มารยาทที่ควรรู้

มารยาทที่ควรรู้


มารยาทที่ดีในการฟัง
 การฟังที่ดีย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดสติปัญญา  ปัญญาย่อมเป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตในราชการและส่วนตัว 

การฟังเป็นสิ่งที่ต้องฝึก  เช่นเดียวกับการอ่าน  การเขียน  และการพูด  บางคนเข้าใจว่าการฟังนั้นไม่เป็นของยากอะไร  แต่ความจริงการฟังจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งก็ต่อเมื่อผู้ฟังรู้จักฟัง  ถ้าผู้ฟังไม่รู้จักฟังก็ไร้ประโยชน์หรืออาจจะนำโทษอันยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ฟังหรือส่วนรวมได้  ดังเช่นเวลานี้  สิ่งที่เรากลัวที่สุด  ก็คือกลัวประชาชนของเราหลงเชื่อสิ่งที่อาจก่อให้เกิดภัยอันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติได้

 ผู้ฟังยังควรจะรักษามารยาทในการฟังให้ดี  ทั้งในส่วนตัวและในที่ประชุม  ผู้ที่มารยาทดีย่อมเป็นที่สรรเสริญเป็นที่รักใคร่  และมีคนคบหาสมาคมด้วย  จะทำการใดย่อมลุล่วงไปด้วยดี  มารยาทในการฟังที่ควรจะยึดถือไว้บ้างก็คือ

1. แสดงความสนใจในขณะที่ผู้พูดพูดกับตน  ไม่แสดงทีท่าว่าสนใจกับสิ่งอื่น
2. ไม่แสดงสีหน้าท่าทางว่าเบื่อหน่าย  หรือไม่พอใจ  แม้ว่าเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ  ก็ฝึกที่จะฝืนฟังเอาไว้
3. ถ้าเป็นการฟังในที่ประชุม  ก็ควรมีความเคารพต่อสถานที่และต่อผู้พูด  เช่น  การนั่งให้เรียบร้อย  รู้จักสำรวม  และไม่พูดคุยกันในที่ประชุม
4. ไม่ลุกจากที่  ถ้าจำเป็นก็ต้องขอโทษ  หรือถ้าเป็นในห้องประชุมก็แสดงการคารวะผู้เป็นประธาน
5. ถ้าเข้าห้องประชุมภายหลังเวลา  ก็ต้องแสดงคารวะที่ประชุมหรือผู้เป็นประธานเช่นกัน
6. ไม่ควรทำตนให้เป็นที่รำคาญแก่คนอื่น  เช่น  การสูบบุหรี่  การสนทนาพูดคุยกัน  ฯลฯ 
7. ยอมรับกันที่เหตุผลข้อเท็จจริงและการตัดสินใจของประธานหรือมติที่ประชุม  เมื่อได้ข้อยุติแล้วต้องร่วมมือปฏิบัติ  ไม่ใช่เมื่อที่ประชุมไม่เอาความคิดเห็นของตนแล้วก็แสดงกิริยาไม่พอใจ  เดินออกจากที่ประชุมไป  รวมทั้งคัดค้านการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด

