กรรมแห่งความริษยา

กรรมแห่งความริษยา



กรรมแห่งความริษยา

ความริษยาเกิดจากการขาดมุทิตา (ที่มีลักษณะคือความชื่นชม) หมายความว่า พลอยยินดีในความสุขหรือความสำเร็จของผู้อื่น มุทิตานี้ทำได้ยากกว่ากรุณา บางคนมีเมตตาปรารถนาดี มีความกรุณาสงสาร แต่เจริญมุทิตาไม่ได้ เพราะเราทุกคนมีอนุสัยกิเลสคือความริษยานอนเนืองอยู่ในกระแสจิต น้อยคนนักที่จะกำจัดความริษยานั้นได้

จะต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ จึงจะบรรเทาลงได้ การฝึกฝนนั้นก็ต้องประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ คือทำความเข้าใจด้วยเหตุผลว่าความริษยาไม่ก่อให้เกิดคุณใดๆ ผู้มีความริษยานั้นจะได้รับผลคือขาดบริวาร แต่ผู้ที่เจริญมุทิตาโดยกำจัดความริษยาได้ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือ มีบริวารห้อมล้อม มีมิตรสหายห้อมล้อม ความริษยานั้นก่อให้เกิดโทษในปัจจุบันและภพต่อไป ไม่ว่าเกิดกับผู้ใดก็ทำให้ผู้นั้นตกต่ำไปตลอด

ยกตัวอย่างกรรมแห่งความริษยาจากพระไตรปิฎก

มีเรื่องเล่าว่าในสมัยพุทธกาล มีพระอรหันต์รูปหนึ่งนามว่า “โลสกติสสะ” ตอนท่านถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา บิดามารดาก็ได้รับทุกข์แสนสาหัส บ้านของท่านเกิดไฟไหม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่พวกท่านก็อดทนเลี้ยงดูจนเติบใหญ่รู้ความ เมื่อเดินไปไหนมาไหนได้ก็ถูกทอดทิ้งเป็นขอทานอยู่ข้างถนน

วันหนึ่งพระสารีบุตรเถระ เห็นเข้าก็สงสาร พระสารีบุตรได้หยั่งรู้ว่าเด็กคนนี้เคยสั่งสมบารมีธรรมมาในชาติปางก่อน จึงได้นำตัวมาวัดแล้วให้บวชเป็นสามเณร ต่อมาท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุชื่อโลสกติสสะ ภายหลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์

ตั้งแต่ท่านเกิดมาจนกระทั่งบรรลุอรหัตผล ไม่เคยกินอิ่มแม้สักวันหนึ่งเลย ทั้งนี้เพราะเวลาที่ท่านบิณฑบาตอยู่ เมื่อคนใส่บาตรท่านแล้วอาหารหายไปเองก็มี หรือแม้จะมีอาหารอยู่พียงเล็กน้อยแต่คนอื่นกลับเห็นอาหารอยู่เต็มบาตรเลยไม่ถวายอีกก็มี ซึ่งอกุศลกรรมนี้เป็นผลของความริษยา

เรื่องราวในอดีตชาติของพระภิกษุชื่อโลสกติสสะ มีว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระโลสกติสสะนี้เคยบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นภิกษุผู้ทรงศีล วันหนึ่งพบพระเถระรูปหนึ่งที่เป็นพระอรหันต์เดินทางมาจากแดนไกล พระโลสกติสสะไม่ทราบว่าพระรูปนี้สำเร็จสมณกิจแล้ว ท่านเกรงว่าโยมอุปฏฐากจะเลื่อมใสพระอาคันตุกะรูปใหม่ ด้วยความริษยาจึงแกล้งทำให้พระอาคันตุกะนั้นอดอาหารหนึ่งมื้อ ผลกรรมนี้ส่งผลให้ท่านตกนรกเป็นเวลานาน แล้วมาเกิดเป็นคนที่ไม่เคยกินอิ่มเลย

เมื่อท่านใกล้นิพพาน พระสารีบุตรหยั่งรู้ว่าท่านจะนิพพานในวันนั้น จึงใช้คนนำอาหารไปให้ท่าน เพื่อจะได้ฉันอาหารอิ่มก่อนนิพพาน แต่ด้วยผลกรรมเก่าทำให้คนนำอาหารลืมเสียแล้วเททิ้ง ต่อมาพระสารีบุตรนึกขึ้นได้ให้คนไปถามว่าฉันอาหารหรือยัง ท่านตอบว่าวันนี้ไม่ได้ฉันอะไร พระสารีบุตรจึงนำยาจตุมธุไปให้ท่านฉัน โดยพระสารีบุตรได้จับบาตรไว้ตลอดเวลาที่ท่านฉันอยู่ หากไม่จับไว้ยาจตุมธุอาจหายไปจากบาตรด้วยผลกรรม
พระโลสกติสสะฉันอิ่มวันนั้นเพียงวันเดียวแล้วปรินิพพานในวันนั้นเอง

จะเห็นว่าผลของความริษยานั้นส่งผลในปัจจุบันและอนาคต สามารถติดตามให้ผลจนถึงช่วงเวลาที่จะนิพพานอีกด้วย และที่ผลของความริษยาที่เกิดขึ้นกับพระโลสกติสสะอย่างรุนแรง ทำให้ถึงกับตกนรกและมีผลมาจนถึงวันแห่งปรินิพพานนั้น เพราะท่านทำกรรมที่เกิดจากความริษยากับพระอรหันต์นั่นเอง

การทำกรรมไม่ดีกับผู้มีศีล ผู้มีบุญ ผู้มีคุณ ผู้เป็นพระสุปฏิปันโนขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ จึงเป็นบาปมากกว่าผู้ทุศีล ผู้ไม่มีบุญ ผู้ไม่มีคุณ แต่จะทำกรรมไม่ดีกับใครก็ตามเป็นบาปทั้งหมด จะบาปมากบาปน้อยก็แล้วแต่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนา จะทำกับผู้มีคุณสูงหรือทำกับผู้ไม่มีคุณสูง ผลแห่งกรรมจะได้รับแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์