อทางการค้าว่า  "เอ็มทีพิล" (Mtpill) เป็นยาทำแท้งโดยตรง โดยนำมาใช้ร่วมในการทำแท้งควบคู่กับยาตัวแรก ทั้งๆ ที่ยาตัวนี้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แต่อย่างใด

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ยาชนิดใดทำแท้งถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น ยกเว้นต้องเป็นการใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นไปตามข้อบังคับของแพทยสภา ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เท่านั้น

          สำหรับโทษของผู้ที่จำหน่ายยาทำแท้ง แบ่งเป็น โทษขายยาไม่มีใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษขายยาไม่ขึ้นทะเบียน จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์