สาวกไอทีพึงสังวร ′ไอโฟน′ไม่ใช้แล้วของคุณสร้างภาระให้โลก มากกว่าที่คิด

สาวกไอทีพึงสังวร ′ไอโฟน′ไม่ใช้แล้วของคุณสร้างภาระให้โลก มากกว่าที่คิด



สาวกไอทีทั้งหลายที่ชื่นชอบแกตเจ็ตใหม่ๆ พึงรำลึกไว้ว่า ไลฟ์สไตล์ที่แสนจะทันสมัยของคุณอาจก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่คิด

เพียงสามไตรมาสแรกของปีนี้ไอโฟนจำนวน55 ล้านเครื่องถูกขายออกไปหมดเกลี้ยง สินค้าไอทีสุดเก๋รุ่นล่าสุดเหล่านี้ช่างเป็นสิ่งยั่วยวนกิเลสเสียนี่กระไร

แต่ปัญหาก็คือ  ในไม่ช้า สินค้าไอทีสุดเก๋รุ่นล่าสุดก็จะกลายเป็นของตกรุ่น ไอโฟนตัวเก่าของคุณอาจไม่สามารถรองรับแอพหรือลูกเล่นใหม่ๆได้อีกต่อไป ในสหรัฐฯ มือถือที่ใช้แล้ว คอมพิวเตอร์ และฮาร์ดแวร์ต่างๆจำนวนหลายล้านเครื่องกลายถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะในแต่ละปี เครื่องเล่นไอทีเหล่านี้ยังเต็มไปด้วยโลหะมีพิษอย่างตะกั่ว แคดเมียม และสารปรอท และก็อย่าแปลกใจที่รู้ว่า  ท้ายที่สุดแล้วขยะไอทีจะเหล่านี้แห่ไปกองรวมกันในประเทศกำลังพัฒนา

        นิตยสารไทมส์รายงานว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งต้องการขยะไอทีพวกนี้เนื่องจากส่วนประกอบของพวกมันสามารถนำไปขายได้ แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศจะมีกฏหมายห้ามไม่ให้มีการขนส่งขยะไอทีที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบรรดาประเทศโลกที่หนึ่งไปทิ้งยังประเทศด้อยพัฒนาก็ตาม

ผลการศึกษาในประเทศกาน่าซึ่งเป็นแหล่งรวมขยะไอทีแห่งใหญ่พบว่า สารมีพิษส่งผลกระทบต่อดินและอากาศ โดยพวกมันจะซึมลงสู่พื้นดิน และจะลอยขึ้นสู่อากาศเมื่อถูกเผา

"กระทั่งถึงตอนนี้ กาน่าก็ยังไม่มีกฏหมายห้ามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์" อทิโม แซมสัน นักวิจัยชาวกาน่ากล่าวในที่ประชุมของกลุ่ม "หยุดปัญหาขยะไอที!" (Stop the E-Waste Problem หรือ StEP)

ไทมส์กล่าวว่า การที่ขยะไอทีแห่แหนมากองรวมกันในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก มีรากเหง้ามาจาก ปัญหาความยากจนนั่นเอง

ทองคำเป็นส่วนประกอบหนึ่งในขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยภูเขาขยะมือถือ 1 แสนเครื่องจะมีเศษทองคำชิ้นเล็กๆมูลค่ากว่า 130,000 ดอลลาร์ นั่นยังไม่รวมถึงทองแดงที่มีมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ และแร่เงินมูลค่า 27,000 ดอลลาร์

ชุมชนยากจนเหล่านี้หวังพึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นแหล่งรายได้ของพวกเขา ในปี ค.ศ. 2009 กาน่านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกว่า 215,000 ตัน

"จำนวนคนมากใช้ประโยชน์จากขยะพวกนี้ จึงทำให้เป็นการยากยิ่งขึ้นที่รัฐบาลจะปฏิเสธการนำเข้าขยะดังกล่าว" แซมสันกล่าว "วิธีแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมด้วย"

กลุ่ม "หยุดปัญหาขยะไอที!" เสนอให้มีการออกกฏหมายเพื่อควบคุมการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่ผู้คนซึ่งอาศัยขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นแหล่งรายได้ยังคงสามารถทำงานของพวกเขาต่อไป ในวิถีทางที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของพวกเขาเองและสิ่งแวดล้อม

พูดง่ายแต่ทำยาก ทั้งนี้เพราะประเทศยากจนมีเงินจำกัด ไหนพวกเขาจะต้องใช้เงินเหล่านี้ไปกับเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และการเลี้ยงดูประชากรในประเทศ ดังนั้นการลุกขึ้นมาสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

ไทมส์ระบุว่าทางแก้อีกทางหนึ่งก็คือการทำให้บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หันมาออกแบบสินค้าโดยคำนึงถึงโลหะมีพิษ ด้วยการจำกัดการใช้โลหะเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ควรเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาดเสียบ้าง การทิ้งแบตเตอรี่สักก้อนก็เหมือนการหย่อนสารโคบอลท์และโลหะมีพิษอื่นๆลงไปในสิ่งแวดล้อม ขณะที่ร้านค้าไอทีหลายแห่งมีกล่องสำหรับใส่สินค้าไอทีไม่ใช้แล้วเพื่อที่จะนำไปรีไซเคิลอย่างปลอดภัย

แม้ว่าคงจะไม่มีอะไรที่สามารถไปหยุดยั้งความก้าวหน้าทางวิทยาการได้รวมทั้งการมีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

"แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น"ไทมส์ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์