ใส่ใจสุขภาพ...ดูแลถูกวิธี ลดความเสี่ยง ประสาทหูเสื่อม

ใส่ใจสุขภาพ...ดูแลถูกวิธี ลดความเสี่ยง ประสาทหูเสื่อม


"หู” นับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกาย  ทำหน้าที่รับเสียงต่าง ๆ จากภายนอกผ่านแก้วหูเข้าสู่หูชั้นกลาง และชั้นใน ทำให้เราได้ยินเสียงต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับหู จึงไม่ควรละเลยการรักษา เพราะอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงได้
   
ผศ.พญ.สุวัจนา อธิภาส ภาควิชาโสต นาสิก ลางริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้เกี่ยวกับหูว่า จากกายวิภาคของหูจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น  เริ่มจาก หูชั้นนอก ตั้งแต่ใบหูไปสิ้นสุดที่เยื่อแก้วหู ถัดมา จะเป็น หูชั้นกลาง มีลักษณะเป็นโพรงประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ คือ กระดูกหู 3 ชิ้น ซึ่งต่อจากแก้วหู คือ กระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่ง และกระดูกรูปโกลน และยังมีท่อที่สำคัญ คือ ท่อยูสเตเชียน ซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นกลางกับด้านหลังจมูก โดยท่อนี้จะช่วยปรับความดันระหว่างหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอกให้มีความดันที่พอเหมาะ ถัดไปจะเป็นหูชั้นใน ซึ่งจะช่วยควบคุมทั้งการได้ยินและการทรงตัว ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท จากนั้นจะเป็นเส้นประสาทหูซึ่งต่อไปที่สมองตามลำดับ
   
ปัญหาเกี่ยวกับหูที่เกิดขึ้นในเด็กจะต่างจากผู้ใหญ่ เพราะโดยธรรมชาติกายวิภาคหูของเด็กกับผู้ใหญ่จะต่างกันตรงที่ท่อยูสเตเชียนของเด็กจะสั้นและเป็นแนวตรงกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปในหูชั้นกลางได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้น เด็กมักจะมีปัญหาหูชั้นกลางอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลา
เป็นหวัด
   
อย่างไรก็ตาม การอักเสบของหูในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ทุกชั้น โดยหูชั้นนอกจะอักเสบได้จากการแคะ แกะ เกา จนเกิดรอยถลอก มีลักษณะคล้ายผิวหนังอักเสบ หากดูจากภายนอกเด็กจะไม่มีอาการเจ็บป่วยมากนัก เพราะไม่มีไข้ อาจจะมีบ่นบ้างว่าเจ็บ หรือมีน้ำเหลืองไหลออกมา ซึ่งถ้ามีน้ำเหลืองไหลออกมามาก เด็กอาจจะมีอาการหูอื้อตามมาได้
   
การป้องกันโรคหูในเด็กสามารถทำได้โดยถ้าเป็นเรื่องของหูชั้นนอก การเช็ดทำความสะอาดที่ใบหูก็เพียงพอแล้ว ในส่วนของหูชั้นกลาง ป้องกันได้โดยพยายามอย่าปล่อยให้เด็กเป็นหวัดเรื้อรัง หรือถ้าเด็กเป็นหวัด ก็ควรงดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำ เพื่อให้เด็กหายจากหวัดได้โดยเร็ว รวมทั้งสังเกตอาการว่า เด็กมีอาการปวดหูหรือกระสับกระส่ายหรือไม่ ถ้ามีควรพามาให้หมอตรวจดูอาการด้วย เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ๆ อาจจะทำให้หูชั้นกลางอักเสบได้
   
สำหรับอาการ ประสาทหูเสื่อม เป็นอีกหนึ่งโรคเกี่ยวกับหูซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ผศ.พญ.สุวัจนา กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ว่า เป็นอาการเสื่อมของประสาทหูตามธรรมชาติที่เป็นไปตามวัย เพราะร่างกายมนุษย์ย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา โดยหูชั้นนอกซึ่งประกอบไปด้วยกระดูกอ่อนจะมีการยุบตัวลง ข้อต่อของกระดูกหูเริ่มแข็งขึ้นเพราะเอ็นที่ยึดกระดูกหูขาดความยืดหยุ่น แก้วหูก็จะเสื่อมลง จึงทำให้การนำเสียงลดลงตามไปด้วย
   
