กลิ่นหอม สุนทรีย์แห่งการบำบัดโรค

การใช้กลิ่นหอมบำบัดโรคหรือสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะช่วยรักษาโรคและผ่อนคลายจิตใจได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเสมอคือ รู้จักใช้น้ำมันหอมระเหยให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกาย

ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความตึงเครียด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษ การดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

           วิธีการต่างๆ ในการดูแลสุขภาพจึงเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการบำบัดโรคด้วยกลิ่นหอมหรือที่เรียกกันว่า สุคนธบำบัด (Aromatherapy) เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชพรรณธรรมชาติ มาใช้ในการรักษาโรคและทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ซึ่งกลิ่นจากพืชและสมุนไพรช่วยดูแลระบบหายใจ กลิ่นจากดอกไม้ช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า ดังนั้นจึงควรรู้จักใช้น้ำมันหอมระเหยให้เกิดประโยชน์ เลือกกลิ่นที่ถูกใจ คุณสมบัติตรงตามความต้องการและปลอดภัยต่อร่างกาย

กลิ่นหอมบำบัดโรคได้จริงหรือ แล้วมีวิธีการอย่างไร
           กลิ่นบำบัดเป็นการบำบัดรักษา โรคและบรรเทาอาการต่างๆ ของร่างกายด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกกันว่าสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ได้มีการศึกษากันมายาวนาน จนพบว่ามนุษย์สามารถสัมผัสและรับรู้กลิ่นได้มากกว่าหมื่นชนิด ที่สำคัญคือ เมื่อร่างกายสูดกลิ่นจะผ่านประสาทรับกลิ่น (Olfactory nerves) เข้าสู่กระเปาะรับกลิ่นที่ต่อกับระบบประสาทลิมบิค ซิสเท็ม (Limbic system) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความทรงจำ อารมณ์ และกำหนดพฤติกรรม หากหายใจสูดอากาศไม่บริสุทธิ์ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย

           การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนพบว่า เป็นวิธีการในการนำกลิ่นมาใช้บำบัดรักษาโรค โดยสามารถออกฤทธิ์กับทุกระบบในร่างกาย ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปของกลิ่นแต่ละชนิด ปัจจุบันมีการพัฒนาและค้นพบกลิ่นใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด


น้ำมันหอมระเหยดีต่อสุขภาพอย่างไร
           กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจ ทำให้ร่างกายมีความสมดุล ซึ่งมีทั้งน้ำมันหอมระเหยที่ใช้เพื่อการรักษาโรค และน้ำมันหอมระเหยที่ใช้เพื่อความงาม

           น้ำมันหอมระเหยที่ใช้เพื่อ การรักษาหรือบำบัดโรคนั้น ส่งผลต่อสุขภาพองค์รวม โดยนำมาผสมผสานเข้ากับการบำบัดโรคทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เช่น ใช้คู่กับการนวดเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายได้ดียิ่งขึ้น หรือใช้ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์เพื่อรักษาความสมดุลของของเหลวในร่างกาย ทำให้อาการของโรคทุเลาลง และยังนำมาใช้ในด้านจิตบำบัด เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลให้จิตใจสงบผ่อนคลาย ช่วยป้องกันอาการทางจิต รักษาโรคเครียด โรคซึมเศร้า ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่ถูกนำมาใช้เพื่อความงาม จะเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ


กลิ่นธรรมชาติบำบัดกายใจ
           กลิ่นจากพืชและสมุนไพร: หายใจปลอดโปร่ง สุขภาพแข็งแรง
           ตั้งแต่อดีตมนุษย์ใช้พืชและสมุนไพรในการดำรงชีวิตและรักษาโรค เนื่องจากหาได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายยิ่งไปกว่านั้น กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชและสมุนไพรยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะ ช่วยดูแลระบบหายใจให้ทำงานได้เป็นปกติ ส่งผลให้หัวใจทำงานได้ดี อาทิ กลิ่นยูคาลิปตัส กลิ่นชา กลิ่นมะนาว กลิ่นเปปเปอร์มินต์ กลิ่นโหระพา และกลิ่นสะระแหน่ จะช่วยให้หายใจสะดวก สามารถรักษาโรคหวัด ภูมิแพ้ ไซนัส หลอดลมอักเสบ และไอเรื้อรัง กลิ่นกระเพรา กลิ่นการบูร ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เพิ่มการผลิตเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ กลิ่นขิง กลิ่นขมิ้น ยังช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดบวม เป็นต้น


กลิ่นหอม สุนทรีย์แห่งการบำบัดโรค


กลิ่นหอมจากดอกไม้: ผ่อนคลายจิตใจ สบายอารมณ์
           ดอกไม้ไม่เพียงแต่มีความสวยงามยังเปี่ยมด้วยคุณค่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกไม้ ยังมีประโยชน์ในการช่วยผ่อนคลายอารมณ์และจิตใจ สร้างสารแห่งความสุข และช่วยขับของเสีย อาทิ กลิ่นกุหลาบ กลิ่นมะลิ กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นคาร์โมมายล์ กลิ่นโรสแมรี่ กลิ่นกระดังงา ช่วยให้ร่างกายผลิตเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่สำคัญที่สุด ทำให้มีความสุข จิตใจสงบ อารมณ์ไม่แปรปรวน คลายความเมื่อยล้า สมองทำงานอย่างเป็นระบบป้องกันโรคไมเกรนและโรคเครียด ส่วนกลิ่นของดอกทานตะวัน ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังมีกลิ่นเบญจมาศ ช่วยลดอาการปวดศีรษะและบำรุงหลอดเลือดให้แข็งแรง เป็นต้น

รู้จักใช้น้ำมันหอมระเหยอย่างปลอดภัย
           แม้จะสามารถใช้กลิ่นหอมเพื่อช่วยบำบัดโรคต่างๆ ได้ แต่ก็ควรพึงตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป และอย่าใช้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน เพราะอาจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและหลอดลม โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก ทารก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคลมชัก

           กรณีที่ต้องการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อรักษาโรค ต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น สำหรับการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อความงาม ต้องมีการทดลองใช้ 3 - 7 วัน เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้น และควรใช้ที่มีคุณภาพดีเท่านั้น

หลากหลายทางเลือกในการใช้กลิ่นหอมบำบัด
           ไม่เพียงการสูดดม ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรับกลิ่นเข้าสู่ร่างกาย การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย การผสมน้ำมันหอมระเหยลงไปในปริมาณที่เหมาะสมขณะอาบน้ำ ประคบในบริเวณที่ต้องการ จุดเทียนหอมกลิ่นต่างๆ ภายในห้อง ตลอดจนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกลิ่นพืชพรรณธรรมชาติก็ช่วยในการส่งกลิ่นหอมเข้าสู่ประสาทสัมผัสรับกลิ่นได้ดี

           ปัจจุบันการบำบัดโรคด้วยกลิ่นหอมเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากช่วยบรรเทาอาการของโรค ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียดจากกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละกลิ่นมีคุณสมบัติแตกต่างกัน การเลือกกลิ่นที่เหมาะสม ไม่เพียงการพิจารณาสรรพคุณเท่านั้น ควรเลือกกลิ่นที่ชอบสูดดมแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่ฉุนจนหงุดหงิดรำคาญใจ และหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ย่อมช่วยให้ได้รับประโยชน์จากกลิ่นอย่างแท้จริง



ขอขอบคุณข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์