ความสำเร็จและความล้มเหลวคือจุดเดียวกัน

ความสำเร็จและความล้มเหลวคือจุดเดียวกัน


ความสำเร็จและความล้มเหลวคือจุดเดียวกัน

ถ้าวันนี้มีคน ๆ หนึ่งมีเงินหนึ่งพันล้าน เราจะถือว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว คนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคนๆนั้นคือมหาเศรษฐีของเมืองไทยหรือของโลก เขาอาจจะตอบว่าล้มเหลวก็ได้ เพราะระดับเขาเคยมี ควรจะมี หรือต้องมีอย่างน้อยเป็นหลักหมื่นล้าน


ถ้าวันนี้มีคน ๆ หนึ่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) คนส่วนใหญ่จะคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แต่ถ้าคนๆนั้นเป็นคนพิการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียน เขาอาจจะคิดว่านี่คือความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของเขาแล้วก็ได้


ถ้าวันนี้คน ๆ หนึ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน เราจะถือว่าเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือไม่ ถ้าเรารู้ว่าคนๆนี้เขาจบปริญญาโทมาแต่ได้เป็นแค่หัวหน้างาน หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเขาจบแค่ ป.6 เท่านั้น หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเป็นลูกเจ้าของบริษัท หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเป็นคนพิการ หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นทำงานมาเกือบสามสิบปีแล้วก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ เรายังจะยืนยันว่าเขาประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่


ถ้าเราปีนขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล จุดนี้อาจจะเป็นความล้มเหลวสำหรับนักปีนเขาสูงระดับโลก แต่จุดเดียวกันนี้อาจจะเป็นความสำเร็จของเด็ก คนแก่ หรือคนพิการก็ได้


จากตัวอย่างเหล่านี้ คงจะพออธิบายได้ว่าความสำเร็จของคน ๆ หนึ่งอาจจะเป็นจุดล้มเหลวของคนอื่นได้ ในทางกลับกัน จุดที่บางคนเรียกว่าความสำเร็จนั้นอาจจะเป็นจุดเดียวกันกับจุดที่คนอื่นเรียกกว่าล้มเหลวก็ได้


ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าคำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” นั้นเป็นเพียงความหมายที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสมมติกันขึ้นมา เช่น ถ้าใครจบการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม สังคมก็มักจะบอกว่าเป็นความสำเร็จ ถ้าใครมีทรัพย์สินเงินทองสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม สังคมก็จะบอกว่าเป็นความสำเร็จ ในทางกลับกัน ถ้าใครตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ถ้าทำไม่ได้ เขาก็จะคิดว่าล้มเหลว ดังนั้น คำว่าสำเร็จหรือล้มเหลวจึงไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง เป็นเพียงความจริงแบบสมมติ (ตามมุมมองของสังคม ตามมุมมองของแต่ละบุคคล) ถ้าเป็นความจริงที่แท้จริงทุกคนต้องตอบเหมือนกัน เช่น การสัมผัสกับไฟทุกคนจะตอบว่าร้อน ไม่มีใครตอบว่าเย็น เพราะมันคือความจริงที่แท้จริง


เนื่องจากคำว่า “สำเร็จ” กับ “ล้มเหลว” เป็นคำที่อยู่ตรงกันข้ามแบบซ้ายสุดกับขวาสุด เป็นตัวชี้วัดประเภท “ได้กับตก” หรือ “YES กับ NO” หรือประเภท “ON กับ OFF” ไม่มีระดับย่อยของสองคำนี้ เช่น คนเราไม่ค่อยใช้คำว่า “สำเร็จมาก” “สำเร็จปานกลาง” “สำเร็จน้อย” “สำเร็จบางส่วน” “เกือบล้มเหลว” “เกือบสำเร็จ” “ล้มเหลวเล็กน้อย” “ล้มเหลวปานกลาง” ไปจนถึงไม่สำเร็จเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ คำสองคำนี้จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนค่อนข้างมาก เพราะคนมักจะถูกตัดสินจากสังคมและตัวเองในเรื่องต่างๆว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” เท่านั้น


คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับคำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” มากกว่าการกระทำ บางครั้งสิ่งที่เราทำนั้นเกือบจะได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เราก็ไม่เคยพูดว่า “เกือบสำเร็จ” เรามักจะบอกตัวเองว่า “ล้มเหลว”