มารยาทที่ดีในการพูด 
หลักเกณฑ์ในการพูดพอจะประมวลได้  ดังนี้

1. ก่อนที่จะพูดคิดให้รอบคอบเสียก่อนว่า  การพูดนี้จะก่อให้เกิดผลอย่างไร  คำพูดเพียงคำสองคำฆ่าคนมามากแล้ว
2. ไม่ควรพูดให้ร้ายต่อใครด้วยความอิจฉาริษยา  การส่อเสียดและป้ายโทษแก่ผู้อื่น เป็นการไร้มารยาทและแสดงความมีใจไม่สะอาดของผู้พูดเอง
3. ในขณะที่โกรธหรือไม่พอใจผู้ใดควรอดงดพูดไว้ก่อน  เพราะในขณะที่โกรธอาจเห็นผิดเป็นชอบ  ถ้าไม่ยั้งไว้จะเสียความ
4. ไม่ควรกล่าววาจาเสียดแทงใจคน  แม้จะเป็นการหยอกล้อก็ตามจะทำให้ผู้ฟังมีใจไม่สบาย  เป็นการให้ทุกข์แก่ผู้อื่น
5. แม้ว่าความเห็นจะไม่ตรงกัน  ก็ไม่ควรพูดก้าวร้าวหรือขัดคอ  ควรจะหาวิธีพูดให้สุภาพ  เช่น ขอเสนอความคิดเห็นของตนซึ่งเป็นการแสดงให้ทราบอยู่ในตัวว่าความเห็นไม่ตรงกัน
6. ใช้ถ้อยคำสุภาพ  เรียบร้อย  และให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เช่น  พูดกับผู้ใหญ่  หรือผู้บังคับบัญชาควรใช้ถ้อยคำให้เกียรติ
7. ไม่พูดอวดตน  อวดภูมิ  หรือข่มผู้หนึ่งผู้ใด
8. ไม่ผูกขาดการพูดแต่เพียงคนเดียว  ไม่ว่าการสนทนาหรือการพูดในกลุ่ม  เปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดบ้าง  ในการอภิปรายผู้อภิปรายควรรักษาเวลาโดยเคร่งครัด  มิฉะนั้นจะเป็นการกินเวลาของผู้อื่น  เรื่องที่พูดควรจะรวบรัดให้พอดี  การที่กำหนดเวลาไว้นั้นก็ได้พิจารณาแล้วว่าควรจะใช้เวลาทั้งหมดเท่าไร  ถ้านานเกินไปผู้ฟังก็หมดสมาธิ
9. ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น  ไม่หลงตนจนเกินไป  พูดด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ในการพูด
10. พูดในสิ่งที่ผู้ฟังสนใจ  แม้แต่ในการสนทนาส่วนบุคคล
11. ถ้าอยากจะพูดในขณะที่คนอื่นยังพูดไม่จบ  รอให้เขาพูดจบเสียก่อน  หรือถ้าเห็นว่าจะรอไม่ได้ก็กล่าวคำขอโทษ
12. ถ้านำคำพูดของผู้อื่นมากล่าว  ก็ต้องเอ่ยนามท่านผู้นั้นเสมอเพื่อเป็นการแสดงคารวะหรือให้เกียรติ
13. มีท่าทางสุภาพเรียบร้อย  หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสแต่งกายสุภาพ

มารยาทการพูดทางโทรศัพท์

มารยาทของผู้รับโทรศัพท์  (ควรมีกระดาษ, ปากกาหรือดินสอทุกครั้ง)
1. จงพูดอย่างชัดเจนด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและใช้วาจาสุภาพไม่ช้าหรือเร็วนัก  แล้วกล่าวคำ
 “สวัสดีครับ,ค่ะ”
2. ที่นี่หมายเลข  811040 ครับ,ค่ะ  หรือที่นี่หน้าห้องผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  ครับ, ค่ะ
3. กระผม, ดิฉัน  ยศ  ชื่อ  และนามสกุล...  รับสาย  ครับ, ค่ะ
4. จะเรียนสายกับใคร  ครับ, ค่ะ
5. กรุณารอสักครู่  ครับ, ค่ะ
6. ไม่อยู่ ครับ, ค่ะ จะกรุณาสั่งอะไรไว้ไหมครับ, ค่ะ
7. สวัสดี ครับ, ค่ะ รอฟังสักครู่แล้วจึงค่อยวางหูลงบนแท่นอย่างเบา ๆ

มารยาทของผู้พูดโทรศัพท์
  (ควรมีกระดาษ, ปากกาหรือดินสอทุกครั้ง)
1.  จงพูดอย่างชัดเจนด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและใช้วาจาสุภาพไม่ช้าหรือเร็วนัก  แล้วกล่าวคำ
 “สวัสดีครับ,ค่ะ”
2. ที่นั่นหมายเลข  811540 ใช่ไหมครับ,ค่ะ  หรือที่นั่นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ใช่ไหม  ครับ, ค่ะ
3. ขออภัยต่อผิด  ครับ, ค่ะ
4. ขอเรียนสายกับ…  (ผู้ที่ต้องการพูดด้วย)
5. ขอบพระคุณ  ครับ, ค่ะ
6. การวางหูโทรศัพท์ให้วางลงบนแท่นอย่างเบา ๆ

