เมื่อน้ำในร่างกายไม่สมดุล


 สมดุลของน้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร
         อย่างที่พอรู้กันมาบ้างแล้วว่าร่างกายของเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่รู้หรือเปล่าคะว่าน้ำเหล่านี้ นั้นแทรกซึมอยู่ทุกส่วนของร่างกายทั้งภายในและภายนอกเซลล์ ทั้ง เลือด น้ำเหลือง น้ำย่อย ฯลฯ โดยมี “อิเล็กโทรไลต์” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เกลือแร่” เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ ฟอสเฟต และไบคาร์บอเนต ละลายปนอยู่ ทำให้น้ำมีความเข้มข้นและนำพาอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

         และแม้อิเล็กโทรไลต์ทุกตัวจะมีความสำคัญ แต่ปริมาณความเข้มข้นของโซเดียมและโพแทสเซียมจะมีอิทธิพลต่อการรักษาสมดุลและถ่ายเทของน้ำในเซลล์และภายนอกเซลล์มากสุด โดยกลไกการเคลื่อนที่ของน้ำในร่างกายจะไหลจากด้านที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าผ่านเยื่อกั้นผนังเซลล์ไปยังด้านที่มีความเข้มข้นสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น เวลาทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรือออกกำลังกาย น้ำภายนอกเซลล์จะกลายเป็นเหงื่อไหลออกนอกผิวหนัง ทำให้ของเหลวนอกเซลล์เข้มข้นขึ้นเพราะน้ำหายไป (แต่ปริมาณโซเดียมยังตกค้างอยู่มาก) สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะสั่งให้น้ำในเซลล์ถ่ายเทอออกมาเพื่อปรับสมดุลไม่ให้น้ำนอกเซลล์เข้มข้นมากเกินไป ในทางตรงกันข้าม หากเราดื่มน้ำมากเกินไป ความเข้มข้นของเหลวภายนอกเซลล์ก็จะลดลง ดังนั้นน้ำจึงไหลกลับเข้าไปในเซลล์ซึ่งมีความเข้นข้นสูงกว่า เป็นต้น

         ซึ่งระหว่างที่น้ำทั้งสองส่วนถ่ายเทกันอยู่นี้ สมองจะส่งสัญญาณไปบอกไตให้เลือกเก็บกักน้ำหรือกำจัดออกไป เช่น เมื่อร่างกายขาดน้ำ เลือดจะเข้มข้มขึ้น สมองจะเตือนไตให้รีบดึงน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนตามปกติ เราจึงไม่ค่อยปวดปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อยลงและมีสีเหลืองเข้ม แต่ถ้าหากเราได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป สมองจะสั่งให้ไตรีบกำจัดน้ำส่วนเกินทิ้งไป ปริมาณปัสสาวะจึงมากขึ้นและมีสีจางลง

   รู้ได้อย่างไรเมื่อน้ำในร่างกายไม่สมดุล
        ร่างกายจะแสดงอาการว่าน้ำไม่สมดุลจาก ภาวะขาดน้ำ เกิดจากการที่เราดื่มน้ำน้อยเกินไป แม้ไตจะพยายามเก็บรักษาน้ำในร่างกายให้นานที่สุด เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติแล้วก็ตาม แต่เมื่อไตเริ่มรับมือไม่ไหวก็จะส่งสัญญาณแสดงอาการไม่สบายต่างๆ เช่น 

     ปากแห้ง เพราะร่างกายหยุดผลิตน้ำลาย ส่งผลให้กลืนอาหารลำบาก และกระเพาะต้องรับภาระหนักขึ้น เนื่องจากขาดเอนไซม์ในการช่วยย่อยอาหารจำพวกไขมัน แป้งและน้ำตาลจากน้ำลาย
     ผิวหนังแห้งกร้าน ลอกเป็นขุย เพราะน้ำถูกดึงไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่นๆ
     ปวดศรีษะ เมื่อขาดน้ำ เลือดจะหนืดข้นขึ้นปริมาตรเลือดทั้งหมดในร่างกายจึงลดลง หัวใจเลยต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเพิ่มอัตราการบีบตัวและกระตุ้นเส้นเลือดให้หดตัว เส้นประสาทที่พันรอบเส้นเลือดจึงถูกบีบไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ และที่ไม่ปวดบริเวณอื่น เพราะศีรษะมีเส้นประสาทจำนวนมาก จึงไวต่อความรู้สึกมากกว่า
     หงุดหงิด ง่วงซึม ไม่มีแรง เบลอ เป็นอาการสืบเนื่องมาจากการที่เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองและกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เพราะปริมาตรของเลือดลดลงเมื่อขาดน้ำ
     แผลร้อนใน เมื่อร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิภายในจะเพิ่มสูงขึ้น เนื้อเยื่อภายในช่องปากจึงได้รับผลกระทบ คล้ายกับผิวหนังโดนน้ำร้อนลวกจนเกิดอาการบวมแดง พองเป็นถุงน้ำใสและแตกเป็นแผลในที่สุด
     ท้องผูก เพราะร่างกายจะดึงน้ำจากทุกระบบรวมทั้งบริเวณปลายลำไส้ใหญ่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่นที่สำคัญก่อน
     ความดันเลือดต่ำ เมื่อขาดน้ำแรงดันระบบไหลเวียนโลหิตจะลดลง จึงทำให้รู้สึกหน้ามืด อ่อนเพลีย วิงเวียน
     ตากลวงลึกและดำคล้ำ เพราะรอบดวงตา โดยเฉพาะใต้ตาของเรามีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก บริเวณดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากการที่ร่างกายดึงน้ำไปใช้เช่นกัน ตาจึงโหลและมีรอยคล้ำ


        
อย่างไรก็ตามภาวะขาดน้ำอย่างเดียวนั้นไม่อันตรายถึงชีวิต เพราะร่างกายจะเตือนให้เรากระหายน้ำ หรือเริ่มกระบวนการกักเก็บน้ำโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์