การป้องกันการฆ่าตัวตาย

การป้องกันการฆ่าตัวตาย


การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาทางสังคมมากกว่าจะเป็นปัญหาทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าการจัดบริการให้ความช่วยเหลือผู้อยุ่ในภาวะวิกฤตของชีวิตและการให้การรักษาทางจิตเวชอย่างถูกต้องจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่มาตรการการป้องกันการฆ่าตัวตายหลายประการ ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในสังคมเราอาจกำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ดังนี้

1. การจัดการศึกษา
เพื่อให้เยาวชนทั่วไปมีทักษะในการจัดการปัญหาชีวิต ให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแก้กันในยามวิกฤต และมีความพร้อมสำหรับการมีชีวิตครอบครัวเพื่อเป้นแหล่งให้กำลังใจที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีทัศนคติที่ไม่รังเกียจหรือละอายต่อการใช้บริการทางสุขภาพจิต มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตเวช รู้วิธีสังเกตอาการของผู้ใกล้ชิดที่อาจฆ่าตัวตาย และให้ความช่วยเหลือขั้นต้น รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ช่วยให้ญาติของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคเรื้อรังและร้ายแรงมีความเข้าใจและมีวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วย มาตรการที่สำคัญในสถานศึกษาได้แก่
- การจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการจัดการกับความเครียด รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดี จัดการความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ในชีวิตและรู้จักขอความช่วยเหลือ
- เพิ่มความสามารถของครูในการสังเกตนักเรียนที่อาจมีปัญหาทางจิตใจและเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียน หรือส่งต่อเพื่อรับความช่วยเหลือ
- จัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพูดคุยปรึกษากันตลอดจนพัฒนาความร่วมมือระหว่างชุมชน ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
- ให้การปรึกษาช่วยเหลือ และให้กำลังใจผู้ทำร้ายตนเอง


2. บทบาทของสื่อมวลชนกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย

ประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่า การนำเสนอข่าวมีส่วนชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องในชุมชน โดยมีการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการนำเสนอข่าว และพื้นที่ที่มีการนำเสนอข่างเข้มข้นกว่าจะได้รับผลกระทบมากว่า ซึ่งได้รับการยืนยันจากการศึกษาในหลายพื้นที่ เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรายงานข่าวการฆ่าตัวตายเป็นการนำเสนอแบบอย่างของการแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายว่าเป้นสิ่งที่ทำกันได้ ผู้ที่มีแนวโน้มอยู่แล้วหรือผู้ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันกับผู้ฆ่าตัวตายจึงลดความยั้งใจลง โดยเฉพาะหากผู้ฆ่าตัวตายเป็นบุคคลที่เป็นที่ชื่นชอบจะส่งผลได้มาก ลักษณะของข่าวที่พบว่าทำให้เกิดการเลียนแบบฆ่าตัวตาย คือ

- บรรยายวิธีการใช้ในการฆ่าตัวตาย
- อธิบายสาเหตุของการฆ่าตัวตายไว้อย่างง่ายๆ ว่าเป็นเพราะความเครียด ทั้งที่ในความจริงมักมีหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น รายงานข่าวว่าสอบได้คะแนนไม่ดี จึงฆ่าตัวตาย
- ไม่นำเสนอปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วของผู้ฆ่าตัวตาย
- ไม่นำเสนอผลตามมาของการฆ่าตัวตาย เช่น กรณีฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ และเกิดความพิการ เป็นอัมพาต สมองพิการ หรือผลกระทบต่อครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง
- ไม่นำเสนอวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่แนะนำวิธีการที่ง่ายเกินจริงหรือไม่เหมาะสมกับปัญหาที่ซับซ้อนอันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการฆ่าตัวตาย เช่น เพียงแนะนำว่าให้สังคมมีน้ำใจต่อกัน
- นำเสนอ “รางวัล” ที่ได้จากการฆ่าตัวตาย เช่น การเป็นที่รู้จัก

