นอนกัดฟัน ทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด

การนอนกัดฟันเป็นพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคภายในช่องปากและโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ ปวดศีรษะ ปวดหู เป็นต้น ดังนั้นจึงควรสังเกตสุขภาพของตนเองหลังจากตื่นนอนเป็นประจำ หากพบว่ามีพฤติกรรมนอนกัดฟัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง


นอนกัดฟัน ทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด


         
          พฤติกรรมการนอนกัดฟันถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอีกประการของคนไทย เนื่องจากส่งผลเสียต่อร่างกายไม่เฉพาะบริเวณช่องปาก ทำให้สุขภาพฟันเสื่อม มีปัญหาด้านการบดเคี้ย แต่ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะและปวดหูเรื้อรังตามมา ซึ่งสาเหตุในการนอนกัดฟันนั้นที่แท้จริงไม่สามารถระบุได้แน่ชัดเลยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาทิ โรคภายในช่องปาก โรคเครียด อารมณ์รุนแรง เป็นต้น

          วิธีการรักษาที่นิยมคือ การทำเฝือกสบฟันที่คล้ายยางกันฟันของนักกีฬา เพื่อช่วยลดการสบฟันอย่างรุนแรงในขณะนอนกัดฟัน และหากเป็นโรคภายในช่องปากควรรีบรักษาให้หายขาด ดังนั้นจึงควรสังเกตว่านอนกัดฟันหรือไม่ หากพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าทำการรักษาทันที

น่ารู้เรื่องนอนกัดฟัน

การนอนกัดฟัน (Nocturnal Bruxism) เป็นพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ โดยกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร และฟันทำงานผิดปกติในลักษณะฟันขบกันหรือฟันบนและล่างถูไถซ้ำๆกันอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดเสียงที่สร้างความรำคาญให้กับผู้อื่นหรือในบางรายก็อาจไม่มีเสียง ซึ่งผู้ที่นอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวว่าตนเองนอนกัดฟัน  อาการนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งในเด็กเล็ก เมื่อได้ลองกัดฟันแล้วอาจรู้สึกสนุกกับการได้ยินเสียงฟันกระทบกัน นอกจากนี้อาการดังกล่าวยังพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะการแสดงออกของเพศหญิงถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ทางสังคมมากกว่า ส่งผลให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้มีโอกาสเกิดการกัดฟันขณะนอนหลับ

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

สาเหตุของการนอนกัดฟันมีมากมายและไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน อาทิ มีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกีดขวางไปกระตุ้นการขบเคี้ยวฟัน ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ โรคภายในช่องปาก ปัญหาเรื่องฟันซ้อน ฟันเก เป็นต้น สภาวะของจิตใจและอารมณ์ก็มีผลทำให้ระดับอาการมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ยาที่มีส่วนผสมของแอมเฟตามีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ก็ล้วนส่งผลให้เกิดการนอนกัดฟันได้

ประเภทของการกัดฟัน

ลักษณะการนอนกัดฟันที่พบมากในคนส่วนใหญ่มี 2 ประเภทคือ กัดฟันแบบเน้น (Clenching) เรียกอีกอย่างว่า ขบฟันแน่น เป็นการกัดฟันในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งซ้ำไปซ้ำมาเป็นระยะเวลานาน เสียงจะไม่ดังมากนัก ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองนอนกัดฟัน และอีกประเภทคือ กัดฟันแบบกัดถู (Grinding) เรียกอีกอย่างว่า บดถูฟัน เป็นการกัดฟันในลักษณะขากรรไกรล่างมีการขยับไปมาตลอดเวลา มักเกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น
ซึ่งความถี่ของการกัดฟันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในแต่ละวัน

แก้ปัญหานอนกัดฟัน

วิธีที่ได้รับความนิยมและช่วยบรรเทาความรุนแรงได้เป็นอย่างดีคือ การใส่เฝือกสบฟัน (Night Guard) ซึ่งมีลักษณะคล้ายยางกันฟันของนักกีฬา โดยมีทั้งเฝือกสบฟันแบบนิ่มและแบบแข็ง โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อนำไปทำเฝือกสบฟันขนาดที่เหมาะสม และบางครั้งอาจให้ยาปรับการนอนร่วมด้วย ที่สำคัญควรดูแลความสะอาดและรักษาโรคภายในช่องปากให้หายขาด งดเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนในห้องนอนที่เงียบสงบและไม่มีแสงสว่างมารบกวน หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อควรประคบและบริหารขากรรไกร รวมทั้งทำกายบริหารด้วยการแหงนหน้าขึ้นให้สูงที่สุด อ้าปากให้กว้างที่สุดสลับกับการปิดปาก และนวดกล้ามเนื้อบริเวณกรามทั้งสองข้าง

นอนกัดฟัน ร่างกายอ่อนแอกว่าที่คิด

ผลเสียของการนอนกัดฟัน เริ่มตั้งแต่ฟันสึกกร่อน สั้น และบางลง เกิดการเสียวฟันเรื้อรัง ถ้ากัดฟันแรงอาจทำให้ฟันบิ่น ฟันร้าว ฟันแตก จนทะลุโพรงประสาท ทำลายสุขภาพฟันและอวัยวะภายในช่องปากจนไม่สามารถทานอาหารได้ตามปกติ
      นอกจากนี้ยังส่งผลให้ใบหน้าสั้นลง กล้ามเนื้อบริเวณแก้มขยายใหญ่ขึ้น และกางออกเป็นรูปเหลี่ยม ปวดเมื่อยใบหน้า กล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกร ปวดหัวและปวดหูอย่างต่อเนื่อง และติดนิสัยกัดกระพุ้งแก้มจนเป็นแผลโดยไม่รู้ตัว 

รู้ได้อย่างไรว่ามีพฤติกรรมนอนกัดฟัน

ปกติแล้วไม่มีใครรู้ตัวขณะหลับว่าตนเองมีพฤติกรรมนอนกัดฟันหรือไม่ ดังนั้นวิธีการสังเกตคือ รู้สึกฟันขบกันแน่นและปวดมึนศีรษะขณะตื่นนอน จากนั้นจะปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม บางครั้งปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากกล้ามเนื้อเทมโพราลิส (Temporalis Muscle) ซึ่งมีหน้าที่ยกขากรรไกรล่างขึ้นอยู่ติดกับกะโหลกศีรษะ เวลาอ้าหรือหุบปากอาจมีเสียงคลิก และอีกวิธีคือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกตขณะนอนหลับเพื่อให้ทราบอาการชัดเจน หากพบว่านอนกัดฟันควรปรึกษาแพทย์ทันที


ภาวะเครียด อารมณ์รุนแรง ส่งผลต่อการนอนกัดฟันจริงหรือไม่

นักจิตวิทยาได้มีการทดสอบผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนกัดฟันแล้วพบว่า อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีผลต่อการนอนกัดฟัน อาทิ โกรธ ผิดหวัง เศร้า เป็นต้น และการนอนกัดฟันมักเกิดในช่วงที่เปลี่ยนจากการหลับลึกหรือหลับสนิทไปสู่ภาวะใกล้ตื่น ที่เรียกกันว่า REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะความเครียดและกิจกรรมต่างๆ ที่ทำก่อนเข้านอน ทำให้ความรุนแรงและระยะเวลาการกัดฟันในแต่ละคืนต่างกัน

      การนอนกัดฟัน นอกจากทำให้สุขภาพฟันถูกทำลายแล้ว ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพ อารมณ์ และจิตใจ รวมทั้งสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น ดังนั้นการสังเกตและใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทราบถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นและสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที


ขอบคุณข้อมูลจาก : kbeautifullife

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์