นอกจากนี้ เซลล์ประสาทรับเสียงในหูชั้นในก็เสื่อมลง เพราะเซลล์มีการตายไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่ง คือ เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดต่าง ๆ ก็จะเสื่อมลง โดยหูชั้นในจากที่เคยมีเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอก็มีน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการเสื่อมตามมา
   
“การได้ยินนอกจากใช้หูแล้ว การฟังให้เข้าใจต้องอาศัยสมองด้วย เมื่ออายุมากขึ้นสมองจะเสื่อม ทำงานช้าลง ทำให้นอกจากจะได้ยินน้อยลงแล้ว สมองซึ่งมีหน้าที่แปลความหมายก็จะมีปัญหาตามมาด้วยคือได้ยินแต่ฟังรู้เรื่องน้อยลง ตรงนี้เป็นปัญหามากสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งลูกหลานจะไม่ค่อยเข้าใจ คิดว่าผู้สูงอายุหูก็ไม่ได้ตึงมากแต่ทำไมพูดด้วยแล้วเหมือนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง”
   
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ชายจะหูเสื่อมเร็วกว่าผู้หญิง คือ อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีปัญหา ในขณะที่ผู้หญิง โดยทั่วไปจะประมาณ 60 ปี ไปแล้วจึงพบกับปัญหาประสาทหูเสื่อม
   
“อาการเหล่านี้เป็นอาการของความเสื่อมตามธรรมชาติ ฉะนั้น คนที่ร่างกายแข็งแรง ปัญหาเรื่องนี้ก็จะไม่มากนัก แต่ถ้าละเลยการใส่ใจต่อสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างประมาท เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ มีโรคเรื้อรังแล้วไม่ดูแลตนเองก็มีแนวโน้มที่หูจะเสื่อมได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ด้วย”
   
การรักษาจึงไม่มียาที่รักษาแล้วทำให้หายได้ หลักการคือ จะต้องรู้จักประคับประคองตนเอง ดูแลสุขภาพโดยทั่วไป ถ้ามีปัญหาในการได้ยินมากก็ให้ใช้เครื่องช่วยฟัง สำหรับผู้ที่จะพูดคุยกับผู้สูงอายุต้องเข้าใจ และมีเทคนิคในการสื่อสาร อาทิ พูดตรงหน้า อย่าห่างกันเกิน 1 เมตร อย่าพูดจากด้านหลัง ไม่ต้องพูดดังเกินไป เพราะไม่ใช่หูตึงมากเพียงแต่ฟังแล้วจับใจความได้ไม่ชัดเจน ให้พูดช้า ๆ ชัด ๆ  เป็นประโยคที่ไม่ยาวนัก เพราะถ้าพูดประโยคยาว ๆ ผู้สูงอายุจะฟังคำท้าย ๆ ประโยคไม่ทัน รวมทั้ง ลดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น หรี่หรือปิดเสียงโทรทัศน์ขณะสนทนา จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
   
สำหรับอาการเกี่ยวกับหูที่ต้องรีบพบแพทย์ คือ ปวดหู มีหนองหรือเลือดไหลออกจากหู รวมทั้งหูเสื่อมเฉียบพลัน คือ อยู่ดี ๆ ก็ไม่ได้ยินเสียง หรือมีเสียงอื้ออึงในหูขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน หรือได้ยินเสียงน้อยลง ตลอดจนเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน หรือมีอาการอัมพาตของประสาทหน้า หลับตาไม่ลง เป็นต้น
   
การดูแลสุขภาพหูที่ดี คือ การดูแลร่างกายโดยรวมให้มีสุขภาพแข็งแรง ทำความสะอาดเพียงใช้ผ้าเช็ดที่ใบหูก็พอ เมื่อเป็นสิวอักเสบที่หูไม่ควรบีบสิว ไม่ควรเจาะหูสูงถึงบริเวณกระดูกอ่อนของใบหู เพราะถ้าอาการอักเสบลุกลามไปที่กระดูกอ่อนจะทำให้กระดูกอ่อนผิดรูปได้ รวมทั้งไม่ควรแคะหรือปั่นหู สำหรับคนที่มีขี้หูเหนียวอาจจะต้องให้หมอดูดออก เพราะถ้าเช็ดเองอาจจะเป็นการไปดันให้ขี้หูเข้าไปลึกขึ้น และที่สำคัญ คือ หลีกเลี่ยงเสียงดัง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้เครื่องป้องกันเสียง และระมัดระวังการกระทบกระเทือนศีรษะด้วย.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์