การนำเสนอข่าวที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพของผู้ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หรือลงรายละเอียดของการฆ่าตัวตายและไม่ควรเสนอข่าวเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ข่าวที่ดีจะเป็นการให้การศึกษาแะสร้างความตระหนักแก่ประชาชนควรพิจารณานำเสนอ ประสบการณ์ของผู้เคยมีความคิดทำร้ายตนเองและผ่านพ้นวิกฤตของชีวิตมาได้ด้วยดีเป้นแบบอย่าง เพื่อเป็นกำลังใจกับผู้ที่กำลังรู้สึกท้อแท้ในชีวิต

การนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองในภาพยนตร์หรือละครควรได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และขณะนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสถานบริการช่วยเหลือผู้คิดฆ่าตัวตายและบริการปรึกษาผู้ทุกข์ใจ สื่อมวลชนยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการปรับตัวในชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตครอบครัวและชุมชน


3. การควบคุมวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย
คนส่วนมากเข้าใจว่าคนที่คิดฆ่าตัวตายจะใช้วิธีการที่ใกล้มือ ใช้อุปกรณ์ที่หยิบฉวยได้ง่าย จึงเชื่อว่าการควบคุมอุปกรณ์ในการฆ่าตัวตายไม่น่าจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ แต่การศึกษาในหลายประเทศพบว่าการควบคุมอุปกรณ์หรือวิธีการที่มีผู้ใช้ฆ่าตัวตายบ่อยจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งเป็นการกระทำที่หุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อย หรือทำได้เพราะมีวิธีการที่ง่ายและไม่ทรมาน การมีมาตรการป้องกันจึงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลง ตัวอย่างของประสบการณ์การควบคุมอุปกรณ์หรือวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย ที่มีผลในการลดอัตราการฆ่าตัวตายได้แก่

- การลดการสั่งจ่ายยา Barbiturates ซึ่งเป็นยาที่มีอันตรายเมื่อรับประทานเกินขนาด
- การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมแก๊สที่ใช้ภายในบ้าน ให้ไม่เป็นพิษ (เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ)
- การลดไอเสียของรถยนต์ให้มีส่วนผสมของคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยลง
- การควบคุมการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
- การควบคุมการเก็บ/ขาย สารพิษที่ใช้ในการเกษตร
- การสร้างรั้วกั้นบริเวณสะพานสูงหรือที่สูง เพื่อป้องกันการกระโดดจากที่สูง
- การผสม Methionine ใน Paracetamol เพื่อลดพิษที่เกิดขึ้นต่อตับ เมื่อมีการรับประทานยา paracetamol เกินขนาดโดยตรง

4. จัดบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

บริการปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในช่วงที่ชีวิตตกอยู่ในภาวะวิกฤต จะช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเลือกทางเดินที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาในระยะยาว กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่
- คนว่างงาน
ผู้ตกงานมักมีปัญหาด้านการเงิน และอาจรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่าหรือในบางครั้งการตกงานอาจเป้นผลจากความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ทำให้ผลงานตกต่ำลงจึงถูกให้ออกจากงาน กลุ่มผู้ว่างงานจึงควรได้รับบริการช่วยเหลือ
- ผู้ประสบปัญหาครอบครัวและชีวิตสมรส
ความขัดแย้งในครอบครัวและชีวิตสมรสเป็นเหตุกระตุ้นให้ทำร้ายตนเองที่สำคัญควรจัดบริการปรึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวและชีวิตสมรสและในกรณีคู่สมรสตัดสินใจแยกทางกัน ควรช่วยเหลือคู่สมรสและเด็กๆ ในการปรับตัวกับการแยกทางกัน
- ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง
การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงเปนสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย การแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในประเทศไทยอาจทำให้การฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นการพัฒนาเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือด้านสังคมและจิตใจแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ที่สำคัญสังคมควรให้โอกาสและกำลังใจ แก่ผู้ติดเชื้อ เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ควรมีบริการปรึกษาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข จำเป็นต้องมีทักษะในการวินิจฉัยและให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาอารมณ์เศร้า ปัญหาการปรับตัวและผู้มีความคิดฆ่าตัวตาย ในการศึกษาของประเทศสวีเดนพบว่า การเสริมความรู้และทักษะแก่แพทย์ในการวนิจฉัยและรักษาภาวะซึมเศร้าอย่างถูกต้องจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
- ผู้ทำร้ายตนเอง
ผู้ทำร้ายตนเองร้อยละ 1 จะทำซ้ำและเสียชีวิตในเวลา 1 ปี หลังการพยายามครั้งแรกและประมาณร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเองจะเสียชีวิตลงจากการฆ่าตัวตาย ผู้ทำร้ายตนเองจึงควรได้รับการประเมินและช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของการทำร้ายตนเอง และช่วยให้ครอบครัวช่วยเหลือกัน พูดจาสื่อสารกัน
- การจัดบริการเฉพาะอื่นๆ
นอกเหนือจากบริการปรึกษาปัญหาชีวิตในประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วยังอาจจัดบริการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่มีลักษณะเช่น บริการโทรศัพท์สายด่วน โทรศัพท์สายด่วนเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้อยู่ในความสับสนและกำลังคิดฆ่าตัวตายอาจติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งจะเป็นวิธีการหนึ่งในการลดความหุนหันพลันแล่น ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และเกิดกำลังใจ อย่างไรก็ตามโทรศัพท์สายด่วนจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ จำเป็นต้องมีระบบบริการปรึกษาที่มีคุณภาพและเป็นบริการที่พบกันโดยตรง เช่น หน่วยบริการสุขภาพจิตฉุกเฉิน การประเมินผลบริการโทรศัพท์สายด่วนในประเทศอังกฤษพบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว ภายหลังการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับบริการนี้ มักมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่อัตราการทำร้านตนเองและอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่นั้นพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของวิธีการประเมินหรือเป็นเพราะบริการชนิดนี้ตอบสนองความต้องการของประชากรคนละกลุ่มกับผู้ฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตามความนิยมของบริการชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการบริการสุขภาพจิตที่มีอยู่สูงในประชาชนทั่วไป ในกรณีการฆ่าตัวตายของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม การจัดโทรศัพท์สายด่วนให้การปรึกษาอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ข่าวดังกล่าว

การจัดตั้งศูนย์ข้อความช่วยเหลือจิตใจในภาวะวิกฤต ประสบการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ใช้บริการของศูนย์ช่วยเหลือจิตใจในภาวะวิกฤตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุน้อย ซึ่งได้รับประโยชน์จากบริการนี้

การปรึกษาในโรงเรียนและสถานศึกษา เป็นบริการที่นักเรียนและนักศึกษาสามารถเดินเข้าไปปรึกษาปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการเรียน และชีวิตส่วนตัว เหมือนกับการที่โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ จัดให้มีห้องพยาบาลทางกายไว้ประจำ


5. การวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวชอย่างถูกต้อง
ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชในขณะที่ฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า และติดสุรา จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้ใช้บริการที่หน่วยบริการจิตเวช สถานบริการทางสุขภาพทั่วไป จึงต้องมีขีดความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวชได้อย่างถูกต้อง และบริการสุขภาพที่จัดขึ้น ทั้งการรักษาทางกาย ทางจิตเวช และการบำบัดรักษา การติดสารเสพติดควรมีความเชื่อมโยงถึงกัน เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายมีปัญหาหลายอย่างพร้อมกัน


6. การสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและสังคม
การสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน ให้มีความเอื้ออาทรต่อกัน ร่วมใจกันปกป้องลูกหลานจากอิทธิพลของค่านิยมที่ไม่เหมาะสม พัฒนาโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจ ช่วยสร้างสังคมให้สมาชิกไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยก ให้ทุกคนได้ร่วมสร้างคุณค่าให้กับชุมชน จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีของปัญหาการฆ่าตัวตาย.


ขอบคุณ : หนังสือ การฆ่าตัวตาย: การสอบสวนหาสาเหตุและการป้องกัน
โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์