เครียดซ้ำซ้อนระวัง!สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน

เครียดซ้ำซ้อนระวัง!สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


เมื่อสารในสมองเกิดการหลั่งไม่เท่ากันจะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้!!
    
พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนท กิจ อายุรกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้เกี่ยวกับสารสื่อประสาทให้ฟังว่า ในสมองของคนเราจะมีสารสื่อประสาทอยู่หลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน โดยจะทำงานในส่วน ต่าง ๆ ในสมอง 
   
สารสื่อประสาท เป็นสารเคมีที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง เมื่อเซลล์ประสาทต้นทางถูกกระตุ้น กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะไหลไปตามเส้นประสาท เมื่อกระแสประสาทไปถึงปลายเส้นประสาทก็จะกระตุ้นให้เซลล์ที่ปลายประสาทหลั่งสารสื่อนำประสาทออกมา
    
โดยเซลล์แต่ละชนิดจะผลิตสารสื่อประสาทไม่เหมือนกัน และมีหน้าที่แตกต่างกันไป อาทิ สารสื่อประสาทที่ชื่อว่า  เซโรโทนิน จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ถ้าหากมีระดับสารสื่อประสาทชนิดนี้ต่ำจะส่งผลทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า มองคุณค่าตัวเองต่ำ ขณะที่โดปามีน เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหว
   
สำหรับ อะเซทิลโคลีน เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำในระยะยาว ช่วยให้สมองเก็บความรู้ที่เรียนในเวลากลางวันไปไว้ที่สมองในเวลาที่เรากำลังหลับ รวมทั้งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความฝัน ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้สมาธิสั้นลง กลายเป็นคนขี้ลืม นอนไม่ค่อยหลับ อีกทั้งทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
    

เครียดซ้ำซ้อนระวัง!สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


ที่รู้จักกันดี คือ เอ็นดอร์ฟิน เป็นสารที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หายเจ็บปวด เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข อารมณ์ดี ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้ขาดความสุขแม้จะฟังเพลงที่ชอบ  ก็ตาม ส่วนสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เมลาโทนิน สารชนิดนี้จะทำให้คนเราหลับสบาย
   
เมื่อผลิตสารสื่อประสาท ออกมาแล้วก็จะเข้าทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมอง โดยส่วนของสมองที่ชื่อว่า ฮิปโปแคมปัส จะเป็นส่วนที่สารสื่อประสาทหลั่งผิดปกติมากที่สุด โดยสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้ คือ
อะเซทิลโคลีน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความจำ การเรียนรู้ พฤติกรรม
ความสุข อารมณ์ขั้นพื้นฐาน ความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี โกรธ ไม่โกรธ
   
สาเหตุที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองหลั่งไม่เท่ากัน  พญ.ทวีรักษ์  กล่าวว่า เกิดขึ้นได้จาก ความเสื่อมที่มาจากอายุที่มากขึ้น เช่น คนไข้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนิน หลั่งน้อยลง จึงทำให้คนไข้จำอะไรไม่ได้ หรือเกิดอาการความจำเสื่อมขึ้นมาได้ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและชายตั้งแต่อายุ 20-30 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
   
รวมทั้ง เกิดจาก กรรมพันธุ์  คือ เคยเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งมีอาการสั่นของมือ เคลื่อนไหวร่างกายช้า โดยพบว่า เซลล์ของสมองไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า  โดปามีนได้อย่างเพียงพอ และพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน 
   

เครียดซ้ำซ้อนระวัง!สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยทำให้สารสื่อประสาทหลั่งลดลง ซึ่งมี ความเครียด เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะเกิดจาก อกหัก ตกงาน ถูกเจ้านายตำหนิ  หรือ การสูญเสียคนรัก ก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการหลั่งของสารสื่อประสาทได้ด้วยเช่นกัน เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นสารสื่อประสาทก็จะหลั่งน้อยลง   ทำให้คนไข้เป็นโรคซึมเศร้าได้
  
