คำสอนพ่อ และ ธรรมดี ที่พ่อทำ 23 หลักทรงงาน


 

คอลัมน์ ใต้เบื้องพระบริบาล 84 พรรษา 5 ธันวา  (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2554)



คำสอนพ่อ และ ธรรมดี ที่พ่อทำ 23 หลักทรงงาน


ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย

โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญ หรือวิกฤตการณ์ใดๆ ที่คนไทยเผชิญ หากรู้จักน้อมนำพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระองค์มาใช้ โอกาสรอดพ้นภัยก็มีสูง

เพราะพระองค์มีพระราชดำรัสที่เข้ากับสถานการณ์ทุกยุคทุกสมัย

เช่นเดียวกับ มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ปี 2554 คนไทยได้ประจักษ์เนื้อความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสเอาไว้ในการประชุมเมื่อปี 2538 แล้วจะพบว่า พระองค์ทรงห่วงพสกนิกรและทรงพยายามบอกกล่าวให้ทุกคนรอดพ้นจากภัยต่างๆ

และหากติดตามฟังพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาตลอดจะพบว่า ทุกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทล้วนเป็น "คำสอนของพ่อ" ที่มีคุณค่ายิ่ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทในโอกาสสำคัญ 3 โอกาส

โอกาสแรก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้กับบัณฑิต ซึ่งมักเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญในโลก

โอกาสที่ 2 กระแสพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม และ ช่วงวันขึ้นปีใหม่ เป็นกระแสพระราชดำรัสที่ถ่ายทอดไปสู่ประชาชน เช่น เมื่อ พ.ศ.
2541-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการเงิน จะมีพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียง ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ใคร

โอกาสที่ 3 กระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่พระราช ทานให้กับกลุ่มบุคคลเฉพาะในวาระ ตรงนี้จะมีความเฉพาะและมีคุณค่ามากๆ

ในมหาอุทกภัย 2554 ที่คนไทยแทบทุกหย่อมหญ้าสูญเสียความหวัง

หากหยิบยกหลักคำสอนจากพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" กลับมาอ่านอีกครั้ง จะพบว่าสอด คล้องกับภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

ศ.นพ.เกษมบอกว่า ในพระราชนิพนธ์ทรงยกตัวอย่างความเพียรของพระมหาชนกออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย สำหรับคนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องใช้ทั้งความอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยทางกาย และอดกลั้นต่อความทุกข์ยากทางอารมณ์ ความอ่อนเพลียและหมดกำลังใจ เพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมนี้ไปให้ได้

"ในความยากลำบากของชีวิตที่เราเจอกันอยู่ โดยเฉพาะในมหาอุทกภัยมีหลายครอบครัวต้องใช้ความอดทนอย่างมากเพื่อให้พ้นช่วงทุกข์ยาก น่าจะน้อมนำหลักคำสอนในพระราชนิพนธ์เป็นตัวอย่างเรื่องความเพียร"

ส่วนการฟื้นฟูประเทศไทยนั้น ทุกภาคส่วนสามารถน้อมนำหลักการทรงงาน 3 คำสั้นๆ มาใช้

นั่นคือ
หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ

ศ.นพ.เกษมขยายความว่า ก่อนจะริเริ่มโครงการใดๆ ต้องยึดหลักคิด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หากกระทบกับคนส่วนน้อยต้องชี้แจงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่ได้ประโยชน์นั้นทำให้คนส่วนน้อยเสียประโยชน์ จะต้องชดเชยให้อย่างไร

ต่อไปคือหลักวิชา ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์ทรงอ่านหนังสือเยอะมาก ก่อนที่ท่านจะพระราชทานคำแนะนำให้กับรัฐบาลหรือประชาชน ทรงศึกษาจนกระจ่างก่อน"

สุดท้าย คือ หลักปฏิบัติ โดยมีหลักทรงงานอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) พิมพ์เผยแพร่ คือ ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด

จริงดังที่ ศ.นพ.เกษมเล่าให้ฟัง หากคนไทยน้อมนำ "คำสอนพ่อ" มาใช้ในชีวิต ย่อมทำให้ชีวิตมีความสุข



ในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตรุ่นต่างๆ เสมอ

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2506 พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความว่า

"การทำงานด้วยน้ำใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิดว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"

หากบัณฑิตน้อมนำ "คำสอนพ่อ" ไปปฏิบัติ ย่อมส่งผลดีต่อหน้าที่การงานและชีวิต

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ

อย่างเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2529 พระองค์เสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา มีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ความว่า

"ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้อย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว"

เช่นเดียวกับวาระพิเศษที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส เป็น "คำสอน" อยู่ เสมอ

หากคนไทยยึด "คำสอนพ่อ" เป็นหลักในการดำเนินชีวิตก็เท่ากับมหามงคลเกิดขึ้นแก่ตัว

.....................