มารยาทในการลงเรือโดยสาร
1. ควรรออยู่บนท่าเรือ
2. ไม่ควรแย่งกันอย่างชุลมุนในการลงเรือ  และควรรอให้เรือเทียบท่าสนิทเสียก่อน
3. ถ้าคนลงเต็มแน่นเต็มที่แล้ว  ควรรอเรือลำหลังเพื่อความปลอดภัย
4. พึงให้ความอนุเคราะห์แก่พระภิกษุ  สามเณร  เด็ก  คนชรา  คนทุพพลภาพและสตรี
5. ขึ้นหรือลงเรือด้วยความระมัดระวัง
6. ไม่ควรสูบบุหรี่  คุยเสียงดัง  หรือนั่งอย่างสบาย  เพราะจะก่อความรำคาญ  และขาดวัฒนธรรมที่ดี


มารยาทในการดูกีฬา

1. ผู้ดูปรบมือแสดงความยินดีต้อนรับผู้แข่งขันทุกฝ่ายขณะเข้าสนามและปรบมือให้เกียรติแก่ผู้เล่นดีทุกฝ่าย
2. ผู้ดูไม่บังควรเย้ยหยันผู้แข่งและเจ้าหน้าที่ด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางใด ๆ เมื่อไม่พอใจ
3. ผู้ดูไม่บังควรรบกวนผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่  และไม่ควรก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน  หรือกับผู้ดู
4. ผู้ดูพึงยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสินอย่างเด็ดขาด  และเคารพกฎข้อบังคับและกติกาทั้งปวง  รู้จักแพ้รู้จักชนะ
5. ผู้ดูไม่บังควรเปล่งวาจาสนับสนุนผู้เล่นไปในทางที่ผิด

มารยาทในการสังคม

1. กุลสตรีย่อมสำนึกในความเป็นสตรี  และมีความสำรวมกาย  วาจาและใจอยู่เป็นนิตย์ ไม่ส่งเสียงอื้ออึง  ไม่ทำตนสนิทสนมหรือหยอกเย้ากับบุรุษทั้งในที่ลับและที่เปิดเผย  ไม่พูดจาหยาบคาย  และไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน
2. ผู้มีมารยาทย่อมมีกิริยาอันสำรวมอยู่เสมอ  เฉพาะอย่างยิ่งไม่นั่งไขว่ห้างต่อหน้าผู้ใหญ่  ไม่เท้าสะเอวพูดกับผู้ใหญ่  ไม่เอามือล้วงกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงขณะพูดกับผู้ใหญ่
3. ผู้มีมารยาทไม่ล่วงเกินผู้ใดแม้ในสิ่งเล็กน้อย  เช่น  ไม่บุกบั่นเข้าไปใช้สิ่งใดแม้เป็นของสาธารณะในขณะที่ผู้อื่นกำลังใช้อยู่  ในการใช้ของสาธารณะทุกอย่างผู้มีมารยาทย่อมช่วยรักษาให้สะอาดและเรียบร้อย
4. ผู้มีมารยาทย่อมช่วยรักษาของทุกอย่างอันเป็นสาธารณะให้สะอาดและเรียบร้อย  ไม่ทำสกปรก  รก  เปื้อน  หรือเสียหาย  ไม่ขีดเขียนตามกำแพงผนัง  หรือที่ใด ๆ เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการทำลายของสาธารณะ
5. เมื่อไปบ้านผู้อื่น  ผู้มีมารยาทย่อมให้สัญญาณหรือเคาะประตูให้คนในบ้านทราบ  ไม่ละลาบละล้วงเข้าไปในห้องก่อนได้รับเชิญ  เมื่อจะเข้าห้องในบ้านเรือนหรือแม้ที่ทำงานของผู้ใดก็เคาะประตูให้เจ้าของทราบก่อน
6. เมื่อผู้ใหญ่พูดด้วยต้องหันมาฟังและรับคำก่อน  ไม่หันหลังเดินออกไปเฉยๆ เมื่อพูดกับผู้ใหญ่ควรแสดงคารวะโดยอาการสำรวม
7. ผู้มีมารยาทย่อมแสดงความขอบคุณต่อผู้แสดงความเมตตากรุณาตน  ถ้าเป็นผู้เสมอกันก็กล่าวขอบใจหรือขอบคุณ  ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่กว่าควรยกมือไหว้และกล่าวคำ “ขอบคุณ”
8. เมื่อเข้าพบผู้ใหญ่ในที่ ๆ ใช้เก้าอี้  ผู้มีมารยาทย่อมรอให้ผู้ใหญ่บอกให้นั่งก่อนแล้วจึงนั่งลง  ถ้าในโอกาสที่ควรยืนก็ยืนตัวตรงหรือยืนประสานมือ  ถ้าเข้าพบผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่กับพื้น  ผู้มีมารยาทย่อมนั่งลงกับพื้นทันที
9. เมื่อผู้มีมารยาทออกจากห้องซึ่งยังมีบุคคลอื่นอยู่ข้างใน  ย่อมปิดประตูด้วยความระมัดระวัง  มิให้เป็นการกระแทก  การปิดประตูรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน
10. ผู้มีมารยาทย่อมพยายามปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด  แม้แต่หน้าที่ ๆ ต้องกระทำร่วมกับคนหมู่มาก  เช่น  การยืนเข้าแถวเป็นเกียรติยศแก่ผู้ใดก็ตาม  ผู้มีมารยาทย่อมยืนรออยู่อย่างสงบ  และเป็นระเบียบเรียบร้อย  ไม่ส่งเสียงอื้อฉาว  หรือหยอกล้อกับผู้ใดเป็นอันขาด
11. ท่าเดินที่สุภาพคือเดินโดยสำรวม  ตัวตรงไม่ส่ายไหล่  ส่ายศีรษะ  ไม่แกว่งแขน  ไม่เดินเหม่อ  และไม่เดินจนกระทบผู้อื่น  เมื่อเดินไปไหนด้วยกันหลายคน  ไม่ควรเดินจนเต็มถนนแต่ควรเปิดช่องทางไว้ให้ผู้อื่นเดินไปมาได้โดยสะดวก
12. ในการเป็นผู้แจกของชำร่วย  เช่น  ในงานศพหรืองานแต่งงานเจ้าของงานย่อมจัดสิ่งของใส่พานไว้  ซึ่งผู้มีหน้าที่แจกจะต้องแจกโดยส่งให้แขกทั้งพาน  ไม่ใช่หยิบจากพานมาส่งให้ด้วยมือ
13. การนำดอกไม้ธูปเทียนไปเคารพผู้ใหญ่  ภายหลังการสมรสหรือการลาบวช  ต้องจัดธูปเทียนกับกระทงดอกไม้ใส่พานไปตั้งตรงหน้าผู้ใหญ่แล้วเปิดกรวยที่ครอบกระทงดอกไม้  ถ้าเป็นคู่สมรสก็เพียงแต่หมอบกราบลงพร้อมกัน  ถ้าเป็นผู้ลาบวชจึงประคองพานดอกไม้ธูปเทียนส่งถึงมือผู้รับลา