การวินิจฉัยโรค ส่วนใหญ่หมอจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ โดยการซักประวัติ สอบถามพฤติกรรมจากคนไข้เองและคนรอบข้าง เพื่อตรวจดูว่าคนไข้เข้าข่ายเป็นสารในสมองหลั่งไม่เท่ากันหรือไม่ โดยอาการของคนไข้ก็จะแตกต่างกันไป หากตรวจพบว่าสารในสมองส่วนใดที่หลั่งไม่เท่ากัน ก็จะทำการรักษาอาการในส่วนนั้นต่อไป
    
โดยส่วนใหญ่หากกล่าวถึงสารสื่อประสาทในสมองหลั่ง ไม่เท่ากันจะนึกถึงคนไข้ที่มีอาการซึม ไม่ตอบสนองกับสิ่งรอบข้าง ซึ่งคนไข้จะมาด้วยอาการซึม ไม่พูดคุยกับใคร ไม่อยากไปไหน เก็บตัวอยู่กับบ้าน โดยอาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 6 เดือน จากนั้นก็จะดีขึ้นเอง
   
เมื่อมีอาการเช่นนี้ การรักษาทำได้โดยการให้ยา โดยยาจะมีฤทธิ์ทำให้คนไข้มีอาการดีเร็วขึ้น จากระยะเวลาที่ใช้ตามธรรมชาติ 6 เดือนมาเป็น 3 เดือน ซึ่งการทานยาส่วนใหญ่จะต้องทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี
หากคนไข้คนใดมีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
ก็อาจจะต้องทานยาต่อไปอีกประมาณ 1-2 ปี 
   


เครียดซ้ำซ้อนระวัง!สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


คนไข้บางรายเกิดอาการเพียงครั้งเดียวก็หายขาด แต่บางคนเป็นแล้วเป็นอีก การทานยาก็จะต้องทานอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในบางรายต้องทานยาไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้อาการของโรคกลับมาเป็นอีก
   
ความรุนแรงของโรค  ขึ้นอยู่กับว่า สารหลั่งในสมองส่วนใดที่หลั่งผิดปกติ
ถ้าเป็น ในส่วนของ เซโรโทนิน ก็จะไม่ค่อยรุนแรง แต่จะรุนแรงในกรณีที่คนไข้ควบคุมตัวเองไม่ได้ บางคนถ้ามีความผิดปกติรุนแรงมาก ๆ จะคิดฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ก็จะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ ถ้าเกิดว่าคนรอบตัวไม่ได้ระวัง หรือไม่ได้เข้ารับการรักษาจากหมออย่างถูกวิธี
   
ผู้ที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ คือ ผู้ที่มีครอบครัวเคยมีอาการแบบเดียวกันมาก่อน  ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น รวมทั้งกลุ่มคนที่เคยใช้ยาเสพติด เพราะว่า การใช้สารเสพติดทำให้สารสื่อประสาทในสมองเกิดความผิดปกติขึ้นได้
   
การที่เป็นโรคสารในสมอง หลั่งไม่เท่ากันนี้ ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง เมื่อเกิดความทุกข์อย่าจมอยู่กับความทุกข์ ตั้งสติให้ดี และตามอารมณ์ตัวเองให้ทัน รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร เป็นอะไรอยู่ โดยมองว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข มีทางออก
   
ในส่วนของคนรอบข้างต้องคอยดูแล เข้าใจลักษณะของโรคว่า การมีอาการเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นโรคจิต ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตใจของเขา แต่เกิดจากสารในสมองที่ออกมาหลั่งผิดปกติ จึงทำให้มีอาการเช่นนั้น หากคนรอบข้างช่วยประคับประคองเป็นกำลังใจ ดูแลเอาใจใส่  คนไข้ก็จะกลับมาสู่สภาวะปกติได้ไม่ยาก.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์