รำลึก 78 ปี แรกมีเพลงชาติไทย


จุดประกายชวนย้อนรำลึกถึง "เพลงชาติ" เมื่อครั้งแรกมี แห่งสยามประเทศ


รำลึก 78 ปี แรกมีเพลงชาติไทย



“ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรง เคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย” เสียงผ่านสื่อที่คนไทยได้ยินกันสองครั้งในแต่ละวัน คือเวลาแปดนาฬิกาและสิบแปดนาฬิกา ก่อนที่เสียงเพลงชาติไทยจะบรรเลง

ที่มาของ "เพลงชาติ" ย้อนกลับไปได้ถึงปีพ.ศ. 2475 ปีที่แผ่นดินสยามมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นปีที่มีการประกาศฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือแนวคิดเรื่องการกำเนิดเกิดขึ้นของ "เพลงชาติไทย" แทนการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กว่าจะมาเป็นเพลงชาติไทยที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ "เนื้อร้อง" ของเพลงชาติมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง

ทำนองเพลงชาติไทยที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันนั้น ประพันธ์โดย พระเจนดุริยางค์ ส่วนเนื้อร้องประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา แต่เนื่องจากมีคำว่า “ยึดอำนาจ” อยู่ในเนื้อร้อง จึงเป็นเหตุให้กระทรวงธรรมการออกคำสั่งเป็นหนังสือเวียนห้ามมิให้นักเรียนร้องเพลงชาติเนื้อร้องดังกล่าว

"หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีเพลงชาติเกิดขึ้นมา เพลงชาติฉบับแรกที่ร้องกันนั้นประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ส่วนคำร้องประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงชาติฉบับต้องห้าม เพราะมีคำว่า 'ยึดอำนาจ' อยู่ในเนื้อร้อง จนกระทั่งกระทรวงธรรมการได้มีประกาศห้ามร้องเพลงชาติบทนี้ ปัจจุบันมีคนที่ไม่ทราบเรื่องได้นำบทร้องนั้นไปเผยแพร่ว่าเป็นบทร้องเพลงชาติเป็นทางการบทแรก ซึ่งไม่ใช่นะครับ จริงๆ แล้วเป็นบทร้องต้องห้ามและไม่ได้เป็นทางการ" พฤฒิพล ประชุมผล นายกสมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ให้ข้อมูล

เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมของบทร้องแรก นำไปสู่การหารือเรื่องดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรในปีพ.ศ.2476 เป็นที่มาของการประกาศประกวดบทร้องเพลงชาติบทใหม่ โดยในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้มีคำสั่งให้มีการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติอย่างเป็นทางการเพื่อทดแทนเนื้อร้องที่เป็นปัญหา ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องที่ชนะการประกวดเป็นของขุนวิจิตรมาตราที่มีการปรับปรุงคำบางคำใหม่ ร่วมกับเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2477 เล่มที่ 51 หน้า 1553 - 1554 มีใจความดังนี้

ประกาศเพลงชาติ

บัดนี้ คณะกรรมาธิการเพลงชาติได้รับรองทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ และเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรา กับ นายฉันท์ ขำวิไล ตามแบบที่แนบมานี้แล้ว จึ่งขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับรองเพลงที่ว่านี้ เป็นเพลงชาติ อันจะพึงบรรเลงและร้องได้ในบรรดาโอกาสอันสมควร

ประกาศมา ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2477
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมตรี

บทเพลงชาติ
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

บทร้องเพลงชาติฉบับใหม่โดยขุนวิจิตรมาตรา และนายฉันท์ ขำวิไล รวมเป็นเนื้อร้องเพลงชาติทั้งหมด 4 ท่อน แต่เวลาร้องมักจะร้องเฉพาะท่อนของขุนวิจิตรมาตรา เนื้อร้องท่อนของนายฉันท์จึงเป็นท่อนที่หลายคนไม่เคยได้ยิน

วันที่ 26 สิงหาคม 2477 อันเป็นวันที่มีการประกาศ "เพลงชาติ" อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา จึงนับเป็นจุดกำเนิดของเพลงชาติไทย ที่มีอายุครบ 78 ปีไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555

หลังจากที่มีการประกาศเนื้อร้องเพลงชาติอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
 
