ประวัติการสร้างพระพุทธรูป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูป



พระพุทธรูป หรือ พระพุทธปฏิมากร คือ รูปเปรียบ หรือ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระศาสดาแห่งพุทธศาสนา หลังจากพุทธปรินิพพานล่วงเลยนานแล้วสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ที่ปรากฏในมหาปุริสลักษณะ มิใช่การทำให้เหมือนองค์พระพุทธเจ้า แต่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึง พระพุทธคุณและเพื่อสักการบูชาแทนองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อน้อมใจให้ประพฤติตามคำสอนของพระองค์

ตลอดจนเป็นสิ่งจรรโลงสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรสืบไป ตราบใดยังปรากฏพระพุทธรูปอยู่ หมายถึงว่า พระรัตนตรัย อันเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนายังคงอยู่บริบูรณ์ เป็นเครื่องสร้างศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้เลื่อมใสอุปถัมภ์บำรุงพุทธ ศาสนาสืบไป

 
สำหรับประวัติการสร้าง พระพุทธรูปบูชา ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุ ระหว่างการเดินทางไปอินเดียของ หลวงจีนฟาเหียน เมื่อราว พ.ศ.950 ปรากฏใน ตำนานพระแก่นจันทน์ คือเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปทรงเทศนาโปรดพระพุทธมาร ดาบนดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าประเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล มีความรำลึกถึงพระพุทธองค์ ด้วยมิได้ทรงเห็นเป็นช้านาน จึงตรัสให้นายช่างทำ พระพุทธรูปขึ้นด้วยไม้แก่นจันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธองค์เคยประทับ

ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ถึงที่ประทับ ด้วยพระบรมพุทธานุภาพ ก็บันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์ เลื่อนหลีกจากพระพุทธอาสน์ จึงตรัสสั่งให้รักษา พระพุทธรูปนั้นไว้ เพื่อสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่าง สร้างพระพุทธรูปสืบไป

ตำนานพระแก่นจันทน์ ที่สร้างขึ้นตามพระบรมพุทธานุญาตแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ขัดต่อหลักฐานทางศิลปกรรมในพระพุทธศาสนา ที่เก่าแก่ที่สุดใน สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช หามีการสร้างพระพุทธรูปไม่ มีแต่ทรงทำรูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น รอยพระพุทธบาท ธรรมจักร เป็นต้น

จากหลักฐานทางศิลปโบราณวัตถุสถานและพงศาวดารเหล่าปราชญ์จึงสันนิษฐานว่า ตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์ อาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีคตินิยมในการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ หรือพระพุทธรูปนั้น และสามารถสรุปได้ว่า พระพุทธรูปเริ่มปรากฏเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายหลัง สมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเดอร์ ในคันธารราฐ เป็นศิลปะคันธารราฐ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

จนถึงสมัย พระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ทรงปกครองอยู่โดยทรงตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเปษวาร์ มีเมืองมถุราเป็นศูนย์กลาง ทางทิศใต้ลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง จึงนิยมสร้างพระพุทธรูปแทนองค์พระศาสดา ในรูปแบบมนุษย์เป็นพุทธเจดีย์กันทั่วไป สรุปการสร้าง พระพุทธรูปปางต่างๆ เป็นการสร้างตามพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า เป็นประติมากรรมพุทธประวัติตั้งแต่พระองค์ประสูติ สร้างเป็น แบบปางพระพุทธรูป จาก พระพุทธรูปปางประสูติ จนถึงนิพพาน ซึ่งเป็นรปแบบของ พระพุทธรูปปางต่างๆ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์