มารยาทในการโดยสารรถประจำทาง
1. ควรขึ้นลงตามป้าย  อย่ากระโดดขึ้นหรือลงรถขณะรถกำลังแล่น
2. ไม่ควรยืนออที่ปากทางหรือบันไดขึ้นลง  ถ้ามีที่ว่างควรเข้าไปนั่งหรือยืนข้างใน
3. เอื้อเฟื้อที่นั่งแก่ภิกษุ  สามเณร  เด็ก  คนชรา  คนทุพพลภาพและสตรี
4. ไม่ควรสูบบุหรี่  คุยเสียงดัง  หรือนั่งอย่างสบาย
5. ไม่ควรใช้อภิสิทธิ์ใด ๆ ในการขึ้นรถโดยสารไม่ชำระเงิน
6. เตรียมเงินค่าโดยสารให้พร้อม
7. พึงใช้กิริยาสุภาพต่อผู้โดยสารด้วยกัน  และกับพนักงานรถประจำทาง
8. รู้จักกล่าวคำขอโทษ  ขอบคุณ

มารยาทในการเข้าชมมหรสพ

1. เข้าแถวซื้อบัตรเข้าชมตามลำดับก่อนหลัง  ไม่แทรกหรือตัดแถวที่ผู้อื่นยืนคอยอยู่ก่อนแล้ว
2. ไม่ควรพาเด็กเล็กเกินไปเข้าชมมหรสพ
3. ไม่ควรนำอาหารเข้าไปรับประทานในระหว่างชมมหรสพ  แล้วทิ้งเศษอาหารไว้เกลื่อนกลาดใต้ที่นั่ง
4. ไม่ควรสูบบุหรี่  คุยเสียงดัง  หรือนั่งตามสบายโดยไม่เกรงใจผู้อื่น
5. ไม่ควรส่งเสียงเฮฮาหรือออกสำเนียงล้อเลียนใด ๆ ตามบทบาทที่ได้เห็นจากเรื่อง  เพราะเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ
6. เมื่อมหรสพเลิก  ควรยืนตรงถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์จนจบเพลงสรรเสริญพระบารมี