รัฐบาลตระหนักดีว่า ประชาชนชาวไทยในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่าทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติเป็นเช่นไร จึงมีคำสั่งไปยังสำนักงานโฆษณาการให้จัดทำ 'แผ่นเสียงเพลงชาติ' ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้มีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงตราโอเดียน บรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารเรือ ประเภทเครื่องสายฝรั่งวงใหญ่

หน้าแรกของแผ่นเสียงเป็นการบันทึกเสียงบรรเลงเพลงชาติดนตรีล้วนก่อนหนึ่งครั้ง เพื่อให้คนไทยได้คุ้นหูกับท่วงทำนองเพลงชาติที่เพิ่งเริ่มใช้เป็นครั้งแรก จากนั้นต่อด้วยการบันทึกเสียงการบรรเลงพร้อมขับร้องเนื้อร้องฉบับขุนวิจิตรมาตรา ส่วนหน้าที่สองเป็นการบันทึกเสียงการบรรเลงเพลงชาติด้วยดนตรีล้วนเช่นเดิม และต่อด้วยการบรรเลงดนตรีและขับร้องเนื้อร้องเพลงชาติฉบับนายฉันท์ ขำวิไล

เพลงชาติฉบับเนื้อร้องปีพ.ศ.2477 ถูกใช้

เป็นเพลงชาติจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มิถุนายน ปีพ.ศ 2482 ก็ได้มีประกาศสำคัญจากสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ซึ่งมีใจความดังนี้

...โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทยดังต่อไปนี้ ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้คำว่า “ไทย”...

ผลจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจึงเป็นเหตุให้เพลงชาติฉบับปีพ.ศ.2477 ที่ในเนื้อร้องใช้คำว่า “สยาม” ต้องยุติบทบาทลง โดยรัฐบาลประกาศให้มีการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่ และผลการประกวดในครั้งนั้นได้ประกาศออกมาเป็นรัฐนิยมฉบับที่ 6 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เล่ม 56 หน้า 2653 - 2654 ว่า...

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 6 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2477 นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่เพราะชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบก โดยได้แก้ไขเล็กน้อย

จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้
1. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร
2. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบกดั่งต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

ประกาศมา ณ วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2482
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


"เนื้อเพลงชาติฉบับของขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ขำวิไล ใช้เรื่อยมาจนถึงพ.ศ.2482 จนกระทั่งมีนโยบายของจอมพลป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจาก 'สยาม' เป็น ประเทศ 'ไทย' ซึ่งในเนื้อร้องเพลงชาติฉบับดังกล่าวท่อนแรกมีคำว่าสยามเป็นชื่อประเทศ ถัดมามีคำว่าไทยเป็นเชื้อชาติ พอเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทยทำให้จอมพลป.เห็นว่าเนื้อเพลงชาติมีความสับสน ก็เลยต้องเปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติไทยอีกครั้ง เปลี่ยนทั้งชื่อประเทศและเชื้อชาติให้ใช้คำว่า 'ไทย' ทั้งหมด เป็นที่มาของเนื้อเพลงชาติฉบับปัจจุบันที่ประพันธ์เนื้อร้องโดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในปีพ.ศ.2482 ซึ่งเพิ่งครบ 6 รอบไปเมื่อปีที่แล้ว และจะครบ 80 ปีเร็วๆ นี้" ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย สรุป

ดังนั้น เมื่อมองย้อนอดีตกลับไป จากสิงหาคมพ.ศ.2477 กระทั่งถึงสิงหาคม พ.ศ. 2555 คนไทยได้รู้จักเพลงชาติและร้องเพลงชาติด้วยท่วงทำนองเดียวกันแต่เนื้อร้องต่างกันมาถึง 78 ปี

เพราะ “ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจ ยืนตรง เคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละ ของบรรพบุรุษไทย” เราจึงควรภูมิใจที่ประเทศไทยเรามีเพลงชาติของตนเอง และรักษา 'เพลงชาติไทย' ให้ดำรงเกียรติสูงสุดในฐานะเพลงสำคัญของแผ่นดินและอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป.


 ฟังเพลงชาติเนื้อร้องแรกอย่างเป็นทางการ



รำลึก 78 ปี แรกมีเพลงชาติไทย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์