นอกจากนี้ คนเรามักตัดสินเรื่องต่าง ๆ ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวโดยการเทียบกับมาตรฐานที่สังคมกำหนด เช่น คนที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาต้องจบระดับใด ได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ฯลฯ หรือไม่ก็เทียบกับเป้าหมายที่ตัวเองกำหนดขึ้นมา เช่น ต้องเก็บเงินให้ได้หนึ่งล้านบาทภายในหนึ่งปี ต้องเป็นผู้จัดการให้ได้ภายในสามปีหลังจากจบการศึกษา ฯลฯ ทำให้คนให้ความสำคัญกับผลต่างระหว่างสิ่งที่ทำได้กับมาตรฐานของสังคมหรือเป้าหมายของตัวเองมากเกินไป จนหลงลืมไปว่าสาระสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำตามที่ตั้งใจไว้มากกว่าผลที่เกิดขึ้น เพราะบางครั้งเราได้ทำบางสิ่งบางอย่างอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เราน่าจะภูมิใจกับสิ่งนี้ ไม่ใช่มัวแต่ไปเสียใจกับผลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ เช่น เราไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทั้งๆที่เราได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ผลการเรียนออกมาต่ำกว่าที่เรากำหนดไว้ทั้งๆที่เราตั้งใจเรียนเต็มที่แล้ว ฯลฯ


ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่ไปยึดติดกับผลการตัดสินสุดท้ายมากเกินไป อาจจะทำให้เราต้องดิ้นรนเพื่อค้นหาคำว่า “สำเร็จ” และหลีกหนีคำว่า “ล้มเหลว” อยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้เราหลงเดินทางไปในทางที่ผิด เพียงเพราะอยากจะประสบความสำเร็จ เช่น ต้องประจบเจ้านายเพื่อให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การเงิน เราต้องลอกข้อสอบเพื่อให้ได้เกรดดี เราต้องโกงคนอื่นเพื่อให้มีเงินตามที่เราต้องการ ฯลฯ


เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงใหลและติดใจไปกับคำว่า “สำเร็จ” หรือกลัวและไม่อยากเจอกับคำว่า “ล้มเหลว” มากเกินไป จึงขอแนะนำแนวทางในการปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้



  • อย่าตั้งเป้าหมายเพื่อใช้ตัดสินผลลัพธ์สุดท้าย แต่จงตั้งเป้าหมายเพื่อให้เกิดความท้าทายและเกิดแรงจูงใจ
    การตั้งเป้าหมายในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น อย่าตั้งเป้าหมายเพื่อเอาไว้ตัดสินผลที่เกิดขึ้นในขั้นสุดท้ายเท่านั้น แต่...จงตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างความท้าทายให้ตัวเอง เพราะถ้าเป้าหมายยากเกินไปคนเราก็จะไม่ต้องทำอะไร เพราะคิดว่าทำไปก็ไม่บรรลุเป้าหมาย ในทางกลับกันถ้าตั้งเป้าหมายง่ายจนเกินไป คนเราก็จะไม่ทำอะไรเพิ่มเติม เพราะยังไงก็ได้ตามเป้าหมายอยู่แล้ว เราควรจะตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นอยากจะไปให้ถึง และเกิดแรงจูงใจในการที่อยากจะทำสิ่งนั้นๆ เมื่อเราได้ทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างเต็มที่ก็ไม่ต้องไปสนใจว่าผลลัพธ์ที่ได้มาจะได้ต่ำกว่า เท่ากับหรือดีกว่าเป้าหมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าเราวางแผนดี ทำดี ทำถูก ผลที่เกิดขึ้นย่อมไม่แตกต่างจากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้อย่างแน่นอน
     

  • จงตั้งเป้าหมายย่อยๆที่มีหลายระดับภายใต้เป้าหมายใหญ่
    คนส่วนใหญ่มักจะตั้งเป้าหมายเพียงเป้าหมายสุดท้ายเพื่อใช้ตัดสินผลการกระทำในเรื่องนั้นๆ ซึ่งเป้าหมายบางเรื่องกว่าจะรู้ว่าได้หรือไม่ได้ตามเป้าต้องใช้เวลานาน และถ้าเราฝากความหวังไว้กับเป้าหมายสุดท้ายเพียงอย่างเดียว ถ้าผลออกมาปรากฎว่าไม่ได้ตามเป้า อาจจะทำให้เรารู้สึกผิดหวัง คิดว่าล้มเหลว ดังนั้น เพื่อป้องกันความรู้สึกนี้ จึงควรกำหนดเป้าหมายย่อยๆภายใต้เป้าหมายหลัก เช่น แทนที่จะกำหนดว่าเราจะต้องมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 10 ล้านอีก 20 ปีข้างหน้าเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องกำหนดเป้าหมายย่อยๆ เช่น เราจะเก็บเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ ปีละเท่านั้นเท่านี้ อย่างน้อยเป้าหมายย่อยจะช่วยให้เรามีแรงจูงใจมากขึ้น บางเดือนเก็บได้ต่ำกว่าเป้า บางเดือนอาจจะเก็บได้มากกว่าเป้า ทำให้ชีวิตเรามีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวสลับกันไป ดีกว่ารอไปตัดสินครั้งเดียวอีกสิบห้าปีข้างหน้า

