ซองแดง (ไม่) แสลงใจ – เรื่องเล่าและที่มาของ “อั่งเปา”

ซองแดง (ไม่) แสลงใจ – เรื่องเล่าและที่มาของ “อั่งเปา”

ใกล้ตรุษจีนแล้ว เหล่าบรรดาลูกหลานชาวจีนต่างรอคอยเจ้าซองสีแดงจากผู้ใหญ่กันถ้วนหน้าหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “อั่งเปา” นั่นเอง

พูดกันได้พูดกันดีว่าอั่งเปา แต่ก็คงจะมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ที่มาของคำๆ นี้

คำว่าอั่งเปานั้น มาจากคำว่า 红包 (หงเปา) ในภาษาจีน แปลว่าซองแดง ตามเรื่องเล่าสมัยโบราณมีตำช้าตำนานเล่ากันมาว่า มีปีศาจนามว่า “ซุ่ย”  (祟 ) ตัวของมันจะเป็นสีดำยกเว้นมือสองข้างซึ่งเป็นสีขาว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมันจะมาเยือนตามบ้านที่มีลูกเล็กเด็กแดงและจะเข้ามาแตะหน้าผากเด็กที่กำลังหลับ ซึ่งต่อมาเด็กเหล่านั้นก็จะเป็นไข้ เพ้อละเมอ หรืออาจจะทำให้เด็กปัญญาอ่อนไปเลย ด้วยเหตุนี้เหล่าพ่อแม่จึงต้องตื่นเป็นยามเฝ้าลูกเพื่อไม่ให้ปีศาจซุ่ยออกมารังควาญ และนี่คือที่มาของการที่คนจีนจะไม่ยอมนอนเพื่อรอเฉลิมฉลองวันตรุษจีนหรือที่เรียกว่า  守岁(โส่วซุ่ย) หรือการรอคอยปีศาจซุ่ยนั่นเอง (คำว่า 岁 อ่านพ้องเสียงกับคำว่า祟)

แต่แล้วก็มีพ่อแม่หัวใสคิดวิธีการให้ลูกตื่นตลอดเวลาในวันตรุษจีน ด้วยการนำเหรียญทองแดงห่อด้วยกระดาษสีแดง ให้ลูกเล่น (สีแดงของคนจีนหมายถึงโชคลาภ พละกำลังและแสงสว่าง) แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเพราะลูกก็หลับไปตามระเบียบ พ่อแม่เองก็จนใจปลุกให้ตื่น แม้ตัวเองก็ทนความง่วงไม่ไหวตัดสินใจเข้านอนเช่นเดียวกัน แต่ก่อนนอนทั้งคู่ได้นำเหรียญห่อกระดาษแดงวางไว้ข้างหมอนลูกชาย และปีศาจซุ่ยก็โผล่มาตามเวลา มันก็เข้าไปแตะหน้าผากเด็กตามปกติ แต่ทันทีที่มันแตะหน้าผากนั้น แสงสีทองก็สว่างวาบออกมาจากเหรียญหุ้มกระดาษแดง ทำให้ปีศาจซุ่ยกลัวและหนีไปในที่สุด

เรื่องราวนี้แพร่กระจายไปทั่วหมู่บ้าน บ้านไหนที่มีลูกต่างนำเหรียญมาห่อกระดาษแดงกันเพื่อขับไล่ปีศาจซุ่ย ซึ่งไอ้เจ้าเหรียญหุ้มกระดาษแดงนี่แหละ ที่เป็นที่มาของเงินใส่ซองแดงในปัจจุบันนั่นเอง

กาลเวลาผ่านไป อั่งเปาไม่ได้เอาไว้ใช้ไล่ผีอีกต่อไป มันกลับเป็นสัญลักษณ์ของความรักความปรารถนาดีที่ผู้ใหญ่มอบให้เด็กๆ ซึ่งความลุ้นของการได้รับอั่งเปาคือผู้รับจะไม่รู้ว่าในซองมีเงินอยู่กี่บาท และจะเป็นการเสียมารยาทมากหากเปิดซองต่อหน้าผู้ให้  เพราะนั่นหมายถึงการเห็นแก่เงินมากกว่าการรับความรักความปรารถนาดีของผู้ให้นั่นเอง


นอกจากเทศกาลตรุษจีนแล้ว คนจีนยังนิยมให้ซองแดงในวันเกิด งานแต่งงาน และงานฉลองอื่นๆ ทั้งยังเป็นเงินโบนัสที่เจ้านายให้กับลูกจ้างอีกด้วย สำหรับจำนวนเงินที่ใส่ในอั่งเปาจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความสนิทสนมหรือฐานะทางการเงินของผู้ให้ แต่ถึงอย่างไรวัฒนธรรมการให้อั่งเปานั้น ไม่ได้วัดกันที่จำนวนเงินในซอง หากมันคือการแสดงถึงความรักความผูกพันที่มีต่อกันในหมู่ครอบครัว เครือญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหายนั่นเอง

สุขสันต์วันตรุษจีนครับ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์