อย่าประมาท!!.... โรค มือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว

อย่าประมาท!!.... โรค มือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว


จากสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 12,155 คน : ตั้งแต่ 1 ม.ค.-22 ก.ย.54 อัตราป่วยคิดเป็น 19.13 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อทางปาก ไอ จามรดกัน แม้ความรุนแรงของโรคไม่สูง แต่เนื่องจากติดกันง่ายจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่าต้นเหตุน่าจะเป็นเพราะเด็กเล่นคลุกคลีกันและติดเชื้อ เมื่อเด็กติดเชื้อผู้ปกครองก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เด็กจึงนำเชื้อไปติดเด็กคนอื่น ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย อาหาร ให้มีสุขอนามัยที่ดีเพราะเป็นวิธีการป้องกันโรคนี้ดีที่สุด

1. โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) คือโรคอะไรโรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการหนึ่งซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้ ที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งพบเฉพาะในคนเท่านั้น และมีหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ คอกแซกกีไวรัสกรุ๊ป เอ และบี (Coxsackie virus group A, B) และที่ก่อโรครุนแรงที่สุด คือ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีรายงานผู้ป่วยสูงกว่าเกือบ 3 เท่า และมักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ ถึง 3 ปี โรคนี้ไม่เป็นปัญหาในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

2.โรคนี้พบที่ใดบ้าง โรคนี้พบผู้ป่วยและการระบาดได้ทั่วโลก มีรายงานการระบาดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเอนเทอโรไวรัส 71 ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศเวียดนามมีข้อมูลล่าสุดพบผู้ป่วยกว่า 42,673 ราย เสียชีวิตกว่า 98 ราย ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยในปีนี้ 2,919 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว (2553) ที่พบผู้ป่วยถึง 8,769 ราย โดยในปีนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต แหล่งที่มา : http://outbreaknews.com /04 September 2011

3. โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร  โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อโดยตรงทางปาก ซึ่งเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน  แก้วน้ำ  หรือของเล่นที่ปนเปื้อนน้ำมูก  น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะผ่านเข้าไปที่ลำคอ และลงไปที่ลำไส้ โดยเชื้อจะเพิ่มจำนวนที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รวมทั้งทอนซิล และเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลือง สำหรับเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ จะถูกขับถ่ายปนมากับอุจจาระเป็นระยะ ๆ ได้นานถึง 6-8 สัปดาห์ แม้อาการจะทุเลาลงแล้วก็อาจแพร่เชื้อได้ การติดต่อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อไวรัสออกมามาก การแพร่กระจายเชื้อจะเกิดได้ง่ายมากในเด็กเล็ก ที่ชอบเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกันในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้องที่อยู่รวมกัน

4. หากติดเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการเมื่อใด  ส่วนใหญ่อาการป่วยจะแสดงภายใน 3-5 วัน หลังได้รับเชื้อ โดยไข้เป็นอาการแสดงเริ่มแรกของโรค

5. อาการของโรคเป็นอย่างไร เริ่มด้วยมีไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1-2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำ ๆ อีก 2-3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากรับประทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบ ๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น หัวเข่า ก้น เป็นต้น ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบ ๆ แดง (maculo-papular vesicles) มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ (ulcer) อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน

ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต พบว่าบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณอันตราย ได้แก่ ไข้สูง (ไม่ลดลง) ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ

6.ผู้ใหญ่สามารถติดโรคมือ เท้า ปาก จากเด็กได้หรือไม่  ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานนี้ จะจำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับ หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถเป็นโรคได้อีก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้

7. หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เสี่ยงติดโรคหรือไม่  ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าการติดเชื้อมีผลต่อการแท้งบุตร ความพิการ หรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ อย่างไรก็ตาม เด็กอาจได้รับเชื้อขณะคลอด หากมารดาป่วยในช่วงใกล้คลอด เด็กแรกเกิดที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย   ไม่รุนแรง การป้องกันทำได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ และระหว่างคลอด

8. หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หรือหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ เป็นต้น ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
 
ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศระบายถ่ายเทได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก-ปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

9. ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ที่รุนแรง  โดยทั่วไปโรคมือ ปาก เท้า เป็นโรคที่ไม่อันตราย ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่ไม่มีความรุนแรง ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรค ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยเล็กน้อย หายได้เองภายใน 7-10 วัน และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่เด็กอ่อนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต
   
ข้อมูลจาก แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์