มารยาทที่พึงแสดงออกในสังคม

1. ไม่ก่อเสียงอื้อฉาวโดยใช่เหตุ
2. ไม่ใช้กำลังเบียดเสียดยื้อแย่งในที่ชุมนุมชน
3. ไม่ก่อความรำคาญด้วยการห้อมล้อม
4. ไม่นั่งนอนบนทางเท้าหรือยืนบนราวสะพาน
5. ไม่ก่อให้เกิดปฏิกูลหรือขีดเขียนในสถานที่ใด ๆ
6. แต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

มารยาทในการบริโภคอาหารร่วมกัน
1. ใช้ช้อนหรือส้อมกลางสำหรับตักอาหารและไม่ตักมากเกินไปนักตักแต่พออิ่ม
2. ไม่รับประทานมูมมาม  และไม่เคี้ยวเสียงดัง
3. อย่าจิ้มฟันในเวลารับประทานอาหาร  อย่าแคะหู  อย่าคาบไม้จิ้มฟันเล่น  แต่ถ้าจำเป็นต้องจิ้มฟันให้ใช้มือป้องปาก
4. ไม่ควรใช้โต๊ะอาหารเป็นสถานที่นินทาส่อเสียดผู้หนึ่งผู้ใด  และเมื่ออิ่มไม่ควรลุกออกจากโต๊ะไปตามลำพัง  ควรรอลุกพร้อมกับผู้ร่วมโต๊ะหรือผู้อื่น
5. รู้จักกล่าวคำขอบคุณและขอโทษในโอกาสต่าง ๆ

มารยาทในการเยี่ยมเยียน

สิ่งสำคัญในการสมาคมอย่างหนึ่ง  คือการเยี่ยมเยียนหรือการไปมาหาสู่ระหว่างญาติมิตร  การเยี่ยมเยียนก็เพื่อถามข่าวคราวทุกข์สุขหลังจากที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลานาน
การเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกันตลอดจนญาติมิตร  อาจแบ่งได้เป็น

1. การเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงคารวะ  การเยี่ยมเยียนประเภทนี้มักกระทำโดยผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ทุกวงการ  ตัวอย่างเช่น  นักเรียนที่จำเป็นจะต้องไปศึกษาต่อชั้นสูง ๆ ในต่างจังหวัด  เมื่อมีโอกาสกลับบ้านเกิดเมืองนอนก็ควรจะมาเที่ยวโรงเรียนเยี่ยมเยียนครูและอาจารย์ใหญ่  หรือเพื่อมิให้เป็นการรบกวนเพราะมิทราบแน่ว่าท่านจะว่างงานหรือไม่  ก็ควรไปเยี่ยมที่บ้านในวันหยุด  นอกจากนั้นการเยี่ยมคำนับท่านผู้ใหญ่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไปศึกษาต่อหรือทำงานต่างประเทศ  หลังจากท่านกลับมาก็เป็นการเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงการคารวะอย่างหนึ่ง
 2.  การเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงความเห็นใจ  ในการเยี่ยมเยียนประเภทนี้สำคัญมากสำหรับเพื่อนฝูง
หรือญาติที่สนิทสนมกัน  เป็นการเยี่ยมเยียนญาติมิตรเมื่อยามเจ็บไข้ได้ทุกข์  ผู้ได้รับการเยี่ยมจะรู้สึกตื้นตันใจ  ถ้าเป็นคนป่วยอาจจะสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นก็เป็นได้
การที่เพื่อนฝูงญาติมิตรที่สนิทสนมได้รับเคราะห์กรรมหรือเศร้าโศกเสียใจ  เนื่องด้วยท่านผู้ใหญ่ถึงแก่กรรม  ถูกโจรปล้น  น้ำท่วม  หรือไฟไหม้ควรรีบหาโอกาสไปเยี่ยมทันที
3.  การเยี่ยมเยียนเพื่อกระชับสัมพันธภาพให้แน่นแฟ้น  การเยี่ยมเยียนประเภทนี้โดยมากแล้วเป็นการเยี่ยมเยียนญาติมิตรหรือเพื่อนที่ไม่ค่อยสนิทสนมกัน  ให้สนิทสนมกัน  และรู้จักมักคุ้นกันยิ่งขึ้น ช่วยให้แต่ละฝ่ายรู้จักนิสัยใจคอและเข้ากันได้
การเยี่ยมเยียน  แม้จะเป็นการแสดงถึงความเห็นน้ำจิตน้ำใจระลึกถึงกันและกันก็จริง  แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะย่อมได้ผลตรงกันข้ามคืออาจทำให้ผู้ได้รับการเยี่ยมเยียนเกิดความรำคาญและเบื่อหน่ายได้  จึงควรจำหลักที่ควรระวังในการเยี่ยมเยียนดังนี้คือ