"ธรรมดี ที่พ่อทำ" 23 หลักทรงงาน


หนังสือ "ธรรมดี ที่พ่อทำ" นำเอาการบรรยายของศาสตราจารย์เกียรติคุณ "นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี" เรื่อง "หลัก 23 ข้อ ในการทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว" มาเปิดเผย

น่าสนใจและควรอย่างยิ่งที่จะน้อมนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

หลักทรงงาน 23 ข้อ ประกอบด้วย

ข้อที่ 1 จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ

ข้อที่ 2 ระเบิดจากภายใน หมายถึงสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจและอยากทำ มิใช่สั่งให้ทำ คนไม่เข้าใจจะไม่ทำ แยกให้ออกระหว่างคุณค่ากับมูลค่า ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงควรทำ

ข้อที่ 3 แก้ปัญหาจากจุดเล็ก คือ มองภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ และควรมองในสิ่งที่มักจะมองข้าม ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ให้คิดแก้ปวดหัวก่อน เป็นคำพูดที่ฟังดูตลก แต่ลึกซึ้ง คิดใหญ่ทำเล็ก คิดกว้างทำแคบ ลงมือทำในจุดเล็กๆ ก่อน สำเร็จแล้วจึงค่อยขยาย มิใช่สั่งทำพร้อมกันทั่วประเทศ ดูดี แต่ลงทุนสูง ได้ผลน้อย ในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่ง คนทำมีอยู่ไม่กี่คน

ข้อที่ 4 ทำตามลำดับขั้น

ข้อที่ 5 ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ นั้นสำคัญ เพราะการงานทุกอย่างต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ว่าอยู่แถบไหน อากาศเป็นอย่างไร ติดชายแดน ติดทะเล และสังคมของเราเป็นอย่างไร นับถือศาสนาอะไร คนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร รวมไปถึงพวกเราเองด้วย ถ้าไม่รู้เขารู้เรา จะรบชนะได้อย่างไร

ข้อที่ 6 ทำงานแบบองค์รวม โดยคิดความเชื่อมโยง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทรงมีแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง องค์รวม ครบวงจร เชื่อมโยง "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" เป็นคำพูดที่ฟังแล้วเกินจริงไปหน่อย แต่ก็จริง ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้

ข้อที่ 7 ไม่ติดตำรา เพราะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด บางครั้งเรายึดทฤษฎีจนเกินไป ทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำบางครั้งต้องโอบอ้อมต่อสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม จิตวิทยาด้วย

ข้อที่ 8 ประหยัด เรื่องง่ายได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อที่ 9 ทำให้ง่าย

ข้อที่ 10 การมีส่วนร่วม

ข้อที่ 11 ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม

ข้อที่ 12 บริการจุดเดียว วันนี้เราพูด วันสต๊อปเซอร์วิส แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้เกิน 20 ปีมาแล้ว ศูนย์ศึกษาพัฒนา 6 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการจุดเดียวมากว่า 20 ปี ใครทันสมัยกันแน่

ข้อที่ 13 ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ โดยมองธรรมชาติให้ออก กักน้ำตามลำธารช่วยให้ป่าสมบูรณ์ ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพ เราก็จะลดปัญหายาเสพติดลงไป การช่วยดูแลผู้ติดยา เขาจะไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถกลับมาช่วยเราอีกแรง ทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอยู่แบบสมดุล ซึ่งการจะมองปัญหาออกต้องมีใจว่าง ไม่ลำเอียง ต้องมีจิตอันพิสุทธิ์

ข้อที่ 14 ใช้อธรรมปราบอธรรม เอาผักตบชวาที่เป็นปัญหาของเราในประเทศมากำจัดน้ำเสีย เอาปัญหามาช่วยขจัดปัญหา เอาปัญหายาเสพติดมาช่วยพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนไทยกันดีกว่า แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองควรจะเฟื่องฟูได้แล้ว

ข้อที่ 15 ปลูกป่าในใจคน ต้องปลูกที่จิตสำนึกก่อน ต้องให้เห็นคุณค่าก่อนที่จะลงมือทำ การดูแลปัญหายาเสพติด ถ้าคนทำหน้าที่นี้ยังทำเพราะเป็นหน้าที่ งานสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าทำด้วยความดีใจที่ได้ช่วยลูกเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้เพียงหนึ่งคน ซึ่งคุ้มค่ากว่าได้เงินทองเป็นล้าน แสดงว่าพลังต่อสู้กับยาเสพติดได้เกิดขึ้นในใจของท่านแล้ว จงปลุกสิงโตทองคำในหัวใจให้ตื่นขึ้นมาได้ก่อน

ข้อที่ 16 ขาดทุนคือกำไร อย่ามองกำไรขาดทุนที่เป็นตัวเงินมากจนเกินไป บางครั้งเราได้กำไรจากการขาดทุน

ลงทุนมหาศาล ได้ธรรมชาติกลับคืนมา

ลงทุนมหาศาล ได้ลูกคืนมา

ลงทุนมหาศาล ได้คนดีๆ กลับมา

ลงทุนมหาศาล ได้ความรู้ไว้คอยช่วยเหลือ

ข้อที่ 17 การพึ่งตนเอง

ข้อที่ 18 พออยู่พอกิน

ข้อที่ 19 เศรษฐกิจพอเพียง

ข้อที่ 20 ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน

ข้อที่ 21 ทำงานอย่างมีความสุข

ข้อที่ 22 ความเพียร

ข้อที่ 23 รู้ รัก สามัคคี

คิดเพื่องาน

รู้ = ต้องรู้ปัจจัย รู้ปัญหา รู้ทางออกของปัญหา

รัก = เมื่อรู้แล้ว ต้องเกิดความอยากในทางที่ดีก่อน คือฉันทะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ภูมิใจ อยากทำ

สามัคคี = ลงมือปฏิบัติ ต้องร่วมมือเพื่อเกิดพลัง แยกกันไร้ค่า รวมกันไร้เทียมทาน

คิดเพื่อตัวเราเอง

รู้ = รู้จักทุกคนทั้งหน้าที่การงาน ชีวิต ครอบครัว ทำอย่างไรจึงจะรู้จักให้ดี ได้รู้จุดอ่อน จุดแข็ง โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา

รัก = เน้นความดี ใส่ใจกันและกัน มองกันในแง่ดี

สามัคคี = จึงจะเกิด

เพียงคนไทยน้อมนำไปปฏิบัติ ชีวิตจะประสบความสำเร็จในทุกด้าน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์