สำรวจศักยภาพ 10 เขื่อนใหญ่ รับมือร้อนแล้ง....บรรเทาอุทกภัย

สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤติ
 
ประชาชนเกือบทั่วทุกสารทิศประสบความเดือดร้อน สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้างก็คือ เขื่อนเก็บน้ำ แต่ทราบหรือไม่ว่าบรรดา เขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีความจุน้ำได้มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถประคับประคองความเดือดร้อนนี้ไปได้อีกนานมากน้อยเพียงใด?...!!
   
บุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน ให้ความรู้ว่า เขื่อนในประเทศไทยมีทั้งหมด 33 เขื่อนใหญ่ 367 เขื่อนอ่างขนาดกลาง และ 4,000 กว่าอ่างขนาดเล็ก ปัจจุบันเราบริหารจัดการน้ำอยู่ประมาณ 400 เขื่อนอ่างก็คือ เขื่อนขนาดใหญ่และเขื่อนอ่างขนาดกลางรวมความจุโดยรวมประมาณ 74,117 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นเขื่อนที่มีความจุอันดับ 1 ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ 2.เขื่อนภูมิพล 3.เขื่อนสิริกิติ์ 4.เขื่อนวชิราลงกรณ 5.เขื่อนรัชชประภา 6.เขื่อนอุบลรัตน์ 7.เขื่อนสิรินธร 8.เขื่อนลำปาว 9.เขื่อนบางลาง 10.เขื่อนแควน้อย ซึ่งสมัยก่อนเขื่อนภูมิพลมีความจุเป็นอันดับ 1 คือ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันคือเขื่อนศรีนครินทร์ มีความจุประมาณ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เขื่อนขนาดกลาง 367 เขื่อนมีความจุสูงสุดแค่ 3,960 ล้านลูกบาศก์เมตร ยกตัวอย่างเขื่อนภูมิพลเขื่อนเดียวมีความจุ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับว่าต้องมี 1,200 กว่าอ่างขนาดกลางจึงจะได้ความจุเท่ากับเขื่อนภูมิพล โดยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดมีปริมาณที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 700,157 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นเขื่อนใหญ่จึงมีศักยภาพที่ดีมาก
   
สำหรับ “เขื่อนศรีนครินทร์” ชื่อเดิม “เขื่อนเจ้าเณร” สร้างขึ้นบนแม่น้ำแควใหญ่ บ้านเจ้าเณร ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร มีความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทร์ มาขนานนามเขื่อน และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524 เพื่ออำนวยประโยชน์และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรและส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม
   
“เขื่อนภูมิพล” เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก สร้างปิดกั้นลำน้ำปิง จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระปรมาภิไธยชื่อเขื่อนว่าเขื่อนภูมิพลเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 “เขื่อนสิริกิติ์” สร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เป็นเขื่อนดินแห่งแรกของไทย เก็บน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2515 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511

สำรวจศักยภาพ 10 เขื่อนใหญ่ รับมือร้อนแล้ง....บรรเทาอุทกภัย


“เขื่อนวชิราลงกรณ” เดิมชื่อเขื่อนเขาแหลม เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย ต.ท่าขุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 เสร็จในปี 2527 มีความจุ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วน “เขื่อนรัชชประภา” เดิมชื่อเขื่อนเชี่ยวหลาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า เขื่อนรัชชประภา มีความหมายว่าแสงสว่างแห่งราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในภาคใต้ มีความจุ 5,638 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จปี 2530 “เขื่อนอุบลรัตน์” สร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพลและเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นปิดกั้นแม่น้ำพองสองสาขาย่อยของแม่น้ำชี มีความจุน้ำได้ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ “เขื่อนสิรินธร” ตั้งอยู่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า “เขื่อนสิรินธร”
   
“เขื่อนลำปาว” เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 เสร็จ พ.ศ. 2528 ใช้ประโยชน์ในด้านการเพาะปลูก บรรเทาอุทกภัยในที่ราบลุ่มสองฝั่งลำปาวกับบางส่วนของลุ่มน้ำชี “เขื่อนบางลาง” สร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี บ้านบางลางบาเจาะ อ.บันนังสตา เริ่มก่อสร้างปี 2519 แล้วเสร็จปี 2528 สามารถกักน้ำได้ 1,420 ล้านลูกบาศก์เมตร และ “เขื่อนแควน้อย” ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก เก็บน้ำได้สูงสุด 769 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างปี 2548 เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ เขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
   
จะเห็นได้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่มีอายุการใช้งานมานานหลาย 10 ปี แล้ว ซึ่งการออกแบบก่อสร้างทำตามสากลโลกที่ใช้กันอยู่ โดยมีการเผื่อพื้นที่สำหรับการตกตะกอนใต้ท้องน้ำ ซึ่งสามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี จึงจะปล่อยน้ำออกและลอกตะกอน นอกจากเขื่อนที่กักเก็บน้ำไว้แล้วในประเทศไทยยังมีลุ่มน้ำสายหลักอีกทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ 254 สาขาและประมาณ 5,000 กว่าสาขาย่อย ฉะนั้นใน 25 ลุ่มน้ำทั้งหมดจะมีตัวเขื่อนตัวอ่างที่ช่วยเก็บกักน้ำอยู่ด้วย โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ทางภาคเหนือ เมื่อฝนตกเข้าสู่ลุ่มน้ำปิง จะมีเขื่อนใหญ่ภูมิพลรองรับน้ำไว้ ส่วนลุ่มน้ำวังมีเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมารับน้ำเอาไว้ เพื่อช่วยบรรเทาเวลาน้ำท่วม ฉะนั้นถ้าไม่มีเขื่อนอย่างที่ผ่านมาซึ่งมีอิทธิพลพายุทั้ง 5 ตัว บวกกับร่องความกดอากาศต่ำที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ทางภาคเหนือและอีสานตอนบนทั้งหมดจะเป็นอย่างไร
   
