แนะลดเครียดศึกเลือกตั้งปี54 ปรับความคิด...เคารพกติกา

แนะลดเครียด"ศึกเลือกตั้งปี54" ปรับความคิด...เคารพกติกา


ยิ่งใกล้ถึงวันเลือกตั้งก็ยิ่งสร้างความกดดันให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคและทีมงานรวมทั้งประชาชนที่ต้องเคร่งครัดกับการหาข้อมูลในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนและพรรคที่ตนเองชื่นชอบด้วยการรับฟังข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็สร้างความเครียดให้เราได้โดยไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจรู้ตัวแต่หาทางออกไม่ได้ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
   
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความรู้พร้อมข้อแนะนำในการลดความเครียดในช่วงเลือกตั้งนี้ว่า มีสาเหตุใหญ่อยู่ 2 ปัจจัยที่ทำให้เราเกิดความเครียด คือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในชีวิต การแข่งขัน ภาระการเงิน ฯลฯ ส่วนปัจจัยภายใน คือความแข็งแรงของจิตใจที่จะสามารถเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยภายนอกเป็นส่วนที่เราควบคุมไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นความเครียดเกิดจากปัจจัยภายนอกจึงมีแรงกดดันมาก หากปัจจัยภายในไม่แข็งแรงคือความไม่สมบูรณ์ก็จะเกิดความเครียดสูง แต่ถ้าแข็งแรงดีก็จะสามารถรับแรงกดดันทำให้เกิดความเครียดน้อย ดังนั้น วิธีลดความเครียดจึงอยากให้มุ่งเน้นมาที่ปัจจัยภายใน นั่นคือตัวเราเอง
   
โดยอันดับแรก คือ ต้องปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเราเองก่อนว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องรับผิดชอบเพื่อส่วนรวมด้วยการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราต้องเตรียมใจไว้ก่อนว่าไม่สามารถได้ทุกสิ่งทุกอย่างสมดั่งใจเรา อาจมีได้บ้างเสียบ้าง ซึ่งไม่ใช่เป็นการแข่งขันและถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่เราต้องรู้จักเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างสงบ ราบรื่น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นเหมือนกัน
   
’ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรือไม่สามารถได้อะไรถูกใจไปหมดทุกอย่าง สิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องบางเวลาหรือบางขณะก็ไม่เหมาะสม หรือสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกมันอาจจะผิดก็ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนควรมีคือการเปิดกว้างยอมรับฟังกัน ในเมื่อการเลือกตั้งเป็นเรื่องของส่วนรวมผลออกมาเป็นเช่นไรต้องยอมรับข้อสรุปของส่วนรวมนั้น เพราะสังคมต้องมีระเบียบ กติกา ถ้าไม่มีก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกันต่อไปได้ยาก“
   


แนะลดเครียดศึกเลือกตั้งปี54 ปรับความคิด...เคารพกติกา


อันดับต่อมา คือการรับฟัง การที่เราจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ที่เข้าคูหาและออกมาก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่การเลือกนั้นแต่ละคนต้องใช้เวลา ความคิด พินิจวิเคราะห์ โดยสิ่งที่ทุกคนน่าจะทำคือฟังความให้รอบด้าน ไม่ใช่ฟังกลุ่มเดียวด้านเดียว เพราะอาจจะทำให้การมองภาพไม่ทั่วถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเราก็สมควรฟัง และฟังให้ได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วตัวเราเองก็ต้องหาข้อสรุปให้ตนเอง ดังนั้นการที่เราได้ฟังความหลาย ๆ ด้านถือเป็นการลดโอกาส
ผิดพลาดของข้อสรุป
   
เรื่องของการรับฟังข่าวสารต่าง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องเครียดได้ เพราะความสามารถในการรับฟังของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงควรฟังตามกำลังของเรา ถ้ารู้สึกว่าติดตามข่าวสารแล้วเครียดควรหยุดฟังและไปทำอย่างอื่น เพราะชีวิตเรามีหลายด้าน เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ต้องปรับให้บาลานซ์กัน หากเราหมกมุ่นอยู่ด้านเดียวจะทำให้สมดุลชีวิตด้านอื่นเสียไป เช่น อาจทำให้บรรยากาศในครอบครัวหรือที่ทำงานเสียหาย ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน หรือแม้แต่ในเรื่องของตัวเอง เช่น สุขภาพร่างกายก็อาจแย่ไปด้วย
   