  • ให้คิดว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเราประสบความสำเร็จเสมอ
    เนื่องจากคำว่า “สำเร็จ” เป็นคำที่เราเป็นผู้เลือกกำหนดขึ้น ดังนั้น เมื่อเราทำอะไรลงไปอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็ขอให้คิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะการที่เราได้ทำสิ่งต่างๆตามที่ตั้งใจไว้แล้วนั่นคือความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติ ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็ขอให้เรียกว่า “ผลสำเร็จ” ถึงแม้ว่าผลสำเร็จนั้นจะน้อยกว่าเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ก็ไม่เป็นไร ถ้าเรารับไม่ได้ก็ลองนำเอาผลนั้นไปเทียบกับชีวิตคนที่ด้อยกว่าเรา เช่น เราตั้งเป้าหมายว่าเราจะซื้อบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ๆสักหลังหนึ่ง แต่เราทำได้แค่มีบ้านทาวเฮาส์หลังเล็กๆหลังหนึ่ง ก็อย่าคิดว่าเราไม่ได้ตามเป้าหมาย(ล้มเหลว) แต่จงคิดว่าการที่เรามีบ้านเป็นของตัวเองน่าจะถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว เราต้องนำผลที่เราได้เทียบกับคนที่ด้อยกว่าเราว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่น ไปถามคนที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อน ไปถามคนที่อาศัยอยู่ตามเผิงใต้ทางด่วนหรือชุมชนแออัด ผมเชื่อว่าเขาจะบอกเราว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว
     

  • ให้คิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือความล้มเหลว
    ดังที่กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่าคำว่า “สำเร็จ” และ “ล้มเหลว” เป็นจุดเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรแล้วได้ตามเป้าหรือดีกว่าเป้า อย่าไปคิดว่าเราประสบความสำเร็จเพราะมิฉะนั้นเราจะหลงระเริงกับผลแห่งความสำเร็จนั้นจนทำให้เกิดความประมาท เช่น พอมีเงินทองขึ้นมาก็ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่จงคิดว่าเราประสบความล้มเหลวโดยไปเทียบกับคนที่เขามีมากกว่าเรา เช่น ถ้าเราได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ เราต้องเทียบกับผู้บริหารที่อายุเท่ากับเรา แต่ตอนนี้เขามีตำแหน่งสูงกว่าเรา ทั้งนี้ เพื่อให้เราเกิดความท้าทายใหม่และเกิดแรงจูงใจเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะกำลังใจคนมักจะหมดเมื่อได้ในสิ่งที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว

  • จงสุขใจเมื่อได้ทำในสิ่งที่ต้องการจะทำ มากกว่ารอผลสำเร็จ
    ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ อย่าให้ชีวิตดำเนินไปเต็มไปด้วยความทุกข์หรือความเครียด เพราะความสุขสุดท้ายที่จะได้รับจากความสำเร็จที่กำหนดไว้นั้น อาจจะไม่สามารถชดเชยกับความทุกข์ในระหว่างทางเดินของชีวิตได้ เช่น ตั้งเป้าหมายว่าเมื่ออายุ 50 ปี จะต้องมีเงินมีบ้านมีทรัพย์สินเท่านั้นเท่านี้ และในระหว่างทางเดินต้องใช้ชีวิตแบบหักโหมทำงานหาเงิน จนทำให้ร่างกายทรุดโทรมหรือเจ็บป่วย รับรองได้ว่าเมื่อเป้าหมายเรื่องต่างๆประสบความสำเร็จแล้ว ความสำเร็จนั้นไม่สามารถนำมาหกกลบลบหนี้กับร่างกายที่ย่ำแย่ไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลนี้ จึงอยากให้ทุกคนจงหาความสุขในระหว่างทางเดินของชีวิตก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายให้มากขึ้น เพราะเป็นความสุขที่ได้กินทุกวัน เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ไม่ต้องไปรอ ณ ตอนเข้าเส้นชัยเพียงจุดเดียว
     

สรุป คำว่า “ความสำเร็จ” และ “ความล้มเหลว” จึงไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกัน ไม่ใช่คนเรื่องกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นจุดเดียวกัน เพียงแต่คนในแต่ละสังคม หรือแต่ละบุคคลนำไปใช้ตีความให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราอยากจะได้คำว่า “สำเร็จ” มาก ๆ เราก็สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนความหมายที่ใจของเรา ถ้าเราต้องการเตือนตัวเองไม่ให้ประมาท เราก็สามารถกำหนดความหมายของคำว่า “ล้มเหลว” ขึ้นมาได้ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะคำทั้งสองคำนี้ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง แต่เป็นความหมายตามการสมมติของแต่ละคนแต่ละสังคมเท่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปนี้ ทุกท่านคงจะสามารถกำหนด “ความสำเร็จ” และ “ล้มเหลว” ได้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลาที่ต้องการนะครับ

ขอบคุณที่มา  ::  peoplevalue


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์