ดังนั้นตัวเขื่อนอ่างแต่ละตัวมีความสำคัญในการช่วยรับปริมาณน้ำเอาไว้ในช่วงที่หน้าน้ำมา
 
เมื่อหน้าแล้งถ้าลุ่มน้ำใดไม่มีเขื่อนอ่างเก็บไว้น้ำก็จะแห้ง ฉะนั้นที่พูดกันว่าเขื่อนอ่างเก็บน้ำไม่ได้ช่วยแก้น้ำท่วม ถูกต้องเพราะเขื่อนไม่ได้ช่วยเหลือน้ำท่วม แต่ช่วยบรรเทาน้ำไม่ให้ท่วมหนักมากเกินไปในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม ทำให้ความจำเป็นในการกักเก็บน้ำและความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนยังมีความสำคัญอยู่ เพราะจะช่วยรับประมาณน้ำที่เหลือ ๆ อยู่เอาไว้ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในขณะเดียวกันในหน้าแล้งที่น้ำไม่มีสามารถพร่องระบายส่งไปในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกปัจจุบันปริมาณน้ำที่เราใช้ในประเทศไม่ใช่เฉพาะการเพาะปลูกอย่างเดียว แต่มีการใช้น้ำทุกกิจกรรม เช่น น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม น้ำเพื่อการท่องเที่ยว น้ำเพื่อส่งไปรักษาสภาพต่าง ๆเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และน้ำเพื่อระบายน้ำเสียลงทะเลได้เร็วขึ้น
   
ขณะนี้น้ำในเขื่อนใหญ่ทุกเขื่อนก็รับน้ำไว้เต็มที่แล้ว ในอนาคตหากเรามีเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกก็จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่ที่ตัวประชาชนเองด้วย หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและยังคงมีพฤติกรรมทำให้โลกร้อนอยู่ เช่น ตัดไม้ทำลายป่า ปล่อยมลพิษ ฯลฯ ต่อให้มีเขื่อนแต่ไม่มีฝนตกหรือมีฝนตกมากจนวิกฤติเขื่อนก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้.

ปริมาณน้ำในประเทศไทย

บุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนต่อปีประมาณ 750,000-800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำที่ซึมลงสู่พื้นดิน เป็นน้ำบาดาล ระเหยไปในอากาศ ประมาณ 600,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือปริมาณน้ำท่า (น้ำเหนือผิวดิน) ประมาณ 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ กรมชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศสามารถเก็บน้ำในเขื่อนได้แค่ 76,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ ทำให้น้ำที่เหลือกว่า 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตรสร้างความเดือดร้อนคือน้ำท่วมและไหลทิ้งไปโดยไม่มีที่เก็บ ขณะเดียวกันพฤติกรรมการใช้น้ำในประเทศของเราประมาณ 73,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำในประเทศที่มีอยู่ในเขื่อนอ่างทั้งหมด 76,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเราต้องเผื่อน้ำเพื่อการตกตะกอน การรักษาระบบนิเวศ จึงมีน้ำที่เราใช้การได้จริง 52,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยอดน้ำที่เราต้องการคือ 73,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นแต่ละปีที่ผ่านมาย้อนหลังไปประมาณ 5 ปี เราขาดน้ำหรือน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั้งประเทศทุกกิจกรรมการใช้น้ำอีกประมาณ 20,000 ล้านเศษ
   
เขื่อนอ่างเก็บน้ำจึงมีความสำคัญที่จะต้องสร้างเพื่อรับน้ำในส่วนนี้ไว้ทั้งหมด ซึ่งเรามีแผนระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 26,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร บวกกับปริมาณน้ำที่เราใช้กันอีก 76,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะได้น้ำประมาณ 1.1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับ 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำที่ไหลลงทะเลไปประมาณ 160,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นถ้าเราเก็บน้ำได้ 26,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในส่วนนี้ น้ำที่ทำความเดือดร้อนอยู่ขณะนี้ เช่น น้ำขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมดเหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตรและน้ำที่อยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงในทุ่งราบทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ โดยที่น้ำท่วมขังทำความเดือดร้อนให้เศรษฐกิจไทยก็คือมวลน้ำ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษนี้ ถ้าเรามีเขื่อนอ่างเก็บน้ำจำนวนนี้ก็จะช่วยบรรเทาได้
   
ดังนั้นจึงยืนยันว่าการมีเขื่อนเก็บน้ำมีความสำคัญและประโยชน์รวมทั้งมีคุณค่าในการเก็บกักไว้เพื่อบริหารจัดการน้ำในประเทศที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ นอกจากนี้ยังส่งเสริมทางเศรษฐกิจ พืชผลทางการเกษตรทำให้เศรษฐกิจของประเทศดียิ่งขึ้น

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์