1.  เมื่อไปเยี่ยมเยียนไม่ควรอยู่นานเกินไป  ถ้าหมดเรื่องคุยหรือธุระควรรีบกลับเสีย  นอกจากผู้ได้รับการเยี่ยมเยียนจะขอร้องให้ท่านอยู่ต่ออีกหรือเชิญรับประทานอาหารร่วมกัน  แต่พึงสังเกตว่าที่เขาเชื้อเชิญนั้นกระทำเพื่อมารยาทหรือความจริงใจ
2.  อย่าไปเยี่ยมบ่อยหรือพร่ำเพรื่อจนเกินไป  เพราะอาจทำให้เกิดความรำคาญและเบื่อหน่ายแก่ผู้ได้รับการเยี่ยม  และอาจเป็นเหตุให้เขาเสียเวลาในการจะประกอบธุรกิจส่วนตัวของเขา  เพราะต้องมารับรองและพูดคุยกับเราตามมารยาท
3.  คอยสังเกตดูว่าผู้ที่เราไปเยี่ยมนั้นพอใจในการมาของเราหรือไม่  และขณะที่พูดคุยกันก็ควรคอยสังเกตดูว่าเขายังมีงานอื่นต้องทำอีกหรือเปล่าหรือมีธุระอื่นที่จำเป็นจะต้องปลีกตัวจากเรา
 4.  ไม่ควรเยี่ยมในเวลาเช้า  เที่ยง  และเวลาเย็น  เพราะเจ้าของบ้านจะต้องกังวลเรื่องรับประทานอาหาร  อนึ่งเวลาก่อนหรือหลังอาหารก็มิควรไปเยี่ยม  เพราะได้รับการเยี่ยมจะต้องเตรียมประกอบอาหารหรือเก็บล้างภาชนะถ้าบ้านที่จะไปเยี่ยมไม่มีคนรับใช้  การไปเยี่ยมนั้นควรไปเวลาสายๆ  บ่าย  หรือค่ำ
 5.  การไปเยี่ยมใครคนหนึ่งไม่ควรนำเพื่อนของเราที่ผู้ได้รับการเยี่ยมไม่รู้จักมักคุ้นติดตามไปด้วย  เพราะอาจจะพูดคุยกันไม่สะดวก  และก็เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำเด็กไปด้วย  เพราะอาจจะก่อให้เกิดความรำคาญแก่เจ้าของบ้าน
 6.  ถ้าไปเยี่ยมแล้วพบเจ้าของบ้านคุยกับแขกอื่นอยู่  ก็มิควรที่จะเข้าไปร่วมวงเพราะจะทำให้การเจรจาของเขาหยุดชะงัก  ถ้าเจ้าของบ้านไม่เห็นควรรอหรือเดินชมดอกไม้หน้าสนามบ้านไปพลางก่อนจนกว่าแขกจะกลับ
 7.  ถ้าไปเยี่ยมขณะที่เจ้าของบ้านกำลังมีปัญหาหรืออารมณ์ไม่ดี  ถ้าเจ้าของบ้านยังไม่รู้ตัวว่าเรามาเยี่ยม  ควรงดการเยี่ยมเยียนเสีย  โอกาสหน้าค่อยมาเยี่ยมใหม่
 8.  ควรไปเยี่ยมตอบแทนผู้ที่มาเยี่ยมเยียนท่านเป็นการตอบสนองข้อระวัง  สุภาพสตรีสาว ไม่ควรไปเยี่ยมชายหนุ่มก่อน  ถ้าต้องการจะไปเยี่ยมตอบหลังจากที่เขามาเยี่ยมเราแล้วควรชวนญาติหรือเพื่อนสนิทไปเป็นเพื่อนด้วย  ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปเยี่ยมโดยลำพัง



ขอบคุณ : phiriya.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์