ต่อมาเป็นเรื่องของการพูด การที่เราจะพูดคุยกับใครควรมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินผู้ฟังด้วยว่าผู้ฟังมีแนวคิดหรือความสามารถที่จะรับฟังสิ่งที่เราพูดได้มากน้อยแค่ไหน หากพูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่เกิดผลเสียและความขัดแย้ง ก็ควรจะชะลอไว้ก่อน เพราะความคาดหวังของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน เช่น ถ้าคนที่คาดหวังไว้สูง หากไม่ได้ตามที่ต้องการก็จะเข้าสู่เรื่องของอารมณ์  ความผิดหวังมีได้ 2 อย่างคือ ต้องโทษใครสักคนหรือโทษตัวเองและต้องทำอะไรสักอย่าง หลายคนเลือกใช้ความรุนแรง จึงทำให้บานปลายได้ และสุดท้ายต้องรู้จักปล่อยวางคำว่า “ฉันถูก คนอื่นผิด” หากเราลดอัตราในข้อนี้ไปก็จะช่วยได้ รวมทั้งการฝึกสติเพราะไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าฝึกแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และรับมือกับสิ่งที่จะมากระทบได้รวดเร็ว เช่น หลังเลือกตั้งคนที่ได้พรรคหรือผู้แทนที่ตัวเองชอบสมใจก็ดีไป แต่สำหรับคนที่ผิดหวังต้องยอมรับและถือว่าเป็นเกมอย่างหนึ่งในชีวิต ควรเคารพกฎกติกา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหน้าแต่เป็นผลสรุปของงานส่วนรวมที่ได้ทำเสร็จไปแล้วหนึ่งขั้นตอนและต้องมีขั้นตอนต่อไป เมื่อไม่ใช่เรื่องแพ้ ชนะ และเสียศักดิ์ศรีแล้ว หากเราแยกแยะได้ถูกต้องโอกาสที่จะเกิดอารมณ์ก็น้อยกว่า ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทกันในที่สุด
   
เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถปรับความคิดและเตรียมตัวไว้ดีแล้ว หากเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะทำให้มีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ความคิดของตัวเองได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยเตรียมความคิดมาเลย อย่างไรก็ตามความเครียดเป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่กำจัดออกมันก็จะสะสมทุกวัน ๆ และความเครียดที่สะสมอยู่เป็นระยะเวลายาวนานจะสร้างผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง เพราะช่วงที่เราเครียดฮอร์โมนความเครียดออกมาก็จะส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย เช่น โรคกระเพาะ หัวใจ ความดัน นอนไม่หลับ เครียด หงุดหงิด และด้านจิตใจทำให้การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ดี  ทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า จนหันไปใช้เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด จนเกิดเป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมาหรือบางคนเครียดใช้กำลังความรุนแรง ทั้งทางกาย วาจา มีผลเสียต่อคนรอบข้างทั้งครอบครัวและที่ทำงาน
   
ดังนั้นทางที่ดีเราควรดูแลสุขภาพให้ดี กิน นอน พักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาหาข้อมูลตามกำลังของตนซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ได้ข้อสรุปให้ตัวเอง หากผิดพลาดไม่ควรโทษตัวเองและยอมรับการตัดสินใจนั้นพร้อมกับเฝ้าดูพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยต่อไป.

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
   
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือจากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งไปยังเจ้าบ้าน
   
2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
   
3. ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯ และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
   
4. เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมาย
       
-บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯ เลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว
       
-บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว
       
-หากไม่ต้องการเลือกใครหรือพรรคการเมืองใดให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน
   
5. พับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรทีละใบลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทด้วยตนเอง
   
หลักฐานที่ใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน  (หมดอายุก็ใช้ได้) บัตร หรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฯลฯ หรือมีข้อสงสัย โทรฯสายด่วนเลือกตั้ง 1171, 0-2141-8888.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์