ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่





ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เวียงโกศัย นั้นกล่าวว่า ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.1470-1560 พระนางจามเทวีเข้าครอบครองแคว้นล้านนาได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองพลนครเป็น โกศัยนคร หรือ เวียงโกศัย ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร นับแต่นั้นมาก็มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์ที่ 18 เป็นเจ้าหลวงกำกับด้วยข้าหลวงซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ เป็นข้าหลวงองค์แรก

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้นโดยยึดสถานีตำรวจ ศาลากลาง ปล้นเงินคลังและปล่อยนักโทษออกจากคุก พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยวจับตัวและถูกบังคับให้ยกเมืองให้ แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยินยอมจึงถูกจับประหารชีวิต เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ เจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ เกรงพระราชอาญาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2452 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ปัจจุบันเมืองแพร่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเมืองที่การท่องเที่ยวคึกคักมากนัก แต่ด้วยเป็นเมืองที่มีธรรมชาติขุนเขาป่าไม้เขียวขจี เมื่อรวมกับศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่คนเมืองแพร่ยึดถือปฏิบัติจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบแล้ว จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้มากยิ่งขึ้น

ในเมืองแพร่ยังมีศิลปกรรมแบบกึ่งคลาสสิคที่สร้างเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เองก็คือคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เป็นอาคารทรงอิตาเลี่ยนเก่าแก่ที่พำนักของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์สุดท้าย ก่อนที่จะมีการก่อกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2435 เป็นแบบยุโรปประยุกต์หลังคาสูงทรงปันหยา 2 ชั้น มีลวดลายเถาไม้แกะสลักประดับตัวบ้าน เช่นที่หน้าจั่ว ช่องลม ชายน้ำ ประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่และภาพถ่ายที่หายากของเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จมาเยี่ยมเยืยนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2501 นอก จากนั้นอาคารหลังนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536

เรื่องราวความลี้ลับของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้นเต็มไปด้วยตำนานที่น่าสะพรึ่งกลัว ด้วยในอดีตบริเวณใต้ถุนอาคารหลังนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษมานานนับศตวรรษ ชาวบ้านทั่วไปไม่อาจที่จะล่วงรู้ คงมีแต่คำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ล่วงลับดับขานไปแล้วเล่าสืบต่อกันมาถึงเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณต่างๆ ของบรรดาผีทาสที่เสียชีวิตจากการถูกพันธนาการอย่างโหดเหี้ยม

คุกทาสที่กลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษในตอนปลาย ๆ ก่อนจะหมดระบบศักดินาแห่งนี้ อยู่ใต้ถุนคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่หรืออาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่หลังเก่า เป็นเหมือนห้องใต้ดินขนาดใหญ่แบ่งเป็นห้อง ลึก 2 ชั้น มีพื้นที่โล่งด้านหน้าสำหรับควบคุมตรวจตราบรรดานักโทษ ห้องด้านหน้าด่านแรกแยกเป็น 3 ห้องเรียงกันกว้าง 15 เมตร แต่ละห้องมีปล่องซี่กรงเหล็กที่เพิ่งเจาะขึ้นทีหลัง แสดงว่าในสมัยก่อนที่ขังทาสไม่มีปล่องให้เห็นเดือนเห็นตะวัน


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ภายใต้อาคารคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่หลังนี้เคยใช้เป็นที่คุมขังทาสมาไม่น้อยกว่า 50 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆ ไปของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงในสมัยต่อๆมา จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้น คุกทาสอันยาวนานของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่จึงว่างลง หลงเหลือไว้เพียงตำนานภาพหลอนและวิญญาณพยาบาท

กระทั่งถึงสมัยนายธวัช รอดพร้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ปี พ.ศ.2528 เรื่องราวปริศนาและอาถรรพณ์ลี้ลับก็เกิดขึ้นภายในคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ ในบทความของสำเริง มณีวงศ์ ได้เขียนไว้ในสยามอารยะ ถึงอำนาจมืดภายใน คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่า หลังจากที่นายธวัช รอดพร้อม ได้เข้ามาพักอาศัยจวนหลังนี้ได้เพียงชั่วคืนก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด เมื่อญาติของผู้ว่าคนหนึ่งกำลังเดินลงบันไดจากชั้นบนลงมาชั้นล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว ก็เกิดหกล้มกลิ้งตกบันได ทุกคนต่างสะดุ้งตกใจสอบถามเรื่องราวได้ความว่า ขณะที่กำลังเดินลงบันไดอยู่เหมือนมีมือประหลาดยื่นออกมาจับขาไว้อย่างแรง จนสะดุดหกล้ม นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นภายในจวนผู้ว่าฯ อีกหลายประการ จนผู้ว่าราชการธวัช รอดพร้อม ได้อัญเชิญพระพุทธรูปวิโมกข์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่โง่น โสรโยจากจังหวัดพิจิตร นำมาประดิษฐานบนแท่น ใต้ต้นโพธิยักษ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปีข้างๆ อาคารคุ้มเจ้าหลวงและจัดทำพิธีทำบุญล้างจวน
นับแต่นั้นมาเรื่องราวปริศนาแห่งอาถพรรณ์วิญญาณภายใน คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อมากันมาจนถึงปัจจุบัน

อาคารคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ตั้งอยู่ในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถนนคุ้มเดิม ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมบริเวณภายนอกในช่วงเวลาราชการตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น.

ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ย้อนรอยละคร รอยไหม ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


ขอคุณภาพจาก